แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยทำหนังสือเลิกจ้างเป็นภาษาอังกฤษและภาษาไทยในฉบับเดียวกัน แม้จำเลยจะเป็นบริษัทต่างประเทศ แต่จำเลยก็ประกอบกิจการในประเทศไทยและโจทก์หรือลูกจ้างอื่น ๆ ของจำเลยก็เป็นคนไทย ฉะนั้นเมื่อมิได้มีข้อความระบุไว้อย่างชัดแจ้งว่าในกรณีที่ข้อความที่เป็นภาษาอังกฤษและข้อความที่เป็นภาษาไทยแตกต่างกันให้ใช้ข้อความส่วนที่เป็นภาษาอังกฤษเป็นหลัก จึงต้องถือว่าเป็นกรณีที่มิอาจหยั่งทราบเจตนาของคู่กรณีได้ว่าจะใช้ภาษาใดบังคับและต้องถือตามข้อความที่เป็นภาษาไทยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 14
ข้อความภาษาไทยระบุถึงเหตุที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ว่าสืบเนื่องมาจากโจทก์ละเลยต่อหน้าที่การงาน ขาดความรับผิดชอบต่อภาระหน้าที่การงานที่ได้รับมอบหมายและประสิทธิภาพในการทำงานของโจทก์ไม่เป็นที่ยอมรับของจำเลย สาเหตุที่ระบุไว้ในหนังสือเลิกจ้างโจทก์ดังกล่าวมิใช่สาเหตุที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 ฉะนั้น จำเลยจะยกเหตุตามมาตรา 119 ขึ้นอ้างเพื่อไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์หาได้ไม่ตามมาตรา 17 วรรคสาม
ข้อห้ามตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสาม หมายถึงจำเลยจะยกเหตุอื่นเพื่อไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้หากมิได้ระบุเหตุดังกล่าวไว้ในหนังสือเลิกจ้างเท่านั้น ไม่รวมถึงข้อต่อสู้ในเรื่องที่จำเลยอ้างว่าไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ด้วย ฉะนั้นแม้ในหนังสือเลิกจ้างจำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุที่โจทก์ละเลยต่อหน้าที่การงานและขาดความรับผิดชอบต่อภาระหน้าที่การงานที่ได้รับมอบหมาย จำเลยก็สามารถยกเหตุการณ์การกระทำผิดอื่น ๆของโจทก์ตามที่ระบุไว้ในคำให้การขึ้นต่อสู้เพื่อไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2542 จำเลยรับโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างทำหน้าที่ซ่อมบำรุง ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 16,500 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาวันที่ 5 มีนาคม 2544 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างเหตุว่าโจทก์ละเลยต่อหน้าที่การงาน ซึ่งไม่เป็นความจริง โจทก์ทำงานกับจำเลยติดต่อกันครบ 1 ปีแต่ไม่ครบ 3 ปี จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายจำนวน 90 วัน คิดเป็นเงิน 49,500 บาท นอกจากนี้โจทก์ยังมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 56 วัน คิดเป็นเงิน 30,800 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 30,800 บาท และค่าชดเชยจำนวน 49,500 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยรับโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งช่างเทคนิค มีหน้าที่รับผิดชอบตรวจสอบ ดูแล บำรุงรักษาและซ่อมแซมอุปกรณ์การผลิต เครื่องมือเครื่องใช้และเครื่องจักรกลต่าง ๆ ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ประมาทเลินเล่อทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงและไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรอันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 49,500 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 30,800 บาท รวมเป็นเงิน 80,300 บาท แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยจะยกข้อต่อสู้ตามคำให้การของจำเลยที่ว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง และไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร มาเป็นเหตุไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ได้หรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ความว่า ตามหนังสือเลิกจ้างของจำเลยเอกสารหมาย ล.14 มีข้อความภาษาอังกฤษระบุเหตุผลที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์อย่างชัดเจนว่า โจทก์ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงซึ่งเป็นข้อต่อสู้ของจำเลยตามคำให้การแม้หนังสือเลิกจ้างเอกสารหมาย ล.14 จะมีข้อความเป็นภาษาไทยอยู่ด้วยก็ตาม