แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่า ขอกู้เงินจากสามี ๆ ให้ภรรยาจัดการและลงนามในสัญญาและลงนามแทน ขอให้จำเลยทั้งสองคืนทรัพย์ที่เป็นประกันเงินกู้ ดังนี้เป็นการฟ้องให้สามีภรรยารับผิดในหนี้ร่วม และกรณีที่ได้ความเช่นนี้ ถือว่าเป็นหนี้ร่วมซึ่งสามีภรรยาต้องรับผิดชอบร่วมกัน
หนังสือกู้มีชื่อภรรยาเป็นผู้ให้กู้ เมื่อผู้กู้ฟ้องเรียกทรัพย์ที่เป็นประกันคืนจากสามีภรรยา ผู้กู้อาจนำพะยานบุคคลมาสืบว่า สามีเป็นผู้ให้กู้ด้วยโดยให้ภรรยาจัดการแทนได้ ไม่เป็นการต้องห้ามตาม ป.ม.วิ.แพ่งมาตรา 94
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าได้กู้เงินนายฮวดและมอบระหัดให้ไว้ ขอให้จำเลยคืนระหัด นายฮวดปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นคู่สัญญากับโจทก์ โจทก์จึงยื่นคำร้องแก้และเพิ่มเติมฟ้องว่า โจทก์ไปขอกู้เงินนายฮวด ๆ ให้นางชุบภรรยาจัดการและลงนามเป็นคู่สัญญาและลงนามแทน และขอเรียกนางชุบเป็นจำเลยด้วย
คดีได้ความว่า นายฮวดจำเลยเป็นคนพิการตาบอดและเดินไม่ได้มาช้านาน ได้มอบให้นางชุบจำเลยผู้เป็นภรรยาจัดการกิจการบ้านเรือนแทน ตลอดจนการให้กู้ยืมจำนำ, จำนองและรับไถ่ถอน โจทก์ได้พูดตกลงทำสัญญากู้เงินกับนายฮวดจำเลย แต่นายฮวดให้นางชุบจำเลยเซ็นชื่อในสัญญา การกู้รายนี้ได้มอบเครื่องฉุดระหัดให้เป็นประกัน ต่อมาโจทก์ได้นำเงินต้นและดอกเบี้ยไปชำระเพื่อขอเครื่องยนตร์คืน จำเลยไม่ยอมรับชำระหนี้และไม่ยอมคืน
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า นางขุบมีความเกี่ยวกันในนิติกรรมรายนี้กับโจทก์อย่างไร ได้ความเพียงว่า นางชุบเป็นสามีภรรยากัน กรณีย่อมผูกพันธ์กัน ซึ่งไม่แจ้งชัดว่า ผูกพันธ์อะไรกัน โจทก์ไม่มีทางจะฟ้องร้องเอาอะไรจากนางชุบได้ ส่วนนายฮวดจำเลยนั้น ฟ้องเดิมว่ากู้เงินจากนายฮวด แต่สัญญาปรากฎว่ากู้จากนางชุบ โจทก์จะนำพะยานมาสืบว่า นางชุบไม่ใช่ผู้ให้กู้ แต่หากทำแทนนายฮวดสามีนั้นเป็นการสืบเพิ่มเติมเอกสาร เมื่อเอสารการกู้ไม่ตรงกับที่โจทก์กล่าวในฟ้องเช่นนี้ ก็ไม่มีทางจะบังคับนายฮวดได้ จึงพิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้โจทก์ชนะ แต่มีความเห็นแย้งว่าควรยกฟ้อง
จำเลยฎีกา,
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามคำฟ้องเดิม และที่ขอแก้ไขมีข้อความพอให้เข้าใจว่า โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองถึงพฤติการณ์ระหว่างจำเลยทั้งสอง เพื่อแก่การรับผิด ย่อมสืบไม่ขัดกับ ป.ม.วิ.แพ่ง มาตรา ๙๔และถือว่านางชุบกระทำไปโดยได้รับความยินยอมจากนายจำเลยแล้ว หนี้รายนี้จึงถือว่าเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานซึ่งสามีภรรยาทำด้วยกัน จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดร่วมกันต่อโจทก์ จึงพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์