คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2606/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ได้ออกแบบแจ้งการประเมินไปถึงโจทก์ให้โจทก์ชำระอากรขาเข้า ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลแล้ว แม้ต่อมาจะได้มีหนังสือทวงถามให้โจทก์ชำระภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาลที่ค้างชำระอยู่ก็ไม่ใช่เป็นการประเมินภาษีอากร ดังนั้นที่โจทก์มีหนังสือไปถึงจำเลยที่ 1 ให้คืนเงินภาษีการค้ากับภาษีบำรุงเทศบาลเนื่องจากโจทก์เห็นว่าเรียกเก็บภาษีไม่ถูกต้องโดยยื่นเกิน 30 วันนับแต่วันที่โจทก์ได้รับแบบแจ้งการประเมิน จึงไม่ต้องวินิจฉัยว่าหนังสือดังกล่าวเป็นการอุทธรณ์การประเมินภาษีการค้ากับภาษีบำรุงเทศบาลหรือไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้เพิกถอนการประเมินในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลมาตั้งแต่แรกแล้ว การที่โจทก์ฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกลางขอให้จำเลยทั้งสองคืนเงินภาษีการค้ากับภาษีบำรุงเทศบาลที่จำเลยประเมินเพิ่มโดยไม่ได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 30 เสียก่อน จึงต้องห้ามมิให้นำคดีมาฟ้องตาม มาตรา 8แห่ง พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรพ.ศ. 2528 ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าการประเมินภาษีการค้ากับภาษีบำรุงเทศบาลถูกยกเลิกโดยคำพิพากษาในคดีก่อนแล้วก็ดี การเรียกเก็บภาษีดังกล่าวขัดต่อกฎหมายก็ดี จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2531 และวันที่ 3 มีนาคม2531 โจทก์ซื้อปั้นจั่นใช้แล้วพร้อมอุปกรณ์เข้ามาในราชอาณาจักรรวม2 ชุด เสียอากรขาเข้าในพิกัดประเภทที่ 8426.19 เสียภาษีการค้าเสียภาษีบำรุงเทศบาลแล้วทั้ง 2 ชุด แต่จำเลยที่ 1 มีความเห็นว่าสินค้าโจทก์ควรเสียภาษีในพิกัดประเภทที่ 8705.10 เจ้าพนักงานจำเลยแจ้งด้วยว่าโจทก์สำแดงรายการในใบขนสินค้าเป็นเท็จ ทำให้ค่าภาษีอากรที่พึงชำระขาดไป โจทก์ต้องใช้หนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพจำกัด ถึง 3 ฉบับ วางประกัน จึงนำของออกจากอารักขาของจำเลยได้โจทก์โต้แย้งและได้ฟ้องจำเลยที่ 1 เพื่อให้วินิจฉัยเรื่องพิกัดอัตราศุลกากรและราคาสินค้าที่จะใช้เป็นฐานคำนวณค่าภาษีอากรตามกฎหมายในที่สุดศาลฎีกาพิพากษาในเรื่องพิกัดอัตราศุลกากรและราคาสินค้ายืนตามศาลภาษีอากรกลางว่าอยู่ในพิกัดที่โจทก์ชำระและราคาที่โจทก์สำแดงไว้ ต่อมาจำเลยที่ 1 แจ้งยอดเงินค่าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลให้โจทก์ชำระ โจทก์จำต้องชำระ ทั้งนี้เพื่อจะได้รับหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพ จำกัด คืนจากจำเลย แต่โจทก์ไม่เห็นด้วยกับเหตุผลในการเรียกเก็บเงินดังกล่าว จึงมีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงและขอคืน จำเลยปฏิเสธ การที่จำเลยที่ 1 ให้โจทก์ชำระภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลเพิ่มอีก เป็นการไม่ชอบ เพราะสินค้าปั้นจั่นที่โจทก์นำเข้ามาทั้ง 2 ชุดโจทก์ได้ชำระค่าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลครบถ้วนตามกฎหมายแล้วการเรียกเก็บภาษีการค้าเพิ่มของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยไม่มีข้ออ้างตามกฎหมายที่จะเรียกเก็บและยึดเงินของโจทก์ไว้ จำเลยต้องคืนเงินแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406 ขอให้พิพากษาว่าจำเลยเรียกเก็บเงินจากโจทก์ซ้ำซ้อนสองครั้งเป็นการไม่ชอบ ให้จำเลยคืนเงิน2,685,328 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 12กันยายน 2534 จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองให้คืนเงินค่าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล กล่าวคือ ภายหลังจากที่เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ได้คิดคำนวณเงินค่าภาษีอากรที่โจทก์จะต้องชำระเพิ่มเสร็จแล้วได้ส่งแบบแจ้งการประเมินอากรขาเข้าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล