แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ธ. รับจ้างขนแร่ของบริษัทเกินจำนวนในใบอนุญาตให้ขนกว่าร้อยละ 5 บริษัทต้องรับผิดในการกระทำของลูกจ้างตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 มาตรา 10 ฉบับที่ 2 พ.ศ.2516 มาตรา 8 ธ. ขนแร่ของตนรวมไปกับแร่ของบริษัท ถือว่าการขนแร่เป็นความผิดที่ผู้รับใบอนุญาตต้องรับผิดเป็นตัวการด้วยและถือเป็นแร่ผิดกฎหมายทั้งหมดตาม มาตรา110 ต้องริบตามมาตรา 154 ฉบับที่ 2 พ.ศ.2516 มาตรา39 ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษหรือไม่
ย่อยาว
แร่ดีบุกของบริษัทจำนวน 155 กระสอบได้รับใบอนุญาตให้ขน ธ. รับจ้างขนแร่ มีแร่ขนมาจริง 179 กระสอบ เกินใบอนุญาตกว่าร้อยละ 5 ศาลชั้นต้นเห็นว่า ธ. เอาแร่ของตนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 24 กระสอบรวมขนไปด้วย บริษัทไม่รู้เห็นด้วย จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้าง ธ. จำเลยที่ 2 อาศัยนั่งรถมาด้วย จำเลยไม่รู้เห็นการกระทำผิด พิพากษายกฟ้องคืนแร่ 155 กระสอบแก่เจ้าของ นอกนั้นริบจ่ายรางวัลแก่ผู้จับ รถยนต์คืนเจ้าของ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้ริบแร่ 155กระสอบด้วย จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “จำเลยทั้งสองฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่าตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาและศาลชั้นต้นฟังว่านายธเนศเป็นผู้รับจ้างขนแร่ของกลางจำนวน 155 กระสอบของบริษัทสินแร่กิจวิโรจน์ จำกัดจะถือว่านายธเนศเป็นตัวแทนของบริษัทดังกล่าวดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยหาได้ไม่บริษัทสินแร่กิจวิโรจน์ จำกัด ผู้เป็นเจ้าของแร่ของจำนวน 155 กระสอบ ได้ชำระค่าภาคหลวงแร่ดังกล่าวแล้ว และไม่ได้รู้เห็นเป็นใจในการที่นายธเนศได้ขนแร่ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายรวมไปกับแร่ของบริษัทด้วย จึงริบแร่จำนวน 155 กระสอบของบริษัทด้วยไม่ได้ และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่านายธเนศเป็นตัวแทนของบริษัทสินแร่กิจวิโรจน์ จำกัด เป็นการนอกฟ้องนอกประเด็นไม่ชอบด้วยบทบัญญัติมาตรา 158 และ 192 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว เห็นควรวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งสองในปัญหาที่ว่าจะริบแร่ของกลางจำนวน 155 กระสอบ น้ำหนัก128.58 หาบหลวง หรือ 7,714.80 กิโลกรัมตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510มาตรา 154 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2516มาตรา 39 ได้หรือไม่ก่อน ศาลฎีกาเห็นว่าตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510มาตรา 108 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2516มาตรา 32 ห้ามมิให้ผู้ใดขนแร่ในที่ใด เว้นแต่ (1) เป็นแร่ที่ได้รับใบอนุญาตขนแร่ ฯลฯ นายธเนศเป็นผู้รับจ้างขนแร่ดีบุกของกลางจำนวน 155 กระสอบ โดยบรรทุกรถยนต์มา แม้จะมีหลักฐานแสดงว่าบริษัทสินแร่กิจวิโรจน์ จำกัด เป็นผู้ได้รับอนุญาตขนแร่ของกลาง 155 กระสอบ น้ำหนัก 128.58 หาบหลวง หรือ 7,714.80 กิโลกรัม ก็ยังมีแร่ที่ขนปริมาณเกินกว่าที่กำหนดอีก 24 กระสอบ ซึ่งเป็นปริมาณเกินกว่าร้อยละห้า กรณีจึงต้องปรับด้วยพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 110 ที่ให้ถือว่าแร่ที่นายธเนศรับจ้างขนทั้งสิ้นเป็นแร่ที่ขนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 155ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2516 มาตรา 39บัญญัติให้ริบแร่ดังกล่าวเสียทั้งสิ้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่
ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า บริษัทสินแร่กิจวิโรจน์ จำกัด ผู้เป็นเจ้าของแร่ของกลางจำนวน 155 กระสอบมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของนายธเนศผู้รับจ้างขนแร่ซึ่งได้เอาแร่จำนวน 24 กระสอบ ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายบรรทุกรถยนต์รวมขนไปกับแร่ของบริษัทด้วย จึงริบแร่ของบริษัทไม่ได้นั้น เห็นว่าข้อนี้พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 10 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2516 มาตรา 8 ระบุว่าในกรณีความผิดตามพระราชบัญญัติแร่ได้กระทำโดยตัวแทนหรือลูกจ้าง ให้ถือว่าผู้รับใบอนุญาตเป็นตัวการในการกระทำความผิดนั้น อันเป็นบทบัญญัติว่าด้วยความรับผิดในการกระทำของผู้อื่นที่กฎหมายประสงค์จะให้ผู้รับใบอนุญาตนั้นรับผิดชอบในการกระทำของตัวแทนหรือลูกจ้าง ซึ่งกฎหมายบัญญัติไว้แล้วโดยชัดแจ้งฉะนั้นจะได้พิจารณาว่านายธเนศเป็นตัวแทนหรือลูกจ้างของบริษัทสินแร่กิจวิโรจน์หรือไม่ เกี่ยวกับปัญหาข้อนี้ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าบริษัทสินแร่กิจวิโรจน์จำกัด ได้ว่าจ้างนายธเนศให้ขนแร่ของบริษัทจากอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาไปยังจังหวัดภูเก็ตโดยมอบใบอนุญาตขนแร่เอกสาร จ.6 ให้ไปด้วย ดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่านายธเนศเป็นลูกจ้างของบริษัทสินแร่กิจวิโรจน์ จำกัด ในการขนแร่ครั้งนี้มิใช่เป็นตัวแทนดังที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมา และเมื่อถือว่านายธเนศเป็นลูกจ้างกระทำผิดฐานขนแร่โดยไม่ได้รับอนุญาต ก็ต้องถือว่าบริษัทสินแร่กิจวิโรจน์ จำกัดเป็นตัวการในการกระทำความผิดของนายธเนศลูกจ้างดังกล่าว จึงต้องริบของกลางทั้งหมดตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 154 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2516 มาตรา 39 และเมื่อวินิจฉัยว่านายธเนศเป็นลูกจ้างของบริษัทสินแร่กิจวิโรจน์ จำกัด แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่านายธเนศเป็นตัวแทนของบริษัทดังกล่าวซึ่งจำเลยฎีกาว่าเป็นการนอกฟ้องนอกประเด็นอีก”
พิพากษายืน