คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4296/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยฎีกาว่าจำเลยไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานเพราะไม่ได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพนักงานการเงินโดยเฉพาะ และจำเลยขาดเจตนายักยอกทรัพย์โต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมา จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา147 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้วย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก
การปรับบทมาตราลงโทษจำเลยเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้คู่ความมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกาศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยรับราชการส่วนจังหวัด ตำแหน่งครูโรงเรียนประถมศึกษาสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย และได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยฝ่ายเงินเดือนและสวัสดิการ มีหน้าที่รับผิดชอบในการปฏิบัติงานส่วนการคลัง องค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี อีกตำแหน่งหนึ่ง จำเลยจัดทำฎีกาเบิกเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาบุตรและการรักษาพยาบาลซึ่งเป็นเงินงบประมาณศึกษาขององค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานีอันเป็นงานในหน้าที่ของจำเลย และจำเลยได้รับเงินดังกล่าวนั้นแล้ว แต่เบียดบังยักยอกเป็นของจำเลยโดยทุจริต ไม่นำส่งแก่ส่วนการคลังขององค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี เพื่อจ่ายให้ผู้มีสิทธิได้รับต่อไปขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๗, ๑๕๗, และ ๓๕๒
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๗, ๑๕๗ จำคุกคนละ ๓ ปี ๙ เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ลงโทษาจำคุกจำเลยมีกำหนด ๓ ปี ๙ เดือน จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ จำเลยฎีกาโดยอ้างเป็นข้อกฎหมายว่าจำเลยไม่ได้เป็นเจ้าพนักงาน เพราะไม่ได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้จำเลยเป็นเจ้าพนักงานการเงินโดยเฉพาะ และจำเลยส่งมอบเงินให้สมุห์บัญชีไม่ทัน เงินยังอยู่ในตู้ครบจำนวน จำเลยขาดเจตนายักยอกทรัพย์ เช่นนี้ เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาทั้งสิ้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย แต่ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาปรับบทลงโทษจำเลยว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๗, ๑๕๗ ลงโทษตามมาตรา ๑๔๗ ซึ่งเป็นบทหนักนั้น เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๗ ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว การกระทำนั้นย่อมจะไม่เป็นความผิดตามมาตรา ๑๕๗ ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก ปัญหาเรื่องการปรับบทลงโทษจำเลยนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๗ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๓ เพียงบทเดียว นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share