คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 637/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งไม่อาจเป็นทั้งการกระทำโดยบันดาลโทสะและป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายในขณะเดียวกันได้ ผู้ตายเข้าไปหาจำเลยแล้วเตะสำรับกับข้าวที่จำเลยกับภรรยานั่งรับประทานอยู่ แต่จำเลยก็หาได้ตอบโต้ภยันตรายที่ผู้ตายก่ออย่างใดไม่ ต่อเมื่อผู้ตายร้องเรียกจำเลยให้เข้ามาต่อสู้พร้อมกับด่าจำเลย จำเลยจึงเข้ากอดปล้ำต่อสู้กับผู้ตาย แต่สู้ไม่ได้เพราะตัวเล็กกว่า จำเลยจึงวิ่งไปหยิบมีดมาแทงผู้ตาย การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำเมื่อภยันตรายดังกล่าวที่ผู้ตายก่อได้ผ่านพ้นไปแล้ว แต่การกระทำของผู้ตายก็ถือได้ว่าเป็นการข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การที่จำเลยใช้มีดแทงผู้ตายไปในระยะเวลาต่อเนื่องกระชั้นชิดกับที่จำเลยยังมีโทสะอยู่การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ หาใช่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 32, 33และให้ริบของกลาง
จำเลยให้การรับว่า จำเลยใช้มีดปลายแหลมแทงนายเมืองดีจันต๊ะธงจริง แต่กระทำไปเพราะบันดาลโทสะ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 72 เมื่อได้พิเคราะห์ถึงพฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นสมควรลงโทษจำเลยสถานเบาโดยวางโทษจำคุก 5 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน ริบของกลาง
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าวันเวลาเกิดเหตุ ขณะที่จำเลยกับภรรยานั่งรับประทานอาหารที่บ้านผู้ตายเข้าไปหาจำเลยแล้ว เตะสำรับกับข้าว และร้องเรียกจำเลยให้เข้ามาต่อสู้กันพร้อมทั้งด่าจำเลย จำเลยเข้ากอดปล้ำต่อสู้กับผู้ตาย แต่จำเลยตัวเล็กกว่าสู้ผู้ตายไม่ไหว จำเลยจึงวิ่งไปที่ตู้กับข้าวหยิบมีดปลายแหลมยาวทั้งด้ามประมาณ 10 นิ้ว แทงผู้ตายโดยเจตนาฆ่า หลังจากถูกแทงผู้ตายเดินกลับไปที่บ้านบิดาผู้ตายแล้วล้มฟุบลงถึงแก่ความตาย จำเลยฎีกาว่า การกระทำของจำเลยสามารถรับฟังได้เป็น 2 นัยว่า เป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะและเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายด้วย จำเลยจึงไม่มีความผิด เห็นว่าการกระทำโดยบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72 เป็นการกระทำที่ผู้กระทำความผิดถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมจึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ส่วนการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 68 เป็นกรณีที่ผู้กระทำจำต้องกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง และได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งไม่อาจเป็นทั้งการกระทำโดยบันดาลโทสะและป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายในขณะเดียวกันได้เนื่องจากภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายที่ผู้กระทำจะใช้สิทธิป้องกันได้จะต้องเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงและขณะใช้สิทธิป้องกันภยันตรายนั้นยังมิได้สิ้นสุดลง หากภยันตรายนั้นผ่านพ้นไปแล้วผู้กระทำก็ไม่อาจใช้สิทธิป้องกันได้ อย่างไรก็ดีภยันตรายดังกล่าวแม้จะผ่านพ้นไปแล้ว แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมอย่างหนึ่ง หากผู้ถูกข่มเหงได้กระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้นคือในระยะเวลาต่อเนื่องที่ตนยังมีโทสะอยู่ ย่อมถือว่าเป็นการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะการที่ผู้ตายเข้าไปหาจำเลยแล้วเตะสำรับกับข้าวที่จำเลยกับภรรยานั่งรับประทานอยู่ แม้จะเป็นการกระทำที่ผู้ตายมีเจตนาทำให้เสียทรัพย์ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นอันถือได้ว่าเป็นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายก็ตาม แต่จำเลยก็หาได้กระทำสิ่งใดเป็นการตอบโต้ ผู้ตายในขณะผู้ตายเตะสำรับกับข้าวของจำเลยไม่ต่อเมื่อผู้ตายร้องเรียกจำเลยให้เข้ามาต่อสู้กันพร้อมทั้งด่าจำเลยจำเลยเกิดโทสะจึงเข้าต่อสู้กับผู้ตาย เมื่อสู้ไม่ได้เพราะตัวเล็กกว่า จำเลยจึงวิ่งไปหยิบมีดมาแทงผู้ตาย การกระทำของจำเลยต่อผู้ตายเป็นการกระทำเมื่อภยันตรายดังกล่าวที่ผู้ตายก่อได้ผ่านพ้นไปแล้ว แต่การกระทำของผู้ตายก็ถือได้ว่า เป็นการข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การที่จำเลยใช้มีดแทงผู้ตายไปในขณะนั้นคือระยะเวลาต่อเนื่องกระชั้นชิดกับที่จำเลยยังมีโทสะอยู่การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ หาใช่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายด้วยในขณะเดียวกันดังที่จำเลยฎีกาไม่ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงอาญาแก่จำเลยนั้นเห็นว่า เหตุบันดาลโทสะคดีนี้ผู้ตายเพียงเข้ามาเตะสำรับกับข้าวที่จำเลยกับภรรยานั่งรับประทานอยู่ และร้องเรียกจำเลยให้เข้ามาต่อสู้กันพร้อมทั้งด่าจำเลยเท่านั้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 2 ปี 6 เดือน โดยไม่รอการลงโทษนั้น เป็นการใช้ดุลพินิจในการลงโทษที่เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share