คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2290/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

นายจ้างมีข้อบังคับว่า ถ้าลูกจ้างคนใดมีอายุครบ 60 ปี ในระหว่างปี ลูกจ้างคนนั้นมีสิทธิที่จะเลือกออกจากงานในวันถัดจากวันที่มีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ หรือในวันสิ้นปีงบประมาณที่เกษียณอายุก็ได้ ดังนั้นการที่ลูกจ้างใช้สิทธิเลือกออกจากงานก่อนสิ้นปีงบประมาณเมื่อลูกจ้างอายุครบ 60 ปีแล้ว ซึ่งข้อบังคับของนายจ้างเปิดโอกาสให้ลูกจ้างเลือกทำได้ จึงเป็นการเลิกจ้างหาใช่เป็นลาออกจากงานไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่จ่ายค่าชดเชยให้ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์ โจทก์ขอลาออกจากงานเองโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์มีอายุครบ ๖๐ ปีบริบูรณ์ในวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๒๕ ซึ่งโจทก์จะต้องออกจากงานฐานเกษียณอายุในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๕ แต่โจทก์ถึงออกจากงานตั้งแต่วันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๒๕ อันเป็นการใช้สิทธิตามข้อบังคับจำเลย ฉบับที่ ๒๐๑ ข้อ ๙.๑ วรรคแรกซึ่งมีความว่า “ฐานเกษียณอายุคือ เมื่ออายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ ผู้ใดมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ในระหว่างปีใด ให้มีสิทธิที่จะทำงานต่อไปได้จนถึงสิ้นปีงบประมาณที่ครบเกษียณอายุแล้วให้ออกจากงานตั้งแต่วันขึ้นปีใหม่ของปีงบประมาณถัดไป แต่ถ้าผู้นั้นประสงค์จะออกเมื่ออายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ก็ให้ออกจากงานได้ตั้งแต่วันถัดไป” มีความหมายว่า ถ้าลูกจ้างคนใดมีอายุครบหกสิบปีในระหว่างปี ลูกจ้างคนนั้นมีสิทธิที่จะเลือกออกจากงานในวันถัดจากวันมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ หรือวันสิ้นปีงบประมาณที่ครบเกษียณอายุก็ได้การที่ลูกจ้างใช้สิทธิเลือกออกจากงานก่อนสิ้นปีงบประมาณดังเช่นโจทก์คดีนี้จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการลาออกจากงาน ข้อบังคับของจำเลยดังกล่าวใช้คำว่า”ให้ออกจากงาน” จึงเป็นเรื่องที่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจะดำเนินการให้โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างออกจากงานหรือ “เลิกจ้าง” โจทก์ในวันที่โจทก์เลือก ตรงกันข้ามกับกรณีลูกจ้างซึ่งมีอายุครบห้าสิบปีบริบูรณ์ประสงค์จะลาออกจากงานตามข้อบังคับจำเลยข้อ ๙.๑ วรรคสอง ซึ่งกำหนดให้ผู้มีอำนาจ “สั่งอนุญาตให้ลาออกจากงาน” ไม่ได้ใช้คำว่า “ให้ออกจากงาน” ดังเช่นข้อบังคับจำเลยข้อ ๙.๑ วรรคแรก ด้วยเหตุนี้การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ตามเจตนาของโจทก์ซึ่งข้อบังคับของจำเลยเปิดโอกาสให้โจทก์เลือกทำได้จึงถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ ข้อ ๔๖ (ฉบับที่ ๖) ลงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๒๑ ข้อ ๒
พิพากษายืน

Share