คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 564/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โฉนดที่ดินพิพาทมีชื่อจำเลยที่16เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แต่ผู้เดียวทั้งๆที่คณะกรรมการสวัสดิการการหลังงานแห่งชาติเป็นเจ้าของอยู่ด้วยครึ่งหนึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่ทราบแน่นอนว่าที่ดินส่วนใดเป็นของคณะกรรมการดังนั้นในเบื้องต้นที่โจทก์ทั้งสองมีหนังสือเสนอขอซื้อที่ดินตามโฉนดที่ดินพิพาททั้งแปลงจำนวน41ไร่12ตารางวาจากคณะกรรมการไปยังคณะกรรมการนั้นโจทก์ทั้งสองก็ยังไม่รู้ว่าที่ดินส่วนใดในโฉนดที่ดินดังกล่าวเป็นของคณะกรรมการคงได้แต่เสนอราคาและเงื่อนไขการจ่ายเงินซึ่งเมื่อคณะกรรมการได้รับคำเสนอของโจทก์ทั้งสองแล้วคณะกรรมการได้มีหนังสือเอกสารหมายจ.3ตอบมายังโจทก์ทั้งสองว่าตกลงขายที่ดินพิพาทในส่วนที่เป็นของคณะกรรมการจำนวน20ไร่206ตารางวาให้โจทก์ทั้งสองโดยมีเงื่อนไขอันเป็นสาระสำคัญว่า”เมื่อได้ทำสัญญาตกลงซื้อขายกันแล้วขอให้ชำระเงินทั้งหมดและผู้ขายจะได้ดำเนินการโอนโฉนดที่ดินให้พร้อมกันทันทีจึงเรียนมาเพื่อทราบและหากท่านมีความประสงค์จะซื้อที่ดินดังกล่าวขอให้แจ้งคณะกรรมการสสพช.ทราบ”ซึ่งเมื่อโจทก์ทั้งสองได้รับหนังสือเอกสารหมายจ.3ดังกล่าวแล้วโจทก์ทั้งสองได้ตอบไปยังคณะกรรมการซึ่งมีสารสำคัญว่า”ข้าพเจ้ามีรายนามข้างท้ายนี้ยินดีตกลงซื้อที่ดินในส่วนของคณะกรรมการสสพช.จำนวน20ไร่206ตารางวาตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการสสพช.แจ้งมาดังมีรายละเอียดตามหนังสือที่อ้างถึงข้อ2.โดยขอให้คณะกรรมการสสพช.แบ่งโฉนดที่ดินหมายเลข287จำนวน41ไร่12ตารางวาเป็น2ส่วนเท่าๆกันตามความยาวของพื้นที่โดยข้าพเจ้ายินดีจะรับซื้อที่ดินในส่วนของคณะกรรมการสสพช.แปลงที่แบ่งเท่าๆกันแล้วตามความยาวของพื้นที่แปลงใดก็ได้ตามแต่คณะกรรมการสสพช.จะแจ้งขายให้ข้าพเจ้าโดยข้าพเจ้ายินดีวางเงินมัดจำในการตกลงซื้อขายก่อนจำนวน100,000บาทและในวันโอนที่ดินดังกล่าวข้าพเจ้าจะจ่ายเงินสดส่วนที่เหลือทั้งหมดทันทีจึงเรียนมาเพื่อทราบและขอได้โปรดแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบวันนัดหมายในการตกลงซื้อขายที่ดินในส่วนของคณะกรรมการสสพช.จำนวน20ไร่206ตารางวาให้ข้าพเจ้าทราบด้วยเพื่อจะได้ดำเนินการต่อไป”ตามหนังสือเอกสารหมายจ.4ดังกล่าวแสดงว่าเงื่อนไขที่กำหนดให้มีการแบ่งแยกโฉนดที่ดินเพื่อให้ได้เนื้อที่ครึ่งหนึ่งเป็น2ส่วนเท่าๆกันก่อนแล้วจึงจะมีการตกลงทำสัญญาซื้อขายและชำระเงินค่าซื้อที่ดินทั้งหมดต่อกันนั้นเป็นสาระสำคัญที่คณะกรรมการกับโจทก์ทั้งสองตกลงกันหนังสือเอกสารหมายจ.4จึงยังไม่เป็นคำสนองที่ตรงกับคำเสนอตามหนังสือเอกสารหมายจ.3แต่อย่างใดส่วนหนังสือเอกสารหมายจ.9ที่คณะกรรมการตอบมายังโจทก์ทั้งสองนั้นเป็นเพียงการแจ้งให้ทราบว่าคณะกรรมการไม่อาจแบ่งแยกโฉนดที่ดินได้จึงขอยกเลิกคำเสนอขอซื้อที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งสองเสียให้ชัดเจนขึ้นเท่านั้นและหนังสือลงวันที่29พฤษภาคม2533ของคณะกรรมการเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข11ก็เป็นเพียงแจ้งให้โจทก์ทั้งสองทราบว่าหากคดีที่คณะกรรมการฟ้องผู้บุกรุกที่ดินตามโฉนดที่ดินพิพาทสิ้นสุดลงเมื่อใดและโจทก์ทั้งสองยังสนใจจะซื้อที่ดินดังกล่าวต่อไปก็ให้เสนอราคาขึ้นมาใหม่เท่านั้นจึงไม่ถือว่าหนังสือดังกล่าวเป็นหนังสือที่ประกอบให้รับฟังว่าคำเสนอและคำสนองของทั้งสองฝ่ายตรงกันจนเกิดเป็นสัญญาขึ้นแล้วแต่อย่างใดฉะนั้นเมื่อยังไม่มีการแบ่งแยกโฉนดที่ดินและทำสัญญาซื้อขายกันระหว่างโจทก์ทั้งสองกับคณะกรรมการอันเป็นสาระสำคัญแห่งสัญญาที่คู่สัญญายังไม่อาจตกลงกันได้หมดทุกข้ออยู่ตราบใดสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับคณะกรรมการจึงยังไม่เกิดขึ้นหรือยังมิได้มีต่อกันตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา366โจทก์ทั้งสองจึงยังไม่มีอำนาจฟ้องคณะกรรมการและจำเลยที่1กับจำเลยที่16ให้ปฏิบัติตามหนังสือเอกสารหมายจ.4ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 มีฐานะเทียบเท่ากรมในรัฐบาลสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพลังงานจำเลยที่ 2ถึงที่ 15 เป็นข้าราชการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ได้แต่งตั้งและมอบหมายให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 15 เป็นคณะกรรมการสวัสดิการการพลังงานแห่งชาติ โดยให้จำเลยที่ 2 เป็นประธานคณะกรรมการคณะกรรมการดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการดูแลจัดการรักษาจัดการผลประโยชน์และทรัพย์สินเพื่อผลประโยชน์ของหน่วยงานและของข้าราชการจำเลยที่ 1 ทั้งหมด ส่วนจำเลยที่ 16 เป็นข้าราชการบำนาญสังกัดในหน่วยงานของจำเลยที่ 1 และเคยปฏิบัติราชการในตำแหน่งเลขาธิการของจำเลยที่ 1คณะกรรมการสวัสดิการการพลังงานแห่งชาติได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 16 ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 287 ตำบลประเวศ(คลองประเวศฝั่งใต้) อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของคณะกรรมการสวัสดิการการพลังงานแห่งชาติแทนครึ่งหนึ่งคิดเป็นเนื้อที่ 20 ไร่ 206 ตารางวา เมื่อประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2531 โจทก์ทั้งสองทราบว่าคณะกรรมการสวัสดิการการพลังงานแห่งชาติมีความประสงค์จะขายที่ดินเฉพาะส่วนของคณะกรรมการให้บุคคลทั่วไป โจทก์ทั้งสองจึงมีคำเสนอขอซื้อที่ดินในราคาตารางวาละ 1,200 บาท โดยโจทก์ทั้งสองจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดและจะชำระเงินค่ามัดจำร้อยละ 10 ของราคาที่ดินทั้งหมด ส่วนที่เหลือจะชำระภายใน 1 ปี ซึ่งคณะกรรมการโดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 15 ได้ตกลงขายที่ดินเฉพาะส่วนของตนให้แก่โจทก์ทั้งสองเมื่อแบ่งแยกเสร็จแล้ว