แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประเด็นแห่งคดีมีเพียงว่า โจทก์ถูกเลิกจ้างเพราะกระทำความผิดดังที่จำเลยกล่าวอ้างหรือไม่ ซึ่งไม่จำต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ถูกเลิกจ้างวันใด อุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า ศาลแรงงานรับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ในวันที่คลาดเคลื่อนขัดต่อความเป็นจริง ขัดต่อพยานหลักฐานนั้น ไม่อาจก่อให้เกิดผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาของศาลแรงงาน อุทธรณ์ของจำเลยจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31
การที่ลูกจ้างไม่สนใจในการประชุม เข้าประชุมสาย ละทิ้งหน้าที่กลับก่อนเวลา และไม่ออกเยี่ยมเยือนลูกค้าทำให้ยอดขายสินค้าไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่นายจ้างกำหนดไว้ เป็นเพียงกรณีที่ลูกจ้างไม่ตั้งใจปฏิบัติงาน ไม่อุทิศเวลาให้แก่งานและไม่มีประสิทธิภาพในการทำงานเท่านั้น ส่วนกรณีที่ผู้บังคับบัญชามอบหมายงานให้แล้ว ลูกจ้างแสดงท่าทางไม่พอใจ แสดงกิริยาไม่สุภาพหรือมีความประพฤติกระด้างกระเดื่อง ก็เป็นเพียงความประพฤติที่ไม่เหมาะสมอันไม่ควรพึงปฏิบัติเท่านั้น การกระทำของลูกจ้างยังถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างในกรณีร้ายแรง และยังถือไม่ได้ว่าเป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๓,๗๕๐ บาท เงินประกัน ๕,๐๐๐ บาท และค่าชดเชย ๒๒,๕๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินประกัน ๕,๐๐๐ บาท ค่าชดเชย ๒๒,๕๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยของเงินดังกล่าวอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า สำหรับอุทธรณ์ของจำเลย ข้อ ๒.๔ ที่ว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๔๒ และหนังสือของจำเลยตามเอกสารหมาย ล. ๕ ก็ระบุวันที่เลิกจ้างโจทก์คือวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๔๒ ซึ่งรับฟังได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๔๒ การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า นายสวัสดิ์และนายทศพลได้บอกเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๒ นั้น คลาดเคลื่อนต่อความเป็นจริงขัดต่อพยานหลักฐานไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า ประเด็นแห่งคดีที่ต้องวินิจฉัยมีเพียงว่า โจทก์ถูกเลิกจ้างเพราะกระทำความผิดดังที่จำเลยกล่าวอ้างหรือไม่เท่านั้น ซึ่งไม่จำต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ถูกเลิกจ้างวันใด ฉะนั้น อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวไม่อาจก่อให้เกิดผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางแต่อย่างใด จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ต้องห้าม มิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๒๕ วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลย ข้อ ๒.๑ และ ๒.๒ ว่า การที่โจทก์มีความประพฤติกระด้างกระเดื่อง ไม่สนใจในการประชุม เข้าประชุมสาย เมื่อผู้บังคับบัญชามอบหมายงานมักแสดงท่าทางไม่พอใจ แสดงกริยาไม่สุภาพ ละทิ้งหน้าที่กลับก่อนเวลาและไม่ออกเยี่ยมเยือนลูกค้าทำให้ยอดขายสินค้าไม่เป็นไปตามเป้าหมายนั้น เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของจำเลยในกรณีร้ายแรงหรือเป็นการจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายหรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์ไม่สนใจในการประชุม เข้าประชุมสาย ละทิ้งหน้าที่กลับก่อนเวลา และไม่ออกเยี่ยมเยือนลูกค้าทำให้ยอดขายสินค้าไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่จำเลยกำหนดไว้นั้น เป็นเพียงกรณีที่โจทก์ไม่ตั้งใจปฏิบัติงานไม่อุทิศเวลาให้แก่งาน และไม่มีประสิทธิภาพในการทำงานเท่านั้น ส่วนกรณีที่ผู้บังคับบัญชามอบหมายงานโจทก์มักแสดงท่าทางไม่พอใจ แสดงกริยาไม่สุภาพหรือมีความประพฤติกระด้างกระเดื่องนั้น ก็เป็นเพียงความประพฤติที่ไม่เหมาะสมอันไม่ควรพึงปฏิบัติเท่านั้น การกระทำของโจทก์ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของจำเลยตามเอกสารหมาย ล. ๒ ในกรณีร้ายแรง และยังถือไม่ได้ว่าเป็นการจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย
พิพากษายืน.