คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2250/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ร่วมส่งสินค้ามาฝากขายที่ห้างสรรพสินค้าแล้วจำเลยซึ่งเป็นผู้ขายและเป็นพนักงานของโจทก์ร่วมประจำห้างสรรพสินค้านั้นเบียดบังยักยอกเอาเงินค่าสินค้าไปเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมได้รับความเสียหายไม่ได้รับเงินค่าสินค้าดังกล่าว โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) มีอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยได้
จำเลยครอบครองสินค้าของโจทก์ร่วม ได้ขายสินค้าให้แก่ลูกค้าโดยไม่ผ่านพนักงานเก็บเงินของห้างสรรพสินค้าและไม่ออกใบเสร็จรับเงิน แล้วนำเงินค่าซื้อสินค้าจากลูกค้าไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่ส่งให้โจทก์ร่วม เป็นการเบียดบังทรัพย์ของโจทก์ร่วมไปเป็นของจำเลยหรือบุคคลที่สามโดยทุจริตจึงมีความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกที่หลบหนีเป็นลูกจ้างบริษัทฟายน์สติช จำกัด ผู้เสียหาย มีหน้าที่จำหน่ายสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปของผู้เสียหายแล้วนำเงินที่ได้จากการจำหน่ายส่งให้แก่ผู้เสียหายจำเลยกับพวกที่หลบหนีได้ร่วมกันเบียดบังยักยอกเอาเงินจำนวน161,970 บาท ของผู้เสียหายซึ่งได้จากการจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูปดังกล่าวและอยู่ในความครอบครองของจำเลยกับพวก เป็นของจำเลยกับพวกโดยทุจริต โดยไม่นำเงินส่งให้ผู้เสียหายกลับนำไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352, 83 และให้จำเลยคืนเสื้อผ้าสำเร็จรูปจำนวน 88 ตัวหรือใช้เงินจำนวน 161,970 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา บริษัทฟายน์สติช จำกัด ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352, 83 จำคุก 1 ปี 4 เดือน ให้จำเลยคืนเสื้อผ้าสำเร็จรูปจำนวน88 ตัว หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 161,970 บาท แก่โจทก์ร่วม

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อแรกของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า โจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยหรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมมีนางทัศนีย์ ทิพนี สมุห์บัญชีของโจทก์ร่วมเบิกความว่า โจทก์ร่วมเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการผลิตและจำหน่ายเสื้อผ้าสตรียี่ห้ออินทริค นำไปฝากขายตามห้างสรรพสินค้าทั่วประเทศ การส่งสินค้าไปฝากขายนั้น โจทก์ร่วมจะส่งสำเนาใบส่งสินค้าและใบกำกับสินค้าทางโทรสารให้ห้างสรรพสินค้าที่ฝากขายทราบล่วงหน้า เพื่อให้ห้างสรรพสินค้าออกใบสั่งซื้อส่งกลับมาให้โจทก์ร่วม หลังจากนั้นโจทก์ร่วมจะส่งสินค้าพร้อมใบส่งสินค้าและใบกำกับภาษีไปที่ห้างสรรพสินค้า ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ทางด้านภาษีของห้างสรรพสินค้า เมื่อส่งสินค้าไปถึงห้างสรรพสินค้า พนักงานขายที่ประจำห้างสรรพสินค้าของโจทก์ร่วมกับพนักงานของห้างสรรพสินค้าจะทำการตรวจสอบว่าสินค้าส่งมาตรงตามใบสั่งซื้อหรือไม่ เสร็จแล้วนำไปเก็บที่คลังสินค้ากลางของห้างสรรพสินค้า พนักงานขายของโจทก์ร่วมจะเบิกสินค้าจากคลังสินค้ากลางมาขายให้แก่ลูกค้า การขายสินค้าให้แก่ลูกค้าพนักงานขายของโจทก์ร่วมต้องทำรายงานการขายระบุรหัสจำนวนสินค้าที่ขาย นำเงินค่าสินค้าที่ลูกค้าชำระไปจ่ายให้แก่พนักงานเก็บเงินและรับใบเสร็จรับเงินจากพนักงานเก็บเงินมามอบให้ลูกค้าพร้อมสินค้าที่ใส่ถุงของห้างสรรพสินค้า โดยพนักงานขายของโจทก์ร่วมกับพนักงานเก็บเงินของห้างสรรพสินค้าต้องลงลายมือชื่อในรายงานการขายเพื่อเป็นหลักฐานที่ห้างสรรพสินค้าใช้หักเงินส่วนหนึ่งจากยอดขายสินค้าดังกล่าวเป็นผลประโยชน์ของห้างสรรพสินค้า แล้วโอนเงินส่วนที่เหลือเข้าบัญชีของโจทก์ร่วม แสดงว่าโจทก์ร่วมจะได้รับเงินค่าสินค้าเมื่อขายสินค้าให้แก่ลูกค้าได้แล้ว การที่โจทก์ร่วมส่งสินค้ามาฝากขายที่ห้างสรรพสินค้าแล้วจำเลยซึ่งเป็นผู้ขายและเป็นพนักงานของโจทก์ร่วมเบียดบังยักยอกเอาเงินค่าสินค้าไปเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมได้รับความเสียหายไม่ได้รับเงินค่าสินค้าดังกล่าวโจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4)มีอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(7) ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การร้องทุกข์ของโจทก์ร่วมไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากโจทก์ร่วมมิใช่ผู้เสียหายอันมีผลทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้นั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมข้อนี้ฟังขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อสองของโจทก์และโจทก์ร่วมว่าจำเลยกระทำความผิดฐานยักยอกตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า โจทก์และโจทก์ร่วมมีนางทัศนีย์ ทิพนี เบิกความว่าการส่งสินค้ามาฝากขายที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล สาขาลาดพร้าวนั้นเมื่อส่งสินค้ามาถึง พนักงานของห้างสรรพสินค้าจะทำการตรวจนับสินค้า หากถูกต้อง ครบถ้วนตามใบสั่งซื้อจะลงลายมือชื่อกำกับพร้อมประทับตราและให้พนักงานขายของโจทก์ร่วมลงลายมือชื่อรับสินค้าร่วมกับหัวหน้าแผนกสินค้าของห้างสรรพสินค้า เพื่อนำไปเก็บไว้ในคลังสินค้ากลางของห้างสรรพสินค้า พยานได้ไปตรวจนับสินค้าที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล สาขาลาดพร้าว เมื่อวันที่ 4เมษายน 2539 และวันที่ 14 พฤษภาคม 2539 พบว่ามีสินค้าสูญหายไปรวมทั้งสิ้น 88 ตัว เป็นเงินประมาณ 160,000 บาทเศษ ตามใบสรุปยอดสินค้าค้างสต๊อกเอกสารหมาย จ.3 เห็นว่า จำเลยและนางสาวนันทวันนาคทอง เป็นพนักงานขายของโจทก์ร่วมประจำที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลสาขาลาดพร้าว มีหน้าที่ร่วมกันตรวจนับสินค้าที่โจทก์ร่วมส่งมาฝากขายที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล สาขาลาดพร้าว เพื่อนำไปเก็บในคลังสินค้ากลางของห้างสรรพสินค้า