แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อจำเลยยื่นคำร้องขอระบุพยานเพิ่มเติม ศาลชั้นต้นสั่งว่าสำเนาให้โจทก์สั่งในรายงาน และตามรายงานกระบวนพิจารณาศาลชั้นต้นจดว่า ‘ทนายโจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้วแถลงคัดค้านว่า จำเลยยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม เมื่อโจทก์สืบพยานของโจทก์เสร็จสิ้นไปแล้วเป็นการไม่ชอบ ศาลไม่ควรรับ พิเคราะห์แล้วอนุญาตให้จำเลยยื่นระบุพยานเพิ่มเติมได้ตามขอ’ คำแถลงของโจทก์เช่นนี้เป็นการแถลงคัดค้านคำร้องของจำเลยที่ขอระบุพยานเพิ่มเติม เพื่อประกอบดุลพินิจในการที่ศาลจะมีคำสั่งคำร้องดังกล่าวต่อไปเท่านั้น ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการโต้แย้งคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น ที่อนุญาตให้จำเลยระบุพยานเพิ่มเติม เมื่อโจทก์ไม่ได้โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวไว้ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2ผู้เป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน ร.ย.13533 ได้ขับรถยนต์คันดังกล่าวในทางการที่จ้างหรือในกิจการของจำเลยที่ 2 ไปตามถนนเพชรเกษม มุ่งหน้าเข้ากรุงเทพด้วยความประมาทเป็นเหตุให้เกิดเฉี่ยวชนรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน ช.บ.25644 และเสียหลักพุ่งเข้าชนเสาไฟฟ้าสาธารณะบนเกาะกลางถนนของโจทก์เสียหายเป็นเงิน 10,526.47 บาท ได้บอกกล่าวจำเลยทั้งสองแล้วแต่เพิกเฉย ขอให้ศาลบังคับ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า เหตุเกิดขึ้นไม่ได้เป็นเพราะความประมาทของจำเลยที่ 1 หากแต่เป็นเพราะความประมาทของคนขับรถหมายเลขทะเบียนช.บ.25644 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นสั่งรับเฉพาะข้อกฎหมาย
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์มิได้โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้จำเลยที่ 2 ระบุพยานเพิ่มเติม อุทธรณ์ของโจทก์จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยพิพากษายกอุทธรณ์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามฎีกาข้อ 2 ของโจทก์ซึ่งศาลชั้นต้นสั่งรับมานั้นโจทก์ฎีกาว่า การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 2 อ้างพยานเพิ่มเติมภายหลังที่โจทก์สืบพยานเสร็จสิ้นแล้ว เป็นการไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 88 และการที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้ โดยอ้างว่าเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาโจทก์มิได้โต้แย้งคำสั่งไว้ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์นั้นก็ไม่ชอบ เพราะโจทก์ได้แถลงคัดค้านไว้แล้วก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่ง ซึ่งเป็นการโต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นอยู่แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาในปัญหาข้อนี้ได้ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอระบุพยานเพิ่มเติมตามคำร้องลงวันที่ 9 มกราคม 2523 ศาลชั้นต้นสั่งว่า “สำเนาให้โจทก์สั่งในรายงาน” และตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 9 มกราคม 2523 ศาลชั้นต้นจดไว้ว่า”ทนายโจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้วแถลงคัดค้านว่า จำเลยที่ 2 ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมเมื่อโจทก์สืบพยานของโจทก์เสร็จสิ้นไปแล้ว เป็นการไม่ชอบศาลไม่ควรรับ พิเคราะห์แล้ว อนุญาตให้จำเลยที่ 2 ยื่นระบุพยานเพิ่มเติมได้ตามขอ” คำแถลงของโจทก์เช่นนี้เป็นการแถลงคัดค้านคำร้องของจำเลยที่ 2 ที่ขอระบุพยานเพิ่มเติมเพื่อประกอบดุลพินิจในการที่ศาลจะมีคำสั่งคำร้องดังกล่าวต่อไปเท่านั้น ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการโต้แย้งคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้จำเลยที่ 2 ระบุพยานเพิ่มเติม ฉะนั้นเมื่อโจทก์ไม่ได้โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวไว้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาข้อนี้ เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้จึงชอบแล้ว
พิพากษายกฎีกาโจทก์