แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ทั้งห้าฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากการที่พนักงานของจำเลยสั่งห้ามเดินทางทางเครื่องบินของจำเลยเป็นค่าอาหาร ค่าที่พัก ค่าใช้จ่ายในการติดต่อเจ้าหน้าที่ในประเทศสิงคโปร์ และค่าเสียหายที่โจทก์ทั้งห้าได้รับความกระทบกระเทือนจิตใจ อับอายขายหน้าสูญเสียเวลานัดหมายและธุรกิจ แต่ฎีกาของโจทก์ทั้งห้าที่ว่า การที่จำเลยห้ามไม่ให้โจทก์ที่ 1 ขึ้นเครื่องบินของจำเลยเดินทางไปประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งห้าได้รับความเสียหายต่อสิทธิและเสรีภาพ นั้นเป็นเรื่องนอกเหนือคำฟ้อง แม้ศาลอุทธรณ์จะยกขึ้นวินิจฉัยว่าจำเลยไม่ได้ทำให้โจทก์ทั้งห้าเสียเสรีภาพก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2533โจทก์ทั้งห้าได้ซื้อตั๋วเดินทางจากจำเลยเพื่อเดินทางจากกรุงเทพมหานครไปยังเมืองลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกากำหนดเดินทางในวันที่ 4 มีนาคม 2533 โดยโจทก์ที่ 2 และที่ 3เป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ถาวรในประเทศสหรัฐอเมริกามีสิทธิเดินทางเข้าประเทศได้เสมอ โจทก์ที่ 4 และที่ 5 ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศสหรัฐอเมริกาได้ สำหรับโจทก์ที่ 1 อายุเพียง 1 ปี เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ที่ 2 และที่ 3นั้นไม่จำต้องขออนุญาตเข้าเมืองเพียงแสดงหลักฐานว่าเป็นบุตรก็ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศได้ วันที่ 4 มีนาคม 2533ที่ท่าอากาศยานกรุงเทพ กรุงเทพมหานคร พนักงานของจำเลยได้สั่งห้ามการเดินทางของโจทก์ที่ 1 โดยอ้างว่าไม่ได้รับการประทับตราอนุญาตให้เข้าเมืองของประเทศสหรัฐอเมริกา โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 ได้อธิบายและยืนยันถึงสิทธิจนจำเลยยอมให้โจทก์ที่ 1เดินทางร่วมไปได้ การสั่งห้ามการเดินทางและการโต้แย้งถกเถียงกันเกิดขึ้นต่อหน้าผู้โดยสารอื่นจำนวนมากทำให้โจทก์ทั้งห้าต้องอับอายขายหน้าและเสื่อมเสียชื่อเสียงอย่างร้ายแรง เมื่อเดินทางไปถึงท่าอากาศยานประเทศสิงคโปร์ในวันที่ 4 มีนาคม2533 เพื่อเปลี่ยนเครื่องบินเดินทางต่อไปยังจุดหมายพนักงานของจำเลยที่ประเทศสิงคโปร์ได้สั่งห้ามการเดินทางของโจทก์ที่ 1อีกครั้งหนึ่งและได้เกิดการโต้แย้งถกเถียงกันขึ้นอีกต่อหน้าผู้โดยสารจำนวนมากและมีผลให้โจทก์ทั้งห้าไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ รุ่งขึ้นโจทก์ทั้งห้าได้ไปติดต่อขอคำยืนยันจากสถานเอกอัครราชทูตอเมริกาประจำประเทศสิงคโปร์มายืนยันแก่จำเลย จำเลยจึงยินยอมให้โจทก์ที่ 1 เดินทางไปได้ โจทก์ทั้งห้าจึงเดินทางต่อในวันที่ 6 มีนาคม 2533 การกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งห้าได้รับความเสียหายกล่าวคือค่าใช้จ่ายเป็นค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าใช้จ่ายในการติดต่อกับเจ้าหน้าที่นับแต่วันที่ 4 ถึง 6 มีนาคม 2533 เป็นเงิน 1,000,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,030,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 1,030,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยมีสิทธิที่จะปฏิเสธการรับขนผู้โดยสารตามระเบียบปฏิบัติสำหรับผู้โดยสารของจำเลยเพื่อป้องกันการละเมิดต่อกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับหรือคำสั่งของรัฐหรือประเทศต่าง ๆ ซึ่งเครื่องบินของจำเลยจะต้องบินเข้าไป จำเลยมิได้ปฏิเสธการรับขนโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 แต่บุคคลทั้งสี่สมัครใจจะพักอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์เอง พนักงานของจำเลยมิได้สั่งห้ามโจทก์ที่ 1 เดินทางที่ท่าอากาศยานกรุงเทพ แต่พนักงานของจำเลยสังกัดสำนักงานใหญ่ ณ ประเทศสิงคโปร์เป็นผู้สั่ง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 330,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งห้า
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 30,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แก่โจทก์ทั้งห้า นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งห้าฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์ทั้งห้าฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าอาหาร ค่าที่พัก ค่าใช้จ่ายในการติดต่อเจ้าหน้าที่ในประเทศสิงคโปร์ และค่าเสียหายที่โจทก์ทั้งห้าได้รับความกระทบกระเทือนจิตใจ ต้องอับอายขายหน้า สูญเสียเวลานัดหมายและธุรกิจที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่โจทก์ทั้งห้าฎีกาว่าการที่จำเลยห้ามไม่ให้โจทก์ที่ 1 ขึ้นเครื่องบินของจำเลยเดินทางไปประเทศสหรัฐอเมริกาทำให้โจทก์ทั้งห้าจำยอมอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ไม่สามารถเดินทางต่อไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ตามเจตนาได้เป็นการทำให้โจทก์ทั้งห้าไปไหนมาไหนไม่ได้ตามใจชอบเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งห้าได้รับความเสียหายต่อสิทธิและเสรีภาพจำเลยต้องรับผิดชำระค่าสินไหมทดแทนในการทำให้โจทก์ทั้งห้าเสียเสรีