แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
บริษัท ส.เป็นนายจ้างของโจทก์เมื่อบริษัทส. หยุดกิจการเป็นเหตุให้โจทก์ไม่ได้ทำงาน แม้บริษัท ส. จะโอนย้ายโจทก์ให้ไปทำงานกับบริษัท บ. ก็ต้องให้โจทก์ยินยอมด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 577 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์ไม่ได้ยินยอมจึงต้องถือว่าบริษัท ส. ไม่ให้โจทก์ทำงานอันมีผลตลอดไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้โจทก์เนื่องจากบริษัท ส. หยุดกิจการอันเป็นเหตุอื่นใด จึงเป็นเลิกจ้างโจทก์ ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118
ย่อยาว
คดีทั้งหกสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1ถึงโจทก์ที่ 6
โจทก์ทั้งหกฟ้องทำนองเดียวกันว่า บริษัทสปีดชิปปิ้งเซอร์วิสจำกัด ได้จ้างโจทก์ทั้งหกเข้าทำงานเป็นลูกจ้าง เมื่อวันที่ 23 มีนาคม2543 บริษัทสปีดชิปปิ้งเซอร์วิส จำกัด ได้จดทะเบียนเลิกกิจการโดยมีจำเลยเป็นผู้ชำระบัญชี บริษัทดังกล่าวได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งหกเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2543 โดยโจทก์ทั้งหกไม่มีความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย โจทก์ทั้งหกจึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และบริษัทสปีดชิปปิ้งเซอร์วิส จำกัด ยังค้างจ่ายค่าจ้างเดือนมีนาคม 2543แก่โจทก์ทั้งหกด้วย ขอให้บังคับจำเลยในฐานะผู้ชำระบัญชีของบริษัทสปีดชิปปิ้งเซอร์วิส จำกัด จ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าจ้างค้างจ่ายพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งหกตามจำนวนในฟ้องของโจทก์แต่ละคน
จำเลยให้การด้วยวาจาว่า จำเลยรับว่าได้มีการประกาศหยุดกิจการบริษัทสปีดชิปปิ้งเซอร์วิส จำกัด เมื่อวันที่ 1 มีนาคม2543 และแจ้งให้พนักงานของบริษัทสปีดชิปปิ้งเซอร์วิส จำกัดทุกคนโอนย้ายเข้าสังกัดบริษัทบิสซิเนสแวลู จำกัด ตั้งแต่วันที่ 1มีนาคม 2543 โดยให้รายงานตัวต่อฝ่ายบุคคลภายในวันที่ 7มีนาคม 2543 หากไม่มารายงานตัวถือว่าพนักงานลาออกจากการเป็นพนักงานด้วยความสมัครใจ หลังจากนั้นบริษัทสปีดชิปปิ้งเซอร์วิส จำกัด ก็ได้ประกาศแจ้งการพ้นจากสภาพพนักงานของโจทก์ทั้งหก ถอดถอนกรรมการผู้จัดการและจำเลยในฐานะประธานกรรมการบริษัทสปีดชิปปิ้งเซอร์วิส จำกัดก็ได้มีหนังสือแจ้งประกาศหยุดกิจการลงวันที่ 3 มีนาคม 2543
โจทก์ทั้งหกแถลงว่า หลังจากที่บริษัทสปีดชิปปิ้งเซอร์วิสจำกัด ปิดกิจการ โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ไปทำงานต่อกับบริษัทชลนาดร (1999) จำกัด ไม่ได้เข้าสังกัดบริษัทบิสซิเนสแวลูจำกัด โจทก์ทั้งหกไม่ทราบประกาศของบริษัทสปีดชิปปิ้งเซอร์วิสจำกัด ที่ให้โอนย้ายพนักงานทุกคนเข้าสังกัดบริษัทบิสซิเนสแวลูจำกัด มาก่อน เพิ่งทราบภายหลังและไม่ประสงค์จะเข้าทำงานกับบริษัทบิสซิเนสแวลู จำกัด โจทก์ทั้งหกไม่ได้มาทำงานหลังจากบริษัทสปีดชิปปิ้งเซอร์วิส จำกัด ปิดกิจการ
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทั้งหกเป็นลูกจ้างของบริษัทสปีดชิปปิ้งเซอร์วิส จำกัด ต่อมาบริษัทสปีดชิปปิ้งเซอร์วิสจำกัด หยุดกิจการเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2543 และประกาศแจ้งให้พนักงานทุกคนโอนย้ายเข้าสังกัดบริษัทบิสซิเนสแวลู จำกัดตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2543 ตามเอกสารหมาย ล.1 และจำเลยในฐานะประธานกรรมการบริษัทสปีดชิปปิ้งเซอร์วิส จำกัดได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ 3 มีนาคม 2543 ตามเอกสารหมาย ล.5ระบุว่า หยุดกิจการตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2543 เป็นต้นไปแล้วยื่นขอจดทะเบียนเลิกบริษัทและชำระบัญชีเมื่อวันที่ 1 มีนาคม2543 นายทะเบียนได้จดทะเบียนให้เลิกบริษัทสปีดชิปปิ้งเซอร์วิสจำกัด เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2543 โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระบัญชีศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า บริษัทสปีดชิปปิ้งเซอร์วิส จำกัดผู้เป็นนายจ้างเลิกจ้างโจทก์ทั้งหกตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2543และโจทก์ทั้งหกก็แถลงรับว่าเมื่อบริษัทสปีดชิปปิ้งเซอร์วิส จำกัดปิดกิจการแล้วโจทก์ทั้งหกไม่ได้ไปทำงานอีก โจทก์ทั้งหกจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับเดือนมีนาคม 2543 เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งหกโดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าและเลิกจ้างเนื่องจากการปิดกิจการไม่ใช่การเลิกจ้างในกรณีที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย จำเลยจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งหก พิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 ตามลำดับโดยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 6,500 บาท 7,000 บาท 6,500 บาท 7,000 บาท 8,500 บาท และ 6,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และจ่ายค่าชดเชยจำนวน 19,500 บาท21,000 บาท 19,500 บาท 21,000 บาท 51,000 บาท และ40,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จด้วย คำขออื่นของโจทก์ทั้งหกนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งหกสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ปัญหาวินิจฉัยประการที่สองมีว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งหกหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า บริษัทสปีดชิปปิ้งเซอร์วิส จำกัด ประกาศหยุดกิจการตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2543 และให้โอนย้ายลูกจ้างทุกคนเข้าสังกัดบริษัทบิสซิเนสแวลู จำกัด ทันทีในวันที่ 1 มีนาคม 2543 แสดงว่าบริษัทสปีดชิปปิ้งเซอร์วิส จำกัด ได้ให้โจทก์ทั้งหกทำงานกับบริษัทบิสซิเนสแวลู จำกัด ต่อไปทันที มิได้มีเจตนาจะไม่ให้โจทก์ทั้งหกทำงานต่อไป จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งหกนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรคสอง บัญญัติว่า “การเลิกจ้างตามมาตรานี้หมายความว่า การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด” ซึ่งมีสาระสำคัญ 3 ประการ คือประการแรก นายจ้าง ไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปอันมีผลตลอดไปเป็นการถาวร ประการที่สอง นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างและประการที่สาม สาเหตุเนื่องมาจากสัญญาจ้างสิ้นสุดหรือเหตุอื่นใดคดีนี้บริษัทสปีดชิปปิ้งเซอร์วิส จำกัด เป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งหกเมื่อบริษัทสปีดชิปปิ้งเซอร์วิส จำกัด หยุดกิจการตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม2543 เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งหกไม่ได้ทำงานกับบริษัทสปีดชิปปิ้งเซอร์วิสจำกัด ซึ่งเป็นนายจ้าง แม้บริษัทสปีดชิปปิ้งเซอร์วิส จำกัด จะโอนย้ายโจทก์ทั้งหกให้ไปทำงานกับบริษัทบิสซิเนสแวลู จำกัด ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกก็ต้องให้โจทก์ทั้งหกยินยอมพร้อมใจด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 577 วรรคหนึ่ง เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งหกยินยอมพร้อมใจด้วยโดยการไปรายงานตัวต่อฝ่ายบุคคลหรือผู้ที่กำหนดตัวไว้ตามเอกสารหมาย ล.1 จึงต้องถือว่าบริษัทสปีดชิปปิ้งเซอร์วิสจำกัด ไม่ให้โจทก์ทั้งหกทำงานอันมีผลตลอดไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้โจทก์ทั้งหกเนื่องจากบริษัทสปีดชิปปิ้งเซอร์วิส จำกัด หยุดกิจการอันเป็นเหตุอื่นใด จึงเป็นกรณีบริษัทสปีดชิปปิ้งเซอร์วิส จำกัด เลิกจ้างโจทก์ทั้งหก จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งหกตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า บริษัทสปีดชิปปิ้งเซอร์วิสจำกัด ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ทั้งหกหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลย (ที่ถูกบริษัทสปีดชิปปิ้งเซอร์วิสจำกัด) มิได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งหก จึงไม่มีหน้าที่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ทั้งหกนั้น เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยว่าบริษัทสปีดชิปปิ้งเซอร์วิส จำกัด เลิกจ้างโจทก์ทั้งหกดังกล่าวข้างต้น และไม่ได้บอกกล่าวให้โจทก์ทั้งหกทราบล่วงหน้าจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ทั้งหกตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541มาตรา 17 ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ก็ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง โจทก์ทั้งหกฟ้องให้จำเลยรับผิดในฐานะผู้ชำระบัญชีของบริษัทสปีดชิปปิ้งเซอร์วิส จำกัด ผู้เป็นนายจ้าง จำเลยซึ่งมีหน้าที่จัดการใช้หนี้เงินของบริษัทสปีดชิปปิ้งเซอร์วิส จำกัด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1250 จึงต้องชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งหกในนามของบริษัทสปีดชิปปิ้งเซอร์วิส จำกัด โดยจำเลยไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ชัดเจน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ทั้งหกในฐานะผู้ชำระบัญชีของบริษัทสปีดชิปปิ้งเซอร์วิส จำกัด โดยไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง