แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 3 ฎีกาฝ่ายเดียว และข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้ค่าสินค้าบางส่วนเป็นเงิน 52,000 บาทจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปแล้ว ดังนี้แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2จะมิได้ฎีกา แต่เมื่อเป็นหนี้ร่วมกันจะแบ่งแยกกันมิได้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมได้รับผลเป็นคุณด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1) ประกอบด้วยมาตรา 247 การผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ที่ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิดนั้น จะต้องเป็นการตกลงผ่อนเวลาแน่นอนและมีผลว่าในระหว่างผ่อนเวลานั้นเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องฟ้องร้องไม่ได้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ซื้อสินค้าโจทก์ และจำเลยที่ 3ได้ทำสัญญาค้ำประกัน แล้วจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผิดนัดชำระหนี้แม้จำเลยที่ 2 จะสั่งจ่ายเช็คลงวันที่ล่วงหน้าชำระหนี้แก่โจทก์แทนเช็คฉบับเก่า แต่เมื่อโจทก์ยังสามารถบังคับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระหนี้ตามมูลหนี้ซื้อขายได้ กรณีไม่ใช่เป็นการตกลงกำหนดวันหรือระยะเวลาชำระหนี้ให้เป็นการแน่นอน จึงไม่เป็นการที่เจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้อันผู้ค้ำประกันจึงหลุดพ้นจากความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 700 จำเลยที่ 3จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 สั่งซื้อสินค้าประเภทน้ำมันหล่อลื่นไปจากโจทก์ ตามที่จำเลยที่ 3 ติดต่อเสนอขายเป็นเงิน205,000 บาท มีจำเลยที่ 3 เข้าค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่และที่ 2 ต่อโจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คจำนวนเงิน 205,000บาท ชำระหนี้ค่าสินค้าดังกล่าวให้แก่โจทก์ เมื่อครบกำหนดธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 25536 โจทก์ทวงถามจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ชำระหนี้ แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 บ่ายเบี่ยงไม่ยอมชำระหนี้ จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ในหนี้จำนวน205,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2536 ถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ยจำนวน 19,218 บาทรวมเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยทั้งสิ้น 224,218 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 224,218 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 205,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า โจทก์ผ่อนเวลาชำระหนี้ให้จำเลยที่ 1ไปเป็นวันที่ 29 เมษายน 2536 โดยจำเลยที่ 3 ไม่ได้ยินยอมด้วยจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงหลุดพ้นจากความรับผิด
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 153,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครั่งต่อปีจากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ดอกเบี้ยเมื่อคำนวณถึงวันฟ้อง ต้องไม่เกิน19,218 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2ร่วมกันชำระเงินจำนวน 205,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2536เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยเมื่อคำนวณถึงวันฟ้อง ต้องไม่เกิน 19,218 บาท หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 3 ชำระแทน
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อเดือนธันวาคม 2535 จำเลยที่ 3 ลูกจ้างโจทก์ได้ขายน้ำมันหล่อลื่นให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเงิน 205,000 บาท โดยจำเลยที่ 3เป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำเลยที่ 1ได้สั่งจ่ายเช็คธนาคารเอเซีย จำกัด สาขาสระบุรี ลงวันที่ 29เมษายน 2536 จำนวนเงิน 205,000 บาท ชำระหนี้ค่าสินค้าให้แก่โจทก์ธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2536จำเลยที่ 2 ได้ชำระหนี้ค่าสินค้าเป็นเช็คให้แก่โจทก์ 6 ฉบับแต่เรียกเก็บเงินไม่ได้พร้อมทั้งได้ทำบันทึกการชำระหนี้ให้ไว้แก่โจทก์
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ในประการแรกว่า โจทก์ได้รับชำระหนี้บางส่วนจำนวน 52,000 บาท จากจำเลยที่ 2แล้วหรือไม่ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่า โจทก์ได้รับชำระหนี้ค่าสินค้าบางส่วนเป็นเงิน 52,000 บาท จากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปแล้ว ดังนี้แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะมิได้ฎีกา โดยจำเลยที่ 3 ผู้เดียวฎีกาก็เป็นหนี้ร่วมกันจะแบ่งแยกกันมิได้ จำเลยที่ 1และที่ 2 ย่อมได้รับผลเป็นคุณด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1) ประกอบด้วยมาตรา 247
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยประการต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 3 มีว่าโจทก์ผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อันทำให้จำเลยที่ 3หลุดพ้นจากความรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันหรือไม่ เห็นว่า การผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้จะทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิดนั้นจะต้องเป็นการตกลงผ่อนเวลาแน่นอน และมีผลว่าในระหว่างผ่อนเวลานั้นเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องฟ้องร้องไม่ได้ ซึ่งข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ซื้อสินค้าโจทก์ และจำเลยที่ 3ได้ทำสัญญาประกันแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ผิดนัดชำระหนี้ ดังนี้แม้จำเลยที่ 2 จะสั่งจ่ายเช็คลงวันที่ล่วงหน้าชำระหนี้แก่โจทก์แทนเช็คฉบับเก่าโจทก์ก็ยังสามารถบังคับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2ชำระหนี้ตามมูลหนี้ซื้อขายได้จึงไม่ใช่เป็นการตกลงกำหนดวันหรือระยะเวลาชำระหนี้ให้เป็นการแน่นอนแต่อย่างไรไม่ กรณีจึงไม่ใช่เป็นการที่เจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้อันผู้ค้ำประกันจะหลุดพ้นจากความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 700จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 153,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2536 แต่ดอกเบี้ยเมื่อคำนวณถึงวันฟ้อง ต้องไม่เกิน 19,218 บาท หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 3 ชำระแทน