แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยจงใจผิดนัดจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างโดยปราศจากเหตุผลอันสมควรต้องรับผิดจ่ายเงินเพิ่มแก่โจทก์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 31 ในอัตราร้อยละ 15 ของเงินค่าจ้างที่ค้างชำระทุกระยะเจ็ดวัน มิใช่ร้อยละ 15 ต่อปี.
ย่อยาว
มูลกรณีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องบังคับจำเลยให้จ่ายค่าจ้างที่ค้างพร้อมกับเงินเพิ่มร้อยละสิบห้าของเงินที่ค้างชำระทุกระยะเวลาเจ็ดวันนับแต่วันถึงกำหนดจ่าย ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างจำนวน 10,000 บาทพร้อมกับเงินเพิ่มร้อยละ 15 ของยอดเงิน 5,000 บาททุกระยะเจ็ดวัน นับแต่วันที่ 1มีนาคม 2529 และเงินเพิ่มร้อยละ 15 ของยอดเงิน 5,000 บาททุกระยะเจ็ดวันนับแต่วันที่ 1 เมษายน 2529 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระแก่โจทก์เสร็จสิ้น ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องต่อศาลแรงงานกลางขอวางเงินตามคำพิพากษารวมทั้งสิ้น 10,992.22 บาทโดยระบุว่าเป็นค่าจ้าง 10,000 บาท พร้อมเงินเพิ่มทั้งสองจำนวนนับแต่วันที่ 1 เมษายน 2529 และวันที่ 1 มีนาคม 2529 เป็นเงิน 992.22บาท
ศาลแรงงานกลางสั่งว่า ตามคำพิพากษาให้คิดเงินเพิ่มร้อยละ 15ของยอดเงิน 5,000 บาท ทุกระยะเจ็ดวันมิใช่ร้อยละ 15 ต่อปีทุกระยะเจ็ดวันจำเลยวางเงินเพิ่มร้อยละ 15 ต่อปี ทุกระยะเจ็ดวันเป็นเงิน 14.38 บาท จึงไม่ถูกต้องที่ถูกแล้วเป็นเงิน750 บาทต่อเจ็ดวันสำหรับยอดเงิน 5,000 บาทแต่ละยอด
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางซึ่งถึงที่สุดว่า จำเลยจงใจผิดนัดการจ่ายค่าจ้างเดือนกุมภาพันธ์ และเดือนมีนาคม 2529 เดือนละ 5,000 บาท รวม 2เดือน โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร และพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างจำนวน 10,000 บาท พร้อมกับเงินเพิ่มร้อยละ 15 ของยอดเงิน5,000 บาท ทุกระยะเจ็ดวันนับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2529 และเงินเพิ่มร้อยละ 15 ของยอดเงิน 5,000 บาททุกระยะเจ็ดวันนับแต่วันที่ 1 เมษายน 2529 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นนั้นเห็นว่า เป็นคำวินิจฉัยชี้ขาดให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างซึ่งจงใจผิดนัดจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร ต้องรับผิดจ่ายเงินเพิ่มแก่ลูกจ้างตามที่ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 31 วรรคสองบัญญัติไว้ว่า ‘ถ้านายจ้างจงใจผิดนัดในการจ่ายเงินดังกล่าวโดยปราศจากเหตุผลอันสมควรเมื่อพ้นกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันถึงกำหนดจ่าย นายจ้างจะต้องจ่ายเงินเพิ่มแก่ลูกจ้างร้อยละ15 ของเงินที่ค้างชำระทุกระยะเจ็ดวัน’ เพราะฉะนั้นคำสั่งของศาลแรงงานกลางในชั้นบังคับคดีที่สั่งคำร้องขอวางเงินของจำเลยว่า จำเลยต้องวางเงิน 750 บาทต่อเจ็ดวัน สำหรับยอดเงิน5,000 บาท แต่ละยอดชำระหนี้ตามคำพิพากษานั้นชอบด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 31 วรรคสองแล้วหาใช่วางเงินเพิ่มร้อยละ 15 ของยอดเงิน 5,000 บาท ทุกระยะเจ็ดวันเป็นเงิน 14 บาท 38 สตางค์ ตามที่จำเลยคิดคำนวณและอุทธรณ์ขึ้นมาไม่ เพราะไม่ชอบด้วยบทบัญญติของกฎหมายดังกล่าวมาแล้ว
พิพากษายืน.