คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6501-6502/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิมพนักงานอัยการเป็นโจทก์ ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 เป็นคดีอาญาข้อหาบุกรุกที่ดินพิพาท โดยโจทก์คดีนี้ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวด้วย คดีถึงที่สุด โดยศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า กรณียังถือไม่ได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกดังที่โจทก์ฟ้อง เมื่อโจทก์นำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาฟ้อง จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 เป็นคดีส่วนแพ่ง ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในคำพิพากษาคดีอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ดังนั้น แม้จำเลยที่ 7 มิใช่จำเลยในคดีส่วนอาญาที่ถูกพนักงานอัยการโจทก์ฟ้องในข้อหาบุกรุกด้วย แต่โจทก์ในคดีนี้เป็นโจทก์ร่วมในคดีอาญา ข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญาที่เกี่ยวข้องกับโจทก์จึงมีผลผูกพันโจทก์ด้วย

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิจารณาและพิพากษารวมกัน
โจทก์สำนวนแรกฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งหกออกไปจากที่ดินของโจทก์ ห้ามจำเลยทั้งหกและบริวารเข้ามาบุกรุกทำประโยชน์และเข้ามาเกี่ยวข้องในที่ดินของโจทก์ ให้จำเลยทั้งหกใช้ค่าเสียหายจำนวน 16,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2532 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกนางสมใจหรือโข่ พันธ์เกษม เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยทั้งหกและจำเลยร่วมสำนวนแรกให้การ ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์สำนวนหลังฟ้อง ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาท เป็นของโจทก์ห้ามจำเลยและบริวารยุ่งเกี่ยวอีกต่อไป ให้จำเลยเก็บเกี่ยวหรือขุดถอนพืชไร่ออกไปจากที่ดินภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา ให้จำเลยปรับที่ดินให้อยู่ในสภาพเดิม หากจำเลยไม่ยอมเก็บเกี่ยวหรือขุดถอนพืชไร่ให้โจทก์เป็นผู้เก็บเกี่ยวขุดถอนโดยให้จำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายจำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี และค่าเสียหายปีละ 100,000 บาท ให้แก่โจทก์นับจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะเก็บเกี่ยว ขุดถอน หรือขนย้ายบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท
จำเลยสำนวนหลังให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นให้เรียกโจทก์ในสำนวนแรกและเป็นจำเลยในสำนวนหลังว่าโจทก์เรียกโจทก์ในสำนวนหลังซึ่งเป็นจำเลยร่วมในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 7 ส่วนจำเลยอื่นให้เรียกจำเลยตามสำนวนคงเดิม
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 6 ถึงแก่กรรม ไม่มีคำขอของทายาทเข้ามาเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 6
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 7 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ในสำนวนคดีหลัง ให้โจทก์เก็บเกี่ยวขุดถอนพืชไร่ออกไปจากที่ดินพิพาท ห้ามโจทก์และบริวารเข้ายุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทอีก และให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายจำนวน 7,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 7 กับค่าเสียหายอีกปีละ 7,500 บาท นับถัดจากวันฟ้อง จนกว่าจะเก็บเกี่ยวขุดถอนพืชไร่และขนย้ายบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท ให้ยกฟ้องโจทก์ในสำนวนคดีแรก ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 และที่ 7 ทั้งสองสำนวนโดยกำหนดค่าทนายความสำนวนละ 3,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 3 ถึงแก่กรรม ทายาทของจำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์ภาค 1 อนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องของจำเลยที่ 7 ด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลของทั้งสองสำนวนให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 และที่ 7 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว วินิจฉัยว่า คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องด้วยคดีอาญาซึ่งพนักงานอัยการโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 เป็นคดีอาญาข้อหาบุกรุกที่ดินพิพาท โดยโจทก์ในคดีนี้ซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีดังกล่าวขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ด้วย และคดีถึงที่สุดแล้ว โดยศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า กรณียังถือไม่ได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ร่วมการกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกดังที่โจทก์ฟ้อง เมื่อโจทก์นำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 เป็นคดีส่วนแพ่ง ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ดังนั้น แม้จำเลยที่ 7 มิใช่จำเลยในคดีส่วนอาญาที่ถูกพนักงานอัยการโจทก์ฟ้องในข้อหาบุกรุกด้วย แต่โจทก์ในคดีนี้หาใช่บุคคลภายนอกคดีไม่ เพราะเป็นโจทก์ร่วมในคดีส่วนอาญา ข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญาจึงมีผลผูกพันโจทก์ ทั้งมีประเด็นโดยตรงที่ต้องพิจารณาในคดีนี้ด้วยว่า โจทก์หรือจำเลยที่ 7 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้วินิจฉัยถึงประเด็นดังกล่าวไว้ในคดีส่วนอาญาว่า “… กรณีจึงยังฟังไม่ได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ร่วม…” ศาลจึงชี้ขาดว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ไม่ได้บุกรุกที่ดินของโจทก์ กรณีเป็นที่เห็นได้ว่า ศาลไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงเป็นประการอื่นให้ผิดแผกแตกต่างไปจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาได้ ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยในคำพิพากษาคดีส่วนแพ่งว่า พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมามีน้ำหนักดีกว่าพยานจำเลยที่ 7 ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ จึงไม่ชอบ เพราะขัดกับข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญาเฉพาะที่เกี่ยวกับโจทก์อันเป็นที่ยุติว่า กรณียังฟังไม่ได้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ

Share