คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 875/2525

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สิทธิการเช่าตึกแถว มีราคาและอาจโอนกันได้ จึงเป็นทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 99
พยานหลักฐานที่จำเลยยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมภายหลังสืบพยาน โจทก์เสร็จ เป็นพยานหลักฐานเกี่ยวกับสูติบัตรที่โจทก์อ้างหมายจ. 1 นั่นเองจึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยไม่สามารถทราบได้ว่าต้องนำพยานหลักฐานที่ขออ้างเพิ่มเติมนั้นมาสืบ หรือไม่ทราบว่าพยานหลักฐานนั้นมีอยู่ การที่จำเลยยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมเมื่อเสร็จการสืบพยานของโจทก์ซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อน จึงไม่มีเหตุอันสมควรอนุญาตให้ระบุอ้างพยานเพิ่มเติมได้
แม้โจทก์ฟ้องอ้างว่ารถคันพิพาทเป็นทรัพย์มรดก แต่ทางพิจารณากลับได้ความตามที่จำเลยนำสืบว่า จำเลยได้ขายทรัพย์มรดกอื่นไปแล้วไม่ถึงหนึ่งเดือน จำเลยก็ซื้อรถคันพิพาท ดังนี้ แม้โจทก์จะมิได้นำสืบว่าจำเลยขายทรัพย์อะไรไป ศาลก็มีอำนาจพิเคราะห์ข้อเท็จจริงที่จำเลยนำสืบรับดังกล่าวประกอบกับพยานหลักฐานในสำนวนและฟังว่าจำเลยขายทรัพย์มรดกอื่นเอาเงินมาซื้อรถคันพิพาท และถือได้ว่ารถคันพิพาทเป็นทรัพย์มรดก หาเป็นการนอกฟ้องและนอกคำให้การไม่

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกหรือใช้ราคาแก่โจทก์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาโดยคู่ความไม่ได้โต้เถียงกันว่า นายแพทย์อนันต์สมบุญธรรม เรียนสำเร็จทั้งวิชาเภสัชศาสตร์ และแพทย์ศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แต่งงานกับจำเลยและจดทะเบียนสมรสกันเมื่อเดือนมิถุนายน 2504 มีบุตรด้วยกันและยังมีชีวิตอยู่ 3 คน คือนายคมสันนายธีรเดชและเด็กหญิงปริมใจ ต่อมานายแพทย์อนันต์ สมบุญธรรมได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2518 ขณะถึงแก่กรรมมารดาของนายแพทย์อนันต์ สมบุญธรรม ยังมีชีวิตอยู่ชื่อนางทองเย็น สมบุญธรรมส่วนบิดาถึงแก่กรรมไปนานแล้ว คดีมีปัญหาสู่ศาลฎีกาว่าโจทก์เป็นบุตรนอกกฎหมายที่นายแพทย์อนันต์ สมบุญธรรม บิดารับรองแล้วหรือไม่ปัญหาเกี่ยวกับทรัพย์มรดกบางรายการ และที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของจำเลยนั้นชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 หรือไม่ ที่จำเลยฎีกาขอให้รับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของจำเลยตามคำร้องลงวันที่ 12 กันยายน 2522 เพื่อให้โอกาสแก่จำเลยนำต้นฉบับสูติบัตรและสำเนาทะเบียนบ้านคนเกิดตามที่ระบุเพิ่มเติมเข้าสู่สำนวนแล้ววินิจฉัยตามรูปคดี โดยอ้างว่าเพิ่งค้นเอกสารดังกล่าวพบภายหลังสืบพยานโจทก์เสร็จนั้น เห็นว่า จำเลยยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม 1. สำเนาทะเบียนคนเกิดลำดับ 1598 ด.ช. ชื่อสกุล สมบุญธรรม 2. สูติบัตรเลขที่ 179/1598 ของ ด.ช. ชื่อสกุล สมบุญธรรม อยู่ที่เขตบางรัก และ 3. นายปรีชา ฤทธิแปลก ผู้ช่วยนายทะเบียนท้องถิ่น เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร ดังนี้ เห็นว่าเป็นพยานหลักฐานเกี่ยวกับสูติบัตรที่โจทก์อ้างหมาย จ.1 นั่นเอง จึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยไม่สามารถทราบได้ว่าต้องนำพยานหลักฐานที่ขออ้างเพิ่มเติมนั้นมาสืบ หรือไม่ทราบว่าพยานหลักฐานนั้นมีอยู่ ฉะนั้น การที่จำเลยยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมเมื่อเสร็จการสืบพยานของโจทก์ซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อน จึงไม่มีเหตุอันสมควรอนุญาตให้ระบุอ้างพยานเพิ่มเติมได้ ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 แล้ว” ฯลฯ