โอนที่ดินให้โจทก์ทั้งสองและชำระราคาที่ดินทั้งหมดโดยไม่ต้องวางเงินมัดจำโดยมีหนังสือให้โจทก์ทราบหลังจากนั้นโจทก์ทั้งสองได้มีหนังสือทวงถามให้คณะกรรมการดังกล่าวปฏิบัติตามคำสนองขายที่ดินให้โจทก์ทั้งสองและรับชำระราคาที่ดินพร้อมทั้งโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้โจทก์ทั้งสองหลายครั้งต่อมาวันที่28 มีนาคม 2533 คณะกรรมการได้มีหนังสือถึงโจทก์ทั้งสองขอบอกเลิกคำเสนอซื้อที่ดินของโจทก์ โดยอ้างว่าไม่สามารถที่จะแบ่งแยกที่ดินได้ เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2533 และวันที่ 15 พฤษภาคม 2533โจทก์ทั้งสองมีหนังสือยืนยันไปยังคณะกรรมการให้ปฏิบัติตามคำสนองขายที่ดินแก่โจทก์ทั้งสองภายใน 15 วันนับแต่วันรับหนังสือ ต่อมาวันที่ 29 พฤษภาคม 2533 เลขานุการของคณะกรรมการได้มีหนังสือถึงโจทก์ทั้งสองว่า เหตุที่ยังขายที่ดินแก่โจทก์ทั้งสองไม่ได้เพราะแบ่งแยกโฉนดที่ดินไม่แล้วเสร็จและให้โจทก์ทั้งสองปรับราคาที่ดินให้สอดคล้องกับราคาที่ดินในเวลาซื้อขายด้วย โจทก์ทั้งสองได้ทวงถามให้คณะกรรมการปฏิบัติตามคำสนองขายที่ดินหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายโจทก์ทั้งสองมอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือถึงคณะกรรมการให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและรับชำระราคาที่ดินจากโจทก์ทั้งสอง ณ สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร (สาขาพระโขนง) ในวันที่ 21 กันยายน 2533เวลา 9 นาฬิกา แต่คณะกรรมการก็เพิกเฉย โจทก์แจ้งเจ้าพนักงานตำรวจให้ลงบันทึกประจำวันเป็นหลักฐานไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลประเวศ โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายเพราะไม่สามารถนำที่ดินดังกล่าวไปปรับปรุงพัฒนาเพื่อประโยชน์ทางการค้าของโจทก์ทั้งสอง คิดเป็นค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นเงิน 10,000,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบหกร่วมกันหรือแทนกันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 287 ตำบลประเวศ (คลองประเวศฝั่งใต้) อำเภอพระโขนงกรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 20 ไร่ 206 ตารางวา แก่โจทก์ทั้งสองหากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสิบหก ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 15 ร่วมกันหรือแทนกันรับชำระราคาที่ดินในราคาตารางวาละ 1,200 บาท จากเนื้อที่ดินจำนวน 20 ไร่206 ตารางวา เป็นเงิน 9,847,200 บาท จากโจทก์ทั้งสองและให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 15 ร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 10,000,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1คณะกรรมการตามฟ้องมิได้เป็นส่วนราชการของจำเลยที่ 1 แต่ได้จัดตั้งขึ้นโดยอาศัยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการ พ.ศ. 2530 และระเบียบเงินสวัสดิการการพลังงานแห่งชาติ พ.