ไปยังโจทก์เพื่อให้ชำระค่าภาษีอากรและโจทก์ได้รับแบบแจ้งการประเมินอากรแล้วแต่โจทก์มิได้อุทธรณ์การประเมินภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากร โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองเงินค่าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลที่จำเลยที่ 1 ได้รับชำระจากโจทก์จึงเป็นการชำระหนี้อันชอบด้วยกฎหมายมิใช่ลาภมิควรได้ หาใช่เป็นการเก็บภาษีซ้ำซ้อนแต่อย่างใดไม่ ขอให้พิพากษายกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1ได้ออกแบบแจ้งการประเมินตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 2และแผ่นที่ 3 ไปถึงโจทก์ซึ่งเป็นการประเมินให้โจทก์ชำระอากรขาเข้าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลตามกฎหมายส่วนเอกสารหมาย จ.1แผ่นที่ 1 และแผ่นที่ 2 นั้นเป็นหนังสือทวงถามให้โจทก์ชำระค่าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลที่ค้างชำระอยู่ มิใช่เป็นการแจ้งการประเมินภาษีอากร ย่อมไม่มีผลเป็นการประเมินภาษีอากรตามกฎหมายแต่อย่างใด จึงต้องถือแต่เฉพาะการประเมินตามแบบแจ้งการประเมินเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 2 และที่ 3 เท่านั้นเป็นสำคัญ สำหรับเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 6 และที่ 7 เป็นหนังสือจากโจทก์มีไปถึงจำเลยที่ 1 ขอให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าภาษีการค้ากับภาษีบำรุงเทศบาลที่จำเลยที่ 1 ประเมินเพิ่มพร้อมด้วยเงินเพิ่มภาษีดังกล่าวแก่โจทก์ เนื่องจากโจทก์เห็นว่าเป็นการเรียกเก็บภาษีที่ไม่ถูกต้องโดยอ้างถึงหนังสือทวงถามตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 1 และแผ่นที่ 2 แต่หนังสือฉบับนี้ยื่นเกินกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่โจทก์ได้รับแบบแจ้งการประเมินตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 2 และแผ่นที่ 3ย่อมไม่มีผลตามกฎหมายเช่นกันจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าหนังสือดังกล่าวเป็นการอุทธรณ์การประเมินภาษีการค้ากับภาษีบำรุงเทศบาลต่อคณะกรรมการพิจารณา อุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากรหรือไม่เพราะไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ดังนั้น เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านการประเมินในส่วนของภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้เพิกถอนการประเมินในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลมาตั้งแต่แรกแล้วการที่โจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้ ขอให้จำเลยทั้งสองคืนเงินภาษีการค้ากับภาษีบำรุงเทศบาลที่จำเลยที่ 1 ประเมินเพิ่มย่อมมีผลเท่ากับเป็นการใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินภาษีอากรดังกล่าวต่อศาลโดยตรง โดยไม่ผ่านขั้นตอนตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 ที่บัญญัติว่า จะต้องอุทธรณ์การประเมินภาษีอากรต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เสียก่อนนั่นเอง จึงต้องห้ามมิให้นำคดีเกี่ยวกับภาษีดังกล่าวมาฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลาง ตามความในมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 และเมื่อผลแห่งคำวินิจฉัยเป็นไปดังกล่าวข้างต้น ที่โจทก์อุทธรณ์ต่อไปว่า การประเมินภาษีการค้ากับภาษีบำรุงเทศบาลเพิ่มของจำเลยที่ 1 ได้ถูกยกเลิกโดยคำพิพากษาของศาลในคดีก่อนแล้วก็ดี การที่จำเลยที่ 1 เรียกเก็บภาษีการค้ากับภาษีบำรุงเทศบาลเพิ่มจากโจทก์ในคดีนี้เป็นการขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายก็ดี จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามาศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share