แล้วนำสินค้าของโจทก์ร่วมมาขายให้แก่ลูกค้าพร้อมทั้งทำรายงานการขายมอบเป็นหลักฐานให้แก่พนักงานเก็บเงินของห้างสรรพสินค้าเพื่อคำนวณผลประโยชน์ระหว่างโจทก์ร่วมกับห้างสรรพสินค้าตามข้อตกลง อีกทั้งมีหน้าที่ทำรายงานการขายสินค้าแต่ละวัน แล้วสรุปยอดขายสินค้ารายงานให้โจทก์ร่วมทราบเป็นประจำทุกสัปดาห์และทุกเดือน จำเลยและนางสาวนันทวันจึงเป็นผู้ครอบครองดูแลสินค้าของโจทก์ร่วมไว้เพื่อจำหน่าย และไม่ปรากฏว่ามีพนักงานคนอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องกับการขายสินค้าของโจทก์ร่วม ประกอบกับนางทัศนีย์กับนางกาญจนาเบิกความว่า พนักงานขายชุดใหม่ที่ส่งไปแทนจำเลยกับนางสาวนันทวันรายงานว่า มีลูกค้าชื่อนางบานเย็นนำสินค้าของโจทก์ร่วมมาขอเปลี่ยนขนาด แต่ไม่สามารถแสดงหลักฐานใบเสร็จรับเงินเพื่อเปลี่ยนสินค้า โดยนางบานเย็นแจ้งว่าซื้อสินค้าจากพนักงานขายในช่วงที่จำเลยกับนางสาวนันทวันทำงานอยู่ ชำระสินค้าเป็นเงินแล้วได้รับส่วนลดร้อยละ 30 แต่ไม่มีการออกใบเสร็จให้ เมื่อตรวจสอบรหัสสินค้าดังกล่าวแล้วพบว่าในช่วงเดือนกุมภาพันธ์2539 สินค้าชิ้นดังกล่าวยังอยู่ในห้างสรรพสินค้าและสูญหายไปในเดือนมีนาคม 2539 และไม่มีการขายในใบรายงานการขายประจำเดือนมีนาคม 2539 ซึ่งเป็นการขายสินค้าด้วยการรับเงินสดจากลูกค้าแล้วไม่ออกใบเสร็จรับเงิน และไม่ผ่านพนักงานเก็บเงินของห้างสรรพสินค้าแต่เอาเงินค่าขายสินค้าไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่ทำรายงานการขายด้วย ตอนนางทัศนีย์มาตรวจนับสินค้าเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2539 พบว่ามีสินค้าสูญหายจำนวนมากนางทัศนีย์สอบถามนางสาวนันทวันถึงสาเหตุที่สินค้าสูญหาย แต่นางสาวนันทวันไม่สามารถชี้แจงเหตุผลได้ และยอมรับว่าสินค้าได้สูญหายจริงนางทัศนีย์ให้นางสาวนันทวันโทรศัพท์เรียกจำเลยมาพบที่ห้างสรรพสินค้า แต่จำเลยบ่ายเบี่ยงไม่ยอมมาพบและหลบหนีส่วนนางสาวนันทวันได้ขออนุญาตไปเข้าห้องน้ำแล้วหลบหนีไปเช่นนี้นับเป็นข้อพิรุธของจำเลยและนางสาวนันทวัน จนกระทั่งพนักงานของโจทก์ร่วมนำเจ้าพนักงานตำรวจไปจับกุมจำเลยได้ และจำเลยได้เสนอชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ร่วมบางส่วน เมื่อพิเคราะห์พยานแวดล้อมกรณีที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบประกอบพฤติการณ์ของจำเลยแล้วเชื่อว่าจำเลยซึ่งครอบครองสินค้าของโจทก์ร่วม ได้ขายสินค้าให้แก่ลูกค้าโดยไม่ผ่านพนักงานเก็บเงินของห้างสรรพสินค้าและไม่ออกใบเสร็จรับเงิน แล้วนำเงินค่าซื้อสินค้าจากลูกค้าไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่ส่งให้โจทก์ร่วม เป็นการเบียดบังทรัพย์ของโจทก์ร่วมไปเป็นของจำเลยหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต จึงมีความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคหนึ่ง ดังที่ศาลชั้นต้นพิพากษา ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมข้อนี้ก็ฟังขึ้นเช่นกัน”

พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 วรรคหนึ่ง จำคุก 1 ปี 4 เดือน ให้จำเลยใช้ราคา 161,970บาท แก่โจทก์ร่วม

Share