ศ. 2532 เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2ถึง 4 เป็นเพียงคำเสนอที่มีเงื่อนไขของโจทก์ทั้งสองและคำสนองที่มีเงื่อนไขของคณะกรรมการ ซึ่งจะต้องทำสัญญาจะซื้อขายกันอีกครั้งหนึ่งสัญญาระหว่างโจทก์ทั้งสองกับคณะกรรมการจึงยังไม่เกิดขึ้นส่วนค่าเสียหายจำนวน 10,000,000 บาท ที่โจทก์ทั้งสองเรียกร้องเป็นค่าเสียหายในอนาคตที่โจทก์ทั้งสองคาดการณ์เอาเอง จำเลยที่ 1จึงไม่ต้องรับผิดขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 และที่ 11 ถึงที่ 15 ให้การว่า ที่ดินตามฟ้องมีเนื้อที่ทั้งหมด 41 ไร่ 12 ตารางวา เป็นของจำเลยที่ 16 กับคณะกรรมการสวัสดิการการพลังงานแห่งชาติคนละครึ่ง ต่อมาโจทก์ทั้งสองได้มีหนังสือถึงคณะกรรมการขอซื้อที่ดินทั้งแปลงในราคาตารางวาละ 1,200 บาท โดยโจทก์ทั้งสองจะเป็นผู้ออกค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนโอน ค่าภาษีเงินได้และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในการโอนที่ดินทั้งหมดและโจทก์ทั้งสองจะวางเงินมัดจำร้อยละ 10 ภายใน10 วัน นับจากวันที่ตกลงซื้อขายกันโดยผู้ซื้อจะทำการโอนโฉนดที่ดินให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับจากวันที่ตกลงซื้อขายกันพร้อมชำระเงินที่เหลือทั้งหมด คณะกรรมการได้พิจารณาแล้วมีมติให้แบ่งแยกที่ดินออกเป็นส่วนของคณะกรรมการก่อนว่าอยู่บริเวณใดและส่วนใด และตกลงจะขายให้โจทก์ทั้งสองเฉพาะในส่วนอันเป็นกรรมสิทธิ์ของคณะกรรมการจำนวน 20 ไร่ 206 ตารางวาในราคาสุทธิตารางวาละ 1,200 บาท โดยโจทก์ทั้งสองจะต้องเป็นผู้ออกค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนโอน ค่าภาษีเงินได้และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ตลอดจนค่ารังวัดแบ่งแยกที่ดินทั้งหมดเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกันแล้ว โจทก์ทั้งสองจะต้องชำระเงินทั้งหมด แล้วคณะกรรมการจะดำเนินการโอนที่ดินให้พร้อมกันทันทีซึ่งจำเลยที่ 2 ในฐานะประธานคณะกรรมการได้มีหนังสือแจ้งมติของคณะกรรมการให้โจทก์ทั้งสองทราบแล้ว ต่อมาโจทก์ทั้งสองมีหนังสือลงวันที่ 15 สิงหาคม 2531 แจ้งมายังคณะกรรมการว่าตกลงตามเงื่อนไขที่แจ้ง ขอให้คณะกรรมการแบ่งแยกที่ดินออกเป็น 2 ส่วน เท่า ๆ กัน และโจทก์ทั้งสองยินดีรับซื้อที่ดินแปลงใดก็ได้แต่ในตอนท้ายหนังสือดังกล่าว โจทก์ทั้งสองกลับขอวางมัดจำในการตกลงซื้อขายเป็นเงิน 100,000 บาทส่วนที่เหลือจะชำระในวันโอนที่ดินทันที คำเสนอของโจทก์ทั้งสองจึงไม่ตรงกับคำเสนอหรือมติของคณะกรรมการที่แจ้งให้โจทก์ทั้งสองทราบ สัญญาจะซื้อขายจึงยังไม่เกิดขึ้น ถึงแม้จะถือว่าสัญญาจะซื้อขายระหว่างโจทก์ทั้งสองกับคณะกรรมการเกิดขึ้นแล้วแต่สัญญาดังกล่าวก็ยังมีเงื่อนไขบังคับ ก่อนที่จะต้องแบ่งแยกที่ดินออกเป็นส่วนของคณะกรรมการและจำเลยที่ 16 เสียก่อนเมื่อยังไม่มีการแบ่งแยกที่ดินกันสัญญาจะซื้อขายที่ดินจึงยังไม่เกิดขึ้น คณะกรรมการจึงยังไม่ผิดนัดหรือผิดสัญญาแต่อย่างใดทั้งโจทก์ทั้งสองก็ยังไม่ได้รับความเสียหายตามที่อ้างเนื่องจากเป็นเพียงความคาดหมายในผลกำไรอันถึงได้รับในอนาคตสำหรับจำเลยที่ 4นั้น มิได้เป็นคณะกรรมการสวัสดิการการพลังงานแห่งชาติขณะเกิดเหตุเนื่องจากได้ลาออกตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2531และกลับเข้ารับราชการเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2533 