ก็ต้องใช้ข้อความที่เป็นภาษาอังกฤษจึงจะสามารถหยั่งทราบเจตนาของคู่กรณีได้เนื่องจากจำเลยเป็นบริษัทของชาวต่างประเทศและกรรมการของจำเลยทั้งหมดก็เป็นชาวต่างประเทศเห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 14 บัญญัติว่า “ในกรณีที่เอกสารทำขึ้นไว้หลายภาษา ไม่ว่าจะเป็นฉบับเดียวกันหรือหลายฉบับก็ตามโดยมีภาษาไทยด้วย ถ้าข้อความในหลายภาษานั้นแตกต่างกัน และมิอาจหยั่งทราบเจตนาของคู่กรณีได้ว่าจะใช้ภาษาใดบังคับ ให้ถือตามภาษาไทย”ข้อเท็จจริงปรากฏตามหนังสือเลิกจ้างเอกสารหมาย ล.14 ว่า จำเลยได้จัดทำขึ้นเป็นสองภาษาคือภาษาอังกฤษและภาษาไทยในฉบับเดียวกันแม้จำเลยจะเป็นบริษัทต่างประเทศตามที่จำเลยอุทธรณ์ก็ตาม แต่จำเลยก็ประกอบกิจการในประเทศไทยและโจทก์หรือลูกจ้างอื่น ๆ ของจำเลยก็เป็นคนไทย ฉะนั้นเมื่อเอกสารหมาย ล.14 มิได้มีข้อความระบุไว้อย่างชัดแจ้งว่าในกรณีที่ข้อความที่เป็นภาษาอังกฤษและข้อความที่เป็นภาษาไทยแตกต่างกันให้ใช้ข้อความส่วนที่เป็นภาษาอังกฤษเป็นหลัก จึงต้องถือว่าเป็นกรณีที่มิอาจหยั่งทราบเจตนาของคู่กรณีได้ว่าจะใช้ภาษาใดบังคับและต้องถือตามข้อความที่เป็นภาษาไทยตามบทกฎหมายดังกล่าว ซึ่งข้อความเป็นภาษาไทยระบุถึงเหตุที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ว่าสืบเนื่องมาจากโจทก์ละเลยต่อหน้าที่การงาน ขาดความรับผิดชอบต่อภาระหน้าที่การงานที่ได้รับมอบหมายและประสิทธิภาพในการทำงานของโจทก์ไม่เป็นที่ยอมรับของจำเลยสาเหตุที่จำเลยระบุไว้ในหนังสือเลิกจ้างโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.14 มิใช่สาเหตุที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 มาตรา 119 ฉะนั้น จำเลยจะยกเหตุตามมาตรา 119 ขึ้นอ้างเพื่อไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ในภายหลังหาได้ไม่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541มาตรา 17 วรรคสาม จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ อุทธรณ์ของจำเลยในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยในข้อที่ว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์นั้น เห็นว่า ข้อห้ามตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541มาตรา 17 วรรคสาม ที่บัญญัติว่า “ในกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้าง ถ้านายจ้างไม่ได้ระบุเหตุผลไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง นายจ้างจะยกเหตุตามมาตรา 119 ขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้” นั้น หมายถึงจำเลยจะยกเหตุอื่นเพื่อไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้ หากมิได้ระบุเหตุดังกล่าวไว้ในหนังสือเลิกจ้างเท่านั้นไม่รวมถึงข้อต่อสู้ในเรื่องที่จำเลยอ้างว่าไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ด้วย ฉะนั้น แม้ในหนังสือเลิกจ้างจำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุที่โจทก์ละเลยต่อหน้าที่การงานและขาดความรับผิดชอบต่อภาระหน้าที่การงานที่ได้รับมอบหมาย จำเลยก็สามารถยกเหตุการณ์การกระทำผิดอื่น ๆ ของโจทก์ตามที่ระบุไว้ในคำให้การขึ้นต่อสู้เพื่อไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ได้ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยไม่อาจยกข้อต่อสู้ตามคำให้การมาเป็นเหตุไม่จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ได้นั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยในส่วนนี้ฟังขึ้น คดีจึงยังมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์ได้กระทำการตามที่จำเลยให้การต่อสู้คดี และจะเป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือไม่ ซึ่งศาลแรงงานกลางยังมิได้วินิจฉัยจึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางพิพากษาในปัญหาดังกล่าวต่อไป
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางที่ให้จำเลยชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ ให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาวินิจฉัยข้อต่อสู้ตามคำให้การของจำเลยว่าจำเลยจะต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์หรือไม่ แล้วมีคำพิพากษาไปตามรูปคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง”