คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 79/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เงินของกลางที่โจทก์ขอให้ศาลสั่งริบ เป็นทรัพย์ที่จำเลยได้มาจากการจำหน่ายเฮโรอีนก่อนการจำหน่ายในคดีนี้ จึงมิใช่ทรัพย์สินที่จำเลยได้มาโดยได้กระทำความผิดในคดีนี้ ตามความแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(2) แม้จำเลยให้การรับสารภาพศาลก็ไม่มีอำนาจสั่งริบในคดีนี้ได้
ศาลล่างทั้งสองสั่งริบเงินของกลางไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสองประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2539 เวลากลางวันจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันมีเฮโรอีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1บรรจุอยู่ในห่อกระดาษจำนวน 8 ห่อ และบรรจุอยู่ในหลอดพลาสติกจำนวน 1 หลอด น้ำหนักรวม 0.370 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย แล้วจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันจำหน่ายเฮโรอีนจำนวน 2 ห่อ น้ำหนักไม่ปรากฏชัดอันเป็นส่วนหนึ่งของเฮโรอีนที่จำเลยทั้งสองมีไว้เพื่อจำหน่ายให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อไปในราคา200 บาท อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เจ้าพนักงานจับกุมจำเลยทั้งสองได้พร้อมยึดธนบัตรฉบับละ 100 บาท จำนวน 2 ฉบับที่ใช้ในการล่อซื้อเฮโรอีนที่เหลือจากการจำหน่ายให้แก่สายลับจำนวน 6 ห่อ และ 1 หลอด เฮโรอีนที่จำเลยทั้งสองจำหน่ายให้แก่สายลับจำนวน 2 ห่อ เงินจำนวน 1,070 บาท อันเป็นทรัพย์สินที่จำเลยทั้งสองได้มาโดยร่วมกันกระทำความผิดและแผ่นกระดาษจำนวน 4 แผ่น อันเป็นทรัพย์สินที่จำเลยทั้งสองมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91 ริบเฮโรอีนพร้อมห่อกระดาษและหลอดพลาสติก เงินจำนวน 1,070 บาทแผ่นกระดาษจำนวน 4 แผ่น ของกลางและคืนธนบัตรจำนวน200 บาท ที่ใช้ล่อซื้อแก่เจ้าของ

จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง,66 วรรคหนึ่ง, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91ฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 5 ปี ฐานจำหน่ายเฮโรอีน จำคุก 5 ปี รวมจำคุก 10 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่ง และลดโทษให้จำเลยที่ 2 หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 5 ปี และจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด6 ปี 8 เดือน ริบเฮโรอีนพร้อมห่อกระดาษและหลอดพลาสติกรวมทั้งเงินจำนวน 1,070 บาท ซึ่งได้จากการจำหน่ายเฮโรอีนและแผ่นกระดาษจำนวน 4 แผ่น ของกลาง คืนธนบัตรจำนวน200 บาท ที่ใช้ในการล่อซื้อแก่เจ้าของ

จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2ฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 5 ปี ฐานจำหน่ายเฮโรอีนจำคุก 5 ปี รวม 2 กระทง จำคุก 10 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามคงจำคุก 6 ปี 8 เดือน ซึ่งเท่ากับศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยที่ 2 จำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่งจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้ร่วมกระทำความผิด เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าวที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 2 เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ส่วนเงินจำนวน 1,070 บาท ของกลาง ที่โจทก์ขอให้ศาลสั่งริบนั้นเป็นทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 ได้มาจากการจำหน่ายเฮโรอีนก่อนการจำหน่ายในคดีนี้ จึงมิใช่ทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 ได้มาโดยได้กระทำความผิดในคดีนี้ ตามความแห่งประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33(2) แม้จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ศาลก็ไม่มีอำนาจสั่งริบในคดีนี้ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองสั่งริบเงินจำนวน 1,070 บาทของกลางนั้น จึงไม่ชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าว และปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอริบเงินของกลางจำนวน1,070 บาท ของโจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และให้ยกฎีกาของจำเลยที่ 2

Share