แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญากฎหมายให้อำนาจพนักงานอัยการในการที่จะเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 เมื่อศาลมีคำสั่งให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์แล้วให้ถือว่า ผู้เสียหายเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 50 แต่ในส่วนของการบังคับคดีส่วนแพ่ง ป.วิ.อ. มาตรา 249 ยังคงให้นำ ป.วิ.พ. มาใช้บังคับ ดังนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 บุคคลที่จะถูกบังคับคดีได้จึงต้องเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล เมื่อมารดาของจำเลยไม่ได้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาประกอบกับคดีนี้ไม่เข้ากรณีที่ผลของคำพิพากษาผูกพันบุคคลภายนอกตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้เสียหายจึงไม่อาจบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของมารดาจำเลยได้ ผู้ร้องต้องใช้สิทธิทางแพ่งฟ้องร้องให้มารดาของจำเลยร่วมรับผิดในฐานละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 429 เป็นอีกคดีหนึ่ง เมื่อไม่ปรากฏว่ามารดาของจำเลยต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ร้องอย่างไร ผู้ร้องจึงไม่อาจอ้างคำพิพากษาคดีนี้เพื่อนำไปใช้บังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินมารดาของจำเลยได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 83 ขณะกระทำผิดจำเลยอายุ 15 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 จำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี จำเลยเพิ่งกระทำความผิดเป็นครั้งแรก นอกจากนั้นผู้ปกครองยังรักใคร่ห่วงใยในตัวจำเลยและประสงค์จะรับตัวจำเลยกลับไปอบรมดูแลเอง จึงเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยได้กลับตนเป็นคนดีสักครั้งหนึ่ง อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ให้รอการลงโทษจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปีและให้คุมประพฤติจำเลยไว้ภายในเวลาดังกล่าว โดยให้จำเลยมารายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 4 เดือนต่อครั้ง ทุกครั้งที่จำเลยมารายงานตัวให้ตรวจปัสสาวะของจำเลยด้วยหากพบสารเสพติดให้รายงานศาลทราบ ให้จำเลยประกอบอาชีพเป็นกิจจะลักษณะ ให้จำเลยตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ห้ามจำเลยคบหาสมาคมกับบุคคลที่มีความประพฤติไม่ดี ห้ามจำเลยเที่ยวเตร่ในเวลากลางคืนหรือในสถานเริงรมย์ทุกแห่ง และห้ามจำเลยยุ่งเกี่ยวกับสิ่งเสพติดให้โทษทุกชนิด กับให้จำเลยคืนหรือชดใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน 307,000 บาท แก่ผู้เสียหาย ยกฟ้องข้อหาลักทรัพย์
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอบังคับคดียึดทรัพย์ของมารดาจำเลย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2545 ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 2138/2545 ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานรับของโจร ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนจำนวน 307,000 บาท แก่นายชนะชัย ผู้เสียหาย ต่อมาผู้เสียหายยื่นคำร้องขออนุญาตยึดทรัพย์จำเลยต่อศาลชั้นต้น ตามคำร้องลงวันที่ 20 มีนาคม 2556 อ้างว่า ผู้ร้องได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 324 ตำบลศาลาธรรมสพน์ อำเภอทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างของมารดาจำเลยเพื่อบังคับคดีในส่วนแพ่ง แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิเสธการนำยึดโดยอ้างว่า จำเลยไม่ได้มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ดังกล่าว เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่มีอำนาจยึดทรัพย์ของบุคคลอื่น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 และคำพิพากษา ไม่ผูกพันบุคคลอื่นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 ศาลชั้นต้นสั่งว่า “การบังคับคดีนั้น ต้องบังคับเอากับทรัพย์สินจำเลยของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้น จึงยกคำร้อง” ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน กรณีมีปัญหาให้วินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่าผู้ปกครองของจำเลยต้องร่วมรับผิดในการชำระหนี้ในคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาของจำเลยตามคำพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัวกลางหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ซึ่งแม้กฎหมายให้อำนาจพนักงานอัยการในการที่จะเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 และเมื่อศาลมีคำสั่งให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์แล้วให้ถือว่าผู้เสียหายเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 50 ก็ตาม แต่ในส่วนของการบังคับคดีส่วนแพ่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 249 ยังคงให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับ ดังนี้ เมื่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 บัญญัติว่า ถ้าคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดี (ลูกหนี้ตามคำพิพากษา) มิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทั้งหมดหรือบางส่วน คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดี (เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา) ชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง โดยอาศัยและตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น ดังนี้ บุคคลที่จะถูกบังคับคดีได้จึงต้องเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล แต่เมื่อมารดาของจำเลยไม่ได้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาประกอบกับคดีนี้ไม่เข้ากรณีที่ผลของคำพิพากษาผูกพันบุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 ผู้ร้องจึงไม่อาจบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของมารดาจำเลยได้ ส่วนที่ผู้ร้องอ้างว่า มารดาของจำเลยต้องร่วมรับผิดกับจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429 นั้น เป็นเรื่องที่ผู้ร้องต้องใช้สิทธิทางแพ่งฟ้องร้องให้มารดาของจำเลยร่วมรับผิดในฐานละเมิดเป็นอีกคดีหนึ่ง ดังนี้ เมื่อไม่ปรากฏว่ามารดาของจำเลยต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายอย่างไร ผู้ร้องจึงไม่อาจอ้างคำพิพากษาคดีนี้เพื่อนำไปใช้บังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินมารดาของจำเลยได้ ส่วนฎีกาของผู้ร้องข้ออื่น ไม่ทำให้ผลคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่วินิจฉัยให้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