คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3075/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 54กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทนเมื่อลูกจ้างประสบอันตรายเป็น รายเดือน หมายความว่าต้องจ่ายค่าทดแทนทุกเดือน เพื่อคุ้มครองมิให้ลูกจ้างต้องขาดรายได้นานเกินไปไม่ใช่ข้อกำหนดในการนับระยะเวลา ข้อความที่ว่าให้นับแต่วันแรกที่ลูกจ้างไม่สามารถทำงานได้ไปจนตลอดเวลาที่ไม่สามารถทำงานติดต่อกันได้ ไม่อาจแปลความได้ว่าให้นับระยะเวลาเป็นรายวันติดต่อกัน กรณีถือได้ว่ากฎหมายแรงงานมิได้กำหนดการนับระยะเวลาไว้เป็นพิเศษ จึงต้องนับตามหลักทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 159

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า สำนักงานแรงงานจังหวัดฉะเชิงเทรามีคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าทดแทนแก่นายเกษตร จันทร ลูกจ้างโจทก์เป็นเงิน 2,170.05 บาท กรณีไม่สามารถทำงานได้เป็นเวลา 1 เดือน 10 วัน โจทก์อุทธรณ์คำสั่งต่อกรมแรงงาน อธิบดีกรมแรงงานมีคำสั่งยืน โจทก์ไม่เห็นด้วยเพราะการนับวันหยุดงานต้องนับเรียงตามวันหยุดที่แท้จริง ลูกจ้างหยุดงานตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2527 ถึงวันที่ 13 มีนาคม 2527 เป็นจำนวน 39 วันการที่จำเลยคิดคำนวณวันหยุดโดยวิธีนับวันในเดือนที่ลูกจ้างประสบอันตรายชนวันที่เดือนถัดไปเป็นหนึ่งเดือนไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว

จำเลยให้การว่า คำสั่งของจำเลยชอบแล้ว จำเลยนับเวลาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 159 เนื่องจากกฎหมายวิธีพิจารณาความคดีแรงงานและประกาศกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานไม่ได้กำหนดวิธีการนับเวลาไว้ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าคำสั่งของจำเลยไม่ถูกต้อง พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งเงินทดแทนในวรรคสุดท้าย โดยแก้เป็นให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทนให้ลูกจ้างรวม 39 วัน เป็นเงิน 2,115.75 บาท

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 54 ที่กำหนดไว้ว่าเมื่อลูกจ้างประสบอันตรายให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทนเป็นรายเดือนนั้นหมายความว่าต้องจ่ายค่าทดแทนทุกเดือน เพื่อคุ้มครองมิให้ลูกจ้างต้องขาดรายได้นานเกินไป หาใช่ข้อกำหนดในการนับระยะเวลาไม่ เพราะการนับระยะเวลาที่ลูกจ้างไม่สามารถทำงานได้กับการกำหนดเวลาให้จ่ายค่าทดแทนเป็นคนละกรณีกัน ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ข้อ 54ดังกล่าวกำหนดให้นับแต่วันแรกที่ลูกจ้างไม่สามารถทำงานได้ไปจนตลอดเวลาที่ไม่สามารถทำงานติดต่อกันได้ข้อความเช่นนี้ไม่อาจแปลความได้ว่าให้นับระยะเวลาเป็นรายวันติดต่อกัน กรณีนี้ถือได้ว่ากฎหมายแรงงานมิได้กำหนดการนับระยะเวลาไว้เป็นพิเศษ จึงต้องนับตามหลักทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 159 คำสั่งของของจำเลยชอบแล้ว

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share