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 10 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 16 ให้การว่า จำเลยที่ 16 มิได้เกี่ยวข้องในการทำคำเสนอและคำสนองระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 2ถึงที่ 15 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง
โจทก์ ทั้ง สอง อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ ทั้ง สอง ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองมีว่า หนังสือเอกสารหมาย จ.4 ที่โจทก์ทั้งสองตอบไปยังคณะกรรมการสวัสดิการการพลังงานแห่งชาติเป็นคำสนองที่ตรงกับหนังสือเอกสารหมาย จ.3 ของคณะกรรมการซึ่งเป็นคำเสนอขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งสองและเกิดเป็นสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทซึ่งคณะกรรมการต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองหรือไม่ โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า หนังสือเอกสารหมาย จ.4 ที่โจทก์ทั้งสองตอบไปยังคณะกรรมการเป็นคำสนองที่ตรงกับคำเสนอของคณะกรรมการตามหนังสือเอกสารหมาย จ.3 แล้ว การที่หนังสือเอกสารหมายจ.4 กล่าวถึงการแบ่งแยกโฉนดที่ดินและการวางเงินมัดจำและชำระเงินที่เหลือไว้เป็นเพียงวิธีปฏิบัติเท่านั้น ไม่ถือว่าหนังสือเอกสารหมาย จ.4 มีเงื่อนไขหรือเป็นคำสนองที่บอกปัดคำเสนอและเป็นคำเสนอขึ้นใหม่แต่อย่างใดสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์ทั้งสองกับคณะกรรมการจึงเกิดขึ้นแล้ว จำเลยทั้งหมดจึงต้องปฏิบัติตามสัญญาและรับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง เห็นว่า โฉนดที่ดินพิพาทเอกสารหมาย จ.1 มีชื่อจำเลยที่ 16 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แต่ผู้เดียวทั้ง ๆ ที่คณะกรรมการสวัสดิการการพลังงานแห่งชาติเป็นเจ้าของอยู่ด้วยครึ่งหนึ่ง เมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่ทราบแน่นอนว่าที่ดินส่วนใดเป็นของคณะกรรมการ ดังนั้น ในเบื้องต้นที่โจทก์ทั้งสองมีหนังสือเอกสารหมาย จ.2 เสนอขอซื้อที่ดินตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1 ทั้งแปลงจำนวน 41 ไร่ 12 ตารางวาจากคณะกรรมการไปยังคณะกรรมการนั้น โจทก์ทั้งสองก็ยังไม่รู้ว่าที่ดินส่วนใดในโฉนดที่ดินดังกล่าวเป็นของคณะกรรมการ คงได้แต่เสนอราคาและเงื่อนไขการจ่ายเงิน ซึ่งเมื่อคณะกรรมการได้รับคำเสนอของโจทก์ทั้งสองตามเอกสารหมาย จ.2 แล้วคณะกรรมการได้มีหนังสือเอกสารหมาย จ.3 ตอบมายังโจทก์ทั้งสองว่าตกลงขายที่ดินพิพาทในส่วนที่เป็นของคณะกรรมการจำนวน 20 ไร่206 ตารางวา ให้โจทก์ทั้งสองโดยมีเงื่อนไขอันเป็นสาระสำคัญว่า”เมื่อได้ทำสัญญาตกลงซื้อขายกันแล้ว ขอให้ชำระเงินทั้งหมดและผู้ขายจะได้ดำเนินการโอนโฉนดที่ดินให้พร้อมกันทันทีจึงเรียนมาเพื่อทราบ และหากท่านมีความประสงค์จะซื้อที่ดินดังกล่าวขอให้แจ้งคณะกรรมการ สสพช.