คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6590/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 63 “บุคคลใดถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่าย และนำส่งแล้วเป็นจำนวนเงินเกินกว่าที่ควรต้องเสียภาษีตามส่วนนี้ บุคคลนั้นมีสิทธิได้รับเงินจำนวนที่เกินนั้นคืน แต่ต้องยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานประเมินภายในสามปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งปีซึ่งถูกหักภาษีเกินไป” อันเป็นบทบัญญัติในส่วน 2 การเก็บภาษีจากบุคคลธรรมดา ซึ่งมาตรา 63 บัญญัติเรื่องการขอคืนเงินภาษีไว้โดยเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจนำมาตรา 27 ตรี ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับแก่การขอคืนเงินภาษีอากรและเงินภาษีที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่ายในกรณีทั่วไปมาใช้บังคับได้ โจทก์จึงต้องยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่ายในปี 2550 ภายในสามปี นับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2550 อันเป็นวันสุดท้ายแห่งปีที่โจทก์ถูกหักภาษีเกินไป ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2553 แต่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติมและขอคืนเงินภาษีเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2554 จึงเป็นการยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีเมื่อพ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งไม่คืนภาษีหรือคำสั่งระงับสิทธิการขอคืนภาษีของสรรพากรพื้นที่เชียงใหม่ 1 ตามหนังสือที่ กค.0712.01/8338 ลงวันที่ 29 เมษายน 2554 และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของสรรพากรภาค 8 ตามหนังสือที่ กค0712/กร/8385 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2554 ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินภาษีอากร 115,049.21 บาท พร้อมดอกเบี้ย 3,873.33 บาท รวม 118,922.54 บาท และให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนของต้นเงิน 115,049.21 บาท แก่โจทก์ นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งไม่คืนภาษีหรือคำสั่งระงับสิทธิการขอคืนภาษีของสรรพากรพื้นที่เชียงใหม่ 1 ตามหนังสือที่ กค.0712.01/8338 ลงวันที่ 29 เมษายน 2554 และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของสรรพากรภาค 8 ตามหนังสือที่ กค 0712/กร/8385 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2554 ให้จำเลยคืนเงินภาษีอากรจำนวน 115,049.21 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 25 มีนาคม 2554 เป็นต้นไป แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินกว่าจำนวนภาษีที่โจทก์มีสิทธิได้รับ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่า โจทก์ขอคืนเงินภาษีอากรภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ เห็นว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 63 บัญญัติว่า “บุคคลใดถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่าย และนำส่งแล้วเป็นจำนวนเงินเกินกว่าที่ควรต้องเสียภาษีตามส่วนนี้ บุคคลนั้นมีสิทธิได้รับเงินจำนวนที่เกินนั้นคืน แต่ต้องยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานประเมินภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งปีซึ่งถูกหักภาษีเกินไป” จะเห็นได้ว่าบทบัญญัติมาตราดังกล่าวเป็นบทบัญญัติกรณีบุคคลธรรมดาถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ไว้เกินกว่าที่ควรต้องเสียภาษีในส่วนนี้แล้วขอคืนภาษี ซึ่งบุคคลผู้ขอคืนภาษีนั้นจะต้องยื่นคำร้องขอคืนภาษีภายในระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ คือ ภายในสามปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งปีที่ถูกหักภาษีเกินไป สำหรับกรณีของโจทก์นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า ในปีภาษี 2550 โจทก์มีเงินได้พึงประเมินประเภทเงินเดือนตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (1) เงินได้จากการรับทำงานให้ตามมาตรา 40 (2) และเงินได้ประเภทเงินปันผลจากบริษัทยูเนียน เซฟตี้ ฯ ตามมาตรา 40 (4) (ข) ซึ่งโจทก์ได้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ โดยเงินได้ประเภทเงินเดือนถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 65,313.50 บาท และเงินได้ประเภทเงินปันผลที่โจทก์ได้รับจากบริษัทยูเนี่ยน เซฟตี้ ฯ ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 33,200 บาท ตามหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย จึงเป็นการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 อันเป็นบทบัญญัติที่อยู่ในส่วน 2 การเก็บภาษีจากบุคคลธรรมดา ต่อมาวันที่ 24 มีนาคม 2554 โจทก์มายื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90) ประจำปีภาษี 2550 เพิ่มเติม โดยนำเงินปันผลจากบริษัทยูเนียน เซฟตี้ ฯ และเครดิตภาษีเงินปันผลมารวมคำนวณเป็นเงินได้พึงประเมินด้วย ตามแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90) ประจำปีภาษี 2550 อันเป็นการใช้สิทธิตามมาตรา 47 ทวิ วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้ผู้มีเงินได้ตามมาตรา 40 (4) (ข) ได้รับเครดิตในการคำนวณภาษี… และตามวรรคสองให้นำเครดิตภาษีที่คำนวณได้ตามความในวรรคหนึ่งมารวมคำนวณเป็นเงินได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามเกณฑ์ ในมาตรา 48 เป็นเงินภาษีทั้งสิ้นเท่าใดให้นำเครดิตภาษีที่คำนวณได้ดังกล่าวหักออกจากภาษีที่ต้องเสีย ถ้ายังขาดหรือเหลือเท่าใดให้ผู้มีเงินได้เสียภาษีสำหรับจำนวนที่ขาด หรือมีสิทธิได้รับจำนวนเงินที่เหลือคืน ปรากฏตามแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของโจทก์ดังกล่าวว่า โจทก์นำเงินได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อนและเงินบริจาคต่าง ๆ มาคำนวณภาษี หลังจากนั้นโจทก์นำภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายที่โจทก์ถูกหักไว้แล้วมารวมกับเครดิตภาษีเงินปันผลตามมาตรา 47 ทวิ แล้วนำมาหักออกจากเงินภาษีที่โจทก์ต้องชำระ ตามวิธีการคำนวณภาษีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 47 ทวิ วรรคสอง และมาตรา 60 ที่ให้นำเงินภาษีหัก ณ ที่จ่าย และเงินเครดิตภาษีเงินปันผลมาหักออกจากเงินภาษีที่ต้องเสีย ผลคือทำให้โจทก์มีเงินภาษีที่ชำระไว้เกิน โจทก์จึงขอคืนเงินภาษีที่ชำระไว้เกินดังกล่าว ดังนั้น การที่โจทก์มายื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปีภาษี 2550 เพิ่มเติม และแสดงรายการคำนวณภาษีใหม่ทั้งหมดโดยนำเงินปันผลที่ได้รับจากบริษัทยูเนียน เซฟตี้ ฯ และเงินเครดิตภาษีมาคำนวณภาษีเงินได้ก็เนื่องมาจากโจทก์ประสงค์ที่จะขอคืนภาษีเงินได้ที่รวมถึงภาษีที่โจทก์ถูกหักไว้ ณ ที่จ่ายและนำส่งแล้วเป็นจำนวนเงินเกินกว่าที่ควรต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามส่วนนี้คือ ส่วน 2 การเก็บภาษีจากบุคคลธรรมดา ซึ่งประมวลรัษฎากร มาตรา 63 บัญญัติเรื่องการขอคืนเงินภาษีไว้โดยเฉพาะแล้ว หาใช่เป็นกรณีที่โจทก์เลือกใช้สิทธิในการเลือกเสียภาษีโดยนำสิทธิในการที่ตนได้รับเครดิตภาษีมารวมคำนวณ โจทก์จึงต้องยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีรายนี้ต่อเจ้าพนักงานประเมินภายในสามปี นับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2550 อันเป็นวันสุดท้ายแห่งปีที่โจทก์ถูกหักภาษีเกินไป โจทก์จึงต้องยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2553 แต่ปรากฏว่าโจทก์เพิ่งยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติมและขอคืนเงินภาษี เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2554 จึงเป็นการยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีเมื่อพ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ จำเลยจึงไม่ต้องคืนเงินภาษีให้แก่โจทก์ และกรณีนี้ไม่อาจนำบทบัญญัติตามมาตรา 27 ตรี ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับแก่การขอคืนเงินภาษีอากรและเงินภาษีที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่ายในกรณีทั่วไปมาใช้บังคับได้ เนื่องจากมีบทบัญญัติตามมาตรา 63 ใช้บังคับไว้โดยเฉพาะแล้ว ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยคืนเงินภาษีอากรพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์มานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยและคำแก้อุทธรณ์ประการอื่นอีก เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

Share