คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5943/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้สูติบัตรจะระบุว่าเจ้ามรดกเป็นมารดาและผู้ร้องเป็นบิดาของผู้ร้องขอ แต่เอกสารดังกล่าวก็หาใช่พยานหลักฐานที่ยืนยันได้อย่างเด็ดขาดว่า ผู้ร้องขอเป็นบุตรของเจ้ามรดกกับผู้ร้องแต่อย่างใด เพราะการที่เอกสารดังกล่าวปรากฏชื่อเจ้ามรดกกับผู้ร้องเป็นมารดาและบิดาของผู้ร้องขอ ก็เนื่องจากพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับการบอกเล่าและบันทึกลงในเอกสารดังกล่าวตามการบอกกล่าวของผู้แจ้งเท่านั้น หาใช่เป็นการตรวจพิสูจน์ของพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่หากมีการคัดค้านเอกสารดังกล่าว ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 6 ต้องมีภาระการพิสูจน์ความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสารดังกล่าว
ผู้ที่มีอำนาจยื่นคำคัดค้านและขอให้ศาลตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกได้นั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 บัญญัติว่า “ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการจะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกก็ได้” ดังนี้ เมื่อผู้คัดค้านที่ 7 มิได้เป็นทายาทของเจ้ามรดก และแม้ผู้คัดค้านที่ 7 จะเป็นทายาทของผู้ร้องและผู้ร้องมีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกก็ตาม ก็ยังถือไม่ได้ว่าผู้คัดค้านที่ 7 เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องต่อศาลขอให้ตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องกับผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนางมาลัย เจ้ามรดก ระหว่างการจัดการมรดก ผู้ร้องถึงแก่ความตาย
ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ตั้งตนเพียงผู้เดียวเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดก
ผู้ร้องขอยื่นคำร้องขอ ขอให้ศาลมีคำสั่งถอนผู้คัดค้านที่ 1 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกและตั้งผู้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดก
ผู้คัดค้านที่ 7 และที่ 8 ยื่นคำคัดค้านขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ 7 และที่ 8 เป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกร่วมกับผู้คัดค้านที่ 1
ระหว่างพิจารณาผู้คัดค้านที่ 4 และที่ 8 ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า การยื่นคำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 4 และที่ 8 เป็นสิทธิเฉพาะตัว เมื่อผู้คัดค้านที่ 4 และที่ 8 ถึงแก่ความตาย สิทธินั้นย่อมระงับไปไม่ตกทอดไปยังทายาท
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เพียงผู้เดียวเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดก กับให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ยกคำร้องขอของผู้ร้องขอและคำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 7 ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนที่ยกคำร้องขอและคำคัดค้านให้เป็นพับ
ผู้ร้องขอและผู้คัดค้านที่ 7 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องขอและผู้คัดค้านที่ 7 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า นางมาลัย เจ้ามรดกกับผู้ร้องเป็นสามีภริยากันจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย ผู้ร้องขอเกิดเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2522 ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 6 เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับเจ้ามรดก บิดามารดาของเจ้ามรดกได้ถึงแก่ความตายไปก่อนเจ้ามรดก ส่วนผู้คัดค้านที่ 7 และที่ 8 เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ร้อง ในระหว่างจัดการมรดกของเจ้ามรดก ผู้ร้องได้ถึงแก่ความตาย
มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องขอว่า ผู้ร้องขอเป็นบุตรของเจ้ามรดกหรือไม่ เห็นว่า แม้สูติบัตรจะระบุว่าเจ้ามรดกเป็นมารดาและผู้ร้องเป็นบิดาของผู้ร้องขอ แต่เอกสารดังกล่าวก็หาใช่พยานหลักฐานที่ยืนยันได้อย่างเด็ดขาดว่า ผู้ร้องขอเป็นบุตรของเจ้ามรดกกับผู้ร้องแต่อย่างใดไม่ เพราะการที่เอกสารดังกล่าวปรากฏชื่อเจ้ามรดกกับผู้ร้องเป็นมารดาและบิดาของผู้ร้องขอ ก็เนื่องจากพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับการบอกเล่าและบันทึกลงในเอกสารดังกล่าวตามการบอกกล่าวของผู้แจ้งเท่านั้น หาใช่เป็นการตรวจพิสูจน์ของพนักงานเจ้าหน้าที่ เพียงแต่ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 6 ต้องมีภาระการพิสูจน์ความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสารดังกล่าว โดยผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 6 คัดค้านมาตั้งแต่ตอนที่ผู้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกว่า ผู้ร้องขอไม่ได้เป็นบุตรของเจ้ามรดกกับผู้ร้อง และผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความในทำนองเดียวกันว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 6 เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับเจ้ามรดก ผู้ร้องกับเจ้ามรดกไม่มีบุตรด้วยกัน ผู้คัดค้านทั้งหกเป็นทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดก เจ้ามรดกรับผู้ร้องขอจากนางสุเรียม มาอุปการะเลี้ยงดูเป็นบุตร โดยผู้ร้องขอมิได้เป็นบุตรที่เกิดจากเจ้ามรดกกับผู้ร้อง ซึ่งเจือสมกับคำเบิกความของผู้ร้องตอบทนายผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 6 ว่า ตามใบสูติบัตรที่ระบุว่าผู้ร้องขอเป็นบุตรของผู้ร้องและเจ้ามรดกนั้นไม่เป็นความจริง และตามบัญชีเครือญาติที่ระบุว่าผู้ร้องขอเป็นบุตรก็ไม่เป็นความจริงเช่นเดียวกัน ผู้ร้องและเจ้ามรดกไม่มีบุตรด้วยกัน นอกจากนี้ยังได้ความจากคำเบิกความของพยานผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 6 ปาก นายสม ผู้ซึ่งเคยเป็นทนายความให้ผู้ร้อง ยื่นคำร้องขอให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกในคดีนี้ เมื่อปี 2551 ว่า จากการสอบถามผู้ร้องครั้งแรกบอกว่า ผู้ร้องขอเป็นบุตร พยานจึงได้ระบุบัญชีเครือญาติไว้ แต่ในชั้นสืบพยานผู้ร้องกลับบอกว่า ผู้ร้องขอมีน้องของเจ้ามรดกไปขอจากบุคคลอื่นมาเลี้ยงดู ซึ่งเรื่องดังกล่าวผู้ร้องยังเบิกความไว้ในชั้นไต่สวนคำร้องขอจัดการมรดกเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2552 ที่ผู้ร้องเบิกความว่าผู้ร้องขอไม่ใช่บุตรที่เกิดจากผู้ร้องกับเจ้ามรดก ผู้ร้องขอรับทราบ ในวันที่ผู้ร้องเบิกความนั้นผู้ร้องขอก็มาด้วย วันที่ยื่นคำร้องขอให้ตรวจผลเลือด พยานได้สอบถามผู้ร้องขอ ผู้ร้องขอรับว่าไม่ใช่บุตรของผู้ร้องและเจ้ามรดก ซึ่งผู้ร้องขอทราบเรื่องดังกล่าวมาตั้งแต่ตนจำความได้ ดังนี้ หากผู้ร้องขอเป็นบุตรของผู้ร้องกับเจ้ามรดกจริง ผู้ร้องก็น่าที่จะเบิกความยืนยันว่าผู้ร้องขอเป็นบุตรของตนกับเจ้ามรดก ไม่มีเหตุผลใดที่ผู้ร้องหากเป็นบิดาจะเบิกความปฏิเสธว่า ผู้ร้องขอไม่ได้เป็นบุตรของตนกับเจ้ามรดก ประกอบกับยังได้ความจากคำเบิกความของนายสมว่า ผู้ร้องขอเคยรับกับนายสมว่า ผู้ร้องขอทราบเรื่องที่ผู้ร้องขอไม่ใช่บุตรของผู้ร้องกับเจ้ามรดกนับแต่จำความได้ ส่วนที่ผู้ร้องขอฎีกาทำนองว่า คำเบิกความของผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ยังมีความแตกต่างกัน และพยานปากผู้คัดค้านที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 เป็นเพียงพยานที่รับฟังข้อเท็จจริงจากบุคคลอื่นจึงเป็นพยานที่ไม่อาจรับฟังได้นั้น เห็นว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ต่างเป็นพี่น้องกับเจ้ามรดกอันเป็นญาติสนิทกับเจ้ามรดก เรื่องการที่เจ้ามรดกไปนำบุตรของคนอื่นมาเลี้ยงผู้คัดค้านทุกคนย่อมมีโอกาสทราบความจริงมาก่อนจึงมีการคัดค้านและนำสืบต่อสู้มาโดยตลอด แม้ผู้คัดค้านดังกล่าวจะเบิกความแตกต่างกันบ้างก็เป็นเรื่องในรายละเอียดไม่ถึงกับเป็นพิรุธให้รับฟังไม่ได้ นอกจากนี้ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 6 ยังมีคำเบิกความของผู้ร้องและนายสมเป็นพยานมารับฟังประกอบทำให้มีน้ำหนักให้รับฟังตามภาระการพิสูจน์ว่า สูติบัตรไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง จากที่วินิจฉัยมาจึงเห็นว่า พยานหลักฐานของผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 6 มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของผู้ร้องขอ ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า ผู้ร้องขอไม่ได้เป็นบุตรของเจ้ามรดก ดังนั้น ผู้ร้องขอจึงไม่ใช่ทายาทของเจ้ามรดกหรือผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องต่อศาล ขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องขอฟังไม่ขึ้น
มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 7 ว่า ผู้คัดค้านที่ 7 มีอำนาจยื่นคำคัดค้านและขอให้ศาลตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกหรือไม่ โดยผู้คัดค้านที่ 7 ฎีกาทำนองว่า ตนเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 บัญญัติว่า “ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการจะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกก็ได้…” ดังนี้ เมื่อผู้คัดค้านที่ 7 มิได้เป็นทายาทของเจ้ามรดก และแม้ผู้คัดค้านที่ 7 จะเป็นทายาทของผู้ร้องและผู้ร้องมีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกก็ตาม ก็ยังถือไม่ได้ว่าผู้คัดค้านที่ 7 เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องต่อศาลขอให้ตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกได้ ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ผู้คัดค้านที่ 7 จึงไม่มีอำนาจยื่นคำคัดค้านและขอให้ศาลตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดก ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 7 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share