ทราบ” ซึ่งเมื่อโจทก์ทั้งสองได้รับหนังสือเอกสารหมาย จ.3 ดังกล่าวแล้ว โจทก์ทั้งสองได้ตอบไปยังคณะกรรมการซึ่งมีสาระสำคัญว่า “ข้าพเจ้ามีรายนามข้างท้ายนี้ยินดีตกลงซื้อที่ดินในส่วนของคณะกรรมการ สสพช. จำนวน 20 ไร่206 ตารางวา ตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการ สสพช. แจ้งมาดังมีรายละเอียดตามหนังสือที่อ้างถึงข้อ 2 โดยขอให้คณะกรรมการสสพช. แบ่งโฉนดที่ดินหมายเลข 287 จำนวน 41 ไร่ 12 ตารางวาเป็น 2 ส่วน เท่า ๆ กันตามความยาวของพื้นที่โดยข้าพเจ้ายินดีจะรับซื้อที่ดินในส่วนของคณะกรรมการ สสพช. แปลงที่แบ่งเท่า ๆ กันแล้วตามความยาวของพื้นที่แปลงใดก็ได้ตามแต่คณะกรรมการ สสพช. จะแจ้งขายให้ข้าพเจ้า โดยข้าพเจ้ายินดีวางเงินมัดจำในการตกลงซื้อขายก่อนจำนวน 100,000 บาทและในวันโอนที่ดินดังกล่าวข้าพเจ้าจะจ่ายเงินสดส่วนที่เหลือทั้งหมดทันที จึงเรียนมาเพื่อทราบ และขอได้โปรดแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบวันนัดหมายในการตกลงซื้อขายที่ดินในส่วนของคณะกรรมการ สสพช. จำนวน 20 ไร่ 206 ตารางวา ให้ข้าพเจ้าทราบด้วยเพื่อจะได้ดำเนินการต่อไป” ตามหนังสือเอกสารหมายจ.4 ดังกล่าวแสดงว่า เงื่อนไขที่กำหนดให้มีการแบ่งแยกโฉนดที่ดินเพื่อให้ได้เนื้อที่ครึ่งหนึ่งเป็น 2 ส่วนเท่า ๆ กันก่อนแล้วจึงจะมีการตกลงทำสัญญาซื้อขายและชำระเงินค่าซื้อที่ดินทั้งหมดต่อกันนั้นเป็นสาระสำคัญที่คณะกรรมการกับโจทก์ทั้งสองตกลงกัน หนังสือเอกสารหมาย จ.4 จึงยังไม่เป็นคำสนองที่ตรงกับคำเสนอตามหนังสือเอกสารหมาย จ.3 แต่อย่างใด ส่วนหนังสือเอกสารหมายจ.9 ที่คณะกรรมการตอบมายังโจทก์ทั้งสองนั้นเป็นเพียงการแจ้งให้ทราบว่าคณะกรรมการไม่อาจแบ่งแยกโฉนดที่ดินได้ จึงขอยกเลิกคำเสนอขอซื้อที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งสองเสียให้ชัดเจนขึ้นเท่านั้นและหนังสือลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2533 ของคณะกรรมการเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 11 ก็เป็นเพียงแจ้งให้โจทก์ทั้งสองทราบว่า หากคดีที่คณะกรรมการฟ้องผู้บุกรุกที่ดินตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.1 สิ้นสุดลงเมื่อใด และโจทก์ทั้งสองยังสนใจจะซื้อที่ดินดังกล่าวต่อไป ก็ให้เสนอราคาขึ้นมาใหม่เท่านั้นจึงไม่ถือว่าหนังสือดังกล่าวเป็นหนังสือที่ประกอบให้รับฟังว่าคำเสนอและคำสนองของทั้งสองฝ่ายตรงกันจนเกิดเป็นสัญญาขึ้นแล้วแต่อย่างใดฉะนั้น เมื่อยังไม่มีการแบ่งแยกโฉนดที่ดินและทำสัญญาซื้อขายกันระหว่างโจทก์ทั้งสองกับคณะกรรมการอันเป็นสาระสำคัญแห่งสัญญาที่คู่สัญญายังไม่อาจตกลงกันได้หมดทุกข้ออยู่ตราบใดสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับคณะกรรมการจึงยังไม่เกินขึ้นหรือยังมิได้มีต่อกัน ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 366 โจทก์ทั้งสองจึงยังไม่มีอำนาจฟ้องคณะกรรมการและจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 16 ให้ปฏิบัติตามหนังสือเอกสารหมายจ.4 ได้
พิพากษายืน

Share