“ที่จำเลยฎีกาเกี่ยวกับทรัพย์มรดกดังนี้ 1. สิทธิการเช่าตึกแถวจากบริษัทรวมมิตรก่อสร้าง (ที่ถูกเป็นบริษัทรามกิจพาณิชย์และก่อสร้าง จำกัด ทรัพย์อันดับ 4) ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโอนกันได้ เป็นทรัพย์มรดกจำเลยเห็นว่าจำเลยเป็นผู้เช่าเป็นสิทธิเฉพาะตัว ไม่เป็นทรัพย์มรดก และราคาสิทธิการเช่าไม่เกิน 100,000 บาทเพราะอยู่ห่างที่ชุมชนนั้น เห็นว่า สิทธิการเช่านี้มีราคาและอาจโอนกันได้ ศาลล่างทั้งสองรับฟังว่าเป็นทรัพย์สินที่นายแพทย์อนันต์และจำเลยได้มาร่วมกันเป็นสินสมรส จำเลยมิได้ฎีกาโต้เถียงโดยชัดแจ้งว่านายแพทย์อนันต์มิได้มีส่วนเป็นเจ้าของ จึงรับฟังเป็นยุติทั้งศาลชั้นต้นพิพากษาให้สิทธิการเช่านี้คงเป็นสิทธิของจำเลยจึงไม่มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าเป็นสิทธิเฉพาะตัวของจำเลยซึ่งเป็นผู้เช่าอันอาจโอนกันได้หรือไม่นั้นแต่อย่างใด สำหรับปัญหาเรื่องราคาค่าสิทธิการเช่าตึกแถวนี้นั้นเห็นว่าตามสัญญาเช่าเอกสารหมาย ล.11 ตึกแถวนี้ตั้งอยู่ที่เลขที่ 816/11 ถนนท่าดินแดง เขตคลองสาน เป็นตึกแถวสามชั้นครึ่ง ห้องขนาดกว้าง4 เมตร ลึก 12 เมตร พื้นบนไม้เนื้อแข็ง พื้นล่างคอนกรีตฝาก่ออิฐ หลังคาดาดฟ้าและกระเบื้องลอนคู่ และข้อเท็จจริงยุติตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าขณะนายแพทย์อนันต์ถึงแก่กรรม ยังเหลืออายุสัญญาเช่าอีก 20 ปี ดังนี้จากสภาพของตึกแถว อายุสัญญาเช่าที่คงเหลือ ทั้งยังได้ความตามคำเบิกความของจำเลยว่า ตึกแถวนี้ใช้เป็นคลีนิครับรักษาผู้ป่วยใช้ชื่อว่า หมออนันต์เชี่ยงอันแสดงว่ามิได้อยู่ในทำเลห่างไกลชุมชนฉะนั้นที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดราคาสิทธิการเช่า 200,000 บาทชอบด้วยเหตุผลแล้ว ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

2. ทรัพย์อุปกรณ์การแพทย์ ยารักษาโรคและเฟอร์นิเจอร์ในคลีนิคเลขที่ 57 – 59 ถนนตะนาว (ทรัพย์อันดับ 6) จำเลยฎีกาว่าฟังไม่ได้ว่ามีอยู่ตามที่โจทก์กล่าวอ้างนั้น เห็นว่านางมยุราจำเลยอ้างตนเอง เบิกความรับว่าทรัพย์อันดับ 5 – 7 จำเลยได้ขายแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากนายแพทย์อนันต์ถึงแก่กรรมแล้ว แสดงว่าทรัพย์ดังกล่าวมีอยู่ แต่จำเลยซึ่งเป็นผู้ครอบครองได้ขายไป ดังนี้ จำเลยจึงต้องรับผิด หาใช่ว่ามิได้มีอยู่ดังจำเลยฎีกาไม่ ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

3. รถยนต์ยี่ห้อเมอร์ซีเดชเบ๊นซ์ (ทรัพย์อันดับ 13) จำเลยฎีกาว่าโจทก์จำเลยนำสืบรับกันแล้วว่า จำเลยซื้อภายหลังจากนายแพทย์อนันต์เจ้ามรดกถึงแก่กรรม จึงไม่เป็นมรดก ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยนำเงินจากการขายทรัพย์มรดกรายอื่นไปซื้อ เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกคำขอเพราะโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่านำเงินจากการขายทรัพย์เดิมมาซื้อ และไม่ได้นำสืบว่าขายทรัพย์อะไรไปซื้อนั้น เห็นว่า แม้โจทก์ฟ้องอ้างว่ารถคันพิพาทเป็นทรัพย์มรดกแต่ทางพิจารณากลับได้ความตามที่จำเลยนำสืบว่าจำเลยได้ขายทรัพย์มรดกอันดับ 1, 3 และ 5 ไปแล้วไม่ถึงหนึ่งเดือน จำเลยก็ซื้อรถคันพิพาท ดังนี้แม้โจทก์จะมิได้นำสืบว่าจำเลยขายทรัพย์อะไรไปศาลล่างทั้งสองก็มีอำนาจพิเคราะห์ข้อเท็จจริงที่จำเลยนำสืบรับดังกล่าวประกอบกับพยานหลักฐานในสำนวนและฟังว่าจำเลยขายทรัพย์มรดกอันดับ 1, 3 และ 5 เอาเงินมาซื้อรถคันพิพาท และถือได้ว่ารถคันพิพาทเป็นทรัพย์มรดก มาเป็นการนอกฟ้องและนอกคำขอแต่อย่างใดไม่”

พิพากษายืน

Share