คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3920/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องโดยขอแก้บทลงโทษจาก พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 21, 40, 42, 65, 66, 70 ทวิ เป็นมาตรา 21, 40, 42, 65, 66 ทวิ, 70, 71 ซึ่งเป็นการแก้หรือเพิ่มเติมฐานความผิดก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคหนึ่ง, 164 เมื่อจำเลยไม่ค้านและศาลชั้นต้นอนุญาตให้แก้ไขเพิ่มเติมฟ้อง จำเลยย่อมีสิทธิยื่นคำร้องขอแก้หรือเพิ่มเติมคำให้การได้ เมื่อจำเลยไม่ยื่นคำร้องดังกล่าว แสดงว่าจำเลยรับสารภาพโดยมิได้หลงต่อสู้ในฐานะความผิดที่โจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องนั้น ศาลย่อมลงโทษจำเลยตามคำฟ้องที่ขอแก้ไขเพิ่มเติมได้
กฎหมายล้มละลายเพียงบัญญัติมิให้บุคคลที่ถูกพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินคดีในทางแพ่งด้วยตนเอง หรือก่อหนี้สินขึ้นอีกในระหว่างถูกพิทักษ์ทรัพย์ มิได้คุ้มครองให้ผู้กระทำผิดอาญาพ้นผิดไปด้วย ทั้งจำเลยกระทำความผิดก่อนจะถูกพิทักษ์ทรัพย์และไม่เกี่ยวข้องกับการถูกพิทักษ์ทรัพย์ในภายหลัง ศาลจึงพิพากษาลงโทษปรับจำเลยได้
ความผิดฐานก่อสร้างดัดแปลงอาคารเพื่อพาณิชยกรรม โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 21 มาตรา 65 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 70 มีกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 120,000 บาท ความผิดดังกล่าวจึงมีอายุความ 5 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (4) โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2544 จึงเกินกว่า 5 ปี นับแต่วันที่ 12 กันยายน 2539 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยกระทำความผิด จึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธิการนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าของอาคารเลขที่ 2425, 2425/1 ตั้งอยู่ที่ถนนลาดพร้าว เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้รับใบอนุญาตให้ก่อสร้างเป็นอาคารพาณิชยกรรมและที่พักอาศัย เมื่อวันเวลาใดไม่ปรากฏชัด ถึงวันที่ 12 กันยายน 2539 เวลากลางวัน จำเลยได้ก่อสร้างดัดแปลงอาคารเพื่อพาณิชยกรรมดังกล่าว โดยก่อสร้างดัดแปลงต่อเติมอาคารเป็นตึกสูงสามชั้น 1 หลัง ขนาดกว้าง 6 เมตร สูง 9.50 เมตร เชื่อมติดกับอาคารเดิมดังกล่าว ก่อสร้างโครงเหล็กชั้นเดียวขนาดกว้าง 12 เมตร สูง 11 เมตร และก่อสร้างรั้วคอนกรีตยาว 6 เมตร สูง 2 เมตร ให้ผิดไปจากรูปแบบที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง และไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น และจำเลยได้ดัดแปลงก่อสร้างอาคารตึกสูงสามชั้น 1 หลัง ก่อสร้างโครงเหล็กชั้นเดียวและก่อสร้างรั้วคอนกรีตดังกล่าวลงบนถนนสาธารณะ ซึ่งเป็นการก่อสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำที่สาธารณะ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ต่อมาวันที่ 12 กันยายน 2539 เวลากลางวัน เจ้าพนักงานตรวจพบการกระทำความผิดของจำเลย เจ้าพนักงานท้องถิ่นจึงได้มีคำสั่งลงวันที่ 30 กันยายน 2539 จำนวน 2 ฉบับ ห้ามมิให้บุคคลใดใช้หรือเข้าไปในอาคารดังกล่าว และมีคำสั่งให้รื้อถอนอาคารและสิ่งปลูกสร้างที่ก่อสร้างโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและรุกล้ำที่สาธารณะทั้งหมดภายในเวลา 30 วัน เนื่องจากการกระทำของจำเลยไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ จำเลยได้ทราบคำสั่งดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2539 ครั้นครบกำหนด 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง จำเลยฝ่าฝืนไม่รื้อถอนอาคารตึกสามชั้น โครงเหล็กชั้นเดียว และรั้วคอนกรีต โดยจำเลยฝ่าฝืนคำสั่งตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2539 ถึงวันฟ้องยังไม่มีการรื้อถอนอาคารและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว เหตุทั้งหมดเกิดขึ้นที่แขวงวังทองหลาง เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 21, 40, 42, 65, 66 ทวิ, 67, 70, 71 ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ปรับจำเลยเป็นรายวันตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2539 จนถึงวันฟ้อง และจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนอาคาร
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 21, 40 (2) (3), 42, 65 (ที่ถูกมาตรา 65 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง), 67 (ที่ถูกมาตรา 67 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง), 70 ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 (1), 108 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานก่อสร้างดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 2 เดือน และปรับ 40,000 บาท กับปรับอีกวันละ 1,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2539 จนกว่าจะรื้อถอน ฐานบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐ จำคุก 1 ปี และปรับ 10,000 บาท ฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น จำคุก 1 ปี และปรับ 80,000 บาท กับปรับอีกวันละ 1,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2539 จนกว่าจะรื้อถอน รวมจำคุก 2 ปี 2 เดือน และปรับ 130,000 บาท กับปรับอีกวันละ 2,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2539 จนกว่าจะรื้อถอน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 1 เดือน และปรับ 65,000 บาท กับปรับอีกวันละ 1,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2539 จนกว่าจะรื้อถอน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 คำขออื่นให้ยก (ที่ถูกไม่ต้องมีคำขออื่นให้ยก)
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยตามคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องได้หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้อง โดยขอแก้บทลงโทษจากพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 21, 40, 42, 65, 66, 70 ทวิ เป็นมาตรา 21, 40, 42, 65, 66 ทวิ, 70, 71 ซึ่งเป็นการแก้หรือเพิ่มเติมฐานความผิดก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 วรรคหนึ่ง, 164 เมื่อจำเลยไม่ค้านและศาลชั้นต้นอนุญาตให้แก้ไขเพิ่มเติมฟ้อง หากจำเลยเห็นว่าที่จำเลยรับสารภาพไปจะทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี จำเลยอาจยื่นคำร้องขอแก้หรือเพิ่มเติมคำให้การได้ เมื่อจำเลยไม่ยื่นคำร้องดังกล่าว แสดงว่าจำเลยรับสารภาพโดยมิได้หลงต่อสู้ในฐานความผิดที่โจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องนั้น ศาลล่างทั้งสองย่อมลงโทษจำเลยตามคำฟ้องที่ขอแก้ไขเพิ่มเติมได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปว่า เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2545 แล้ว การบริหารจัดการทรัพย์สินหรือหนี้สินของจำเลยจึงอยู่กับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษปรับจำเลย จึงเป็นการขัดต่อกฎหมายดังกล่าวนั้น เห็นว่า กฎหมายล้มละลายเพียงบัญญัติมิให้บุคคลที่ถูกพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินคดีในทางแพ่งด้วยตนเอง หรือก่อหนี้สินขึ้นอีกในระหว่างถูกพิทักษ์ทรัพย์ กฎหมายล้มละลายมิได้คุ้มครองให้ผู้กระทำผิดอาญาพ้นผิดไปด้วย ทั้งปรากฏว่าคดีนี้จำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2539 แต่จำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2545 การกระทำผิดได้เกิดขึ้นก่อนจะถูกพิทักษ์ทรัพย์และไม่เกี่ยวข้องกับการถูกพิทักษ์ทรัพย์ในภายหลังแต่อย่างใด ศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจพิพากษาลงโทษปรับจำเลยได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง ความผิดฐานก่อสร้างดัดแปลงอาคารเพื่อพาณิชยกรรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 21 มาตรา 65 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 70 มีกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 120,000 บาท ความผิดดังกล่าวจึงมีอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (4) โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2545 จึงเกินกว่า 5 ปี นับแต่วันที่ 12 กันยายน 2539 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยกระทำความผิด คดีสำหรับความผิดฐานดังกล่าวจึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธิการนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6) โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานดังกล่าว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 เมื่อสิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานก่อสร้างดัดแปลงอาคารเพื่อพาณิชยกรรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตระงับไปแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ว่าความผิดฐานก่อสร้างดัดแปลงอาคารเพื่อพาณิชยกรรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและฐานบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทหรือไม่ จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานก่อสร้างดัดแปลงอาคารเพื่อพาณิชยกรรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต คงลงโทษจำเลยฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น จำคุก 1 ปี และปรับ 80,000 บาท กับปรับอีกวันละ 1,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2539 จนกว่าจะรื้อถอน ความผิดฐานบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐ จำคุก 1 ปี และปรับ 10,000 บาท รวมจำคุก 2 ปี และปรับ 90,000 บาท กับปรับอีกวันละ 1,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2539 จนกว่าจะรื้อถอน ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี และปรับ 45,000 บาท กับปรับอีกวันละ 500 บาท ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2539 จนกว่าจะรื้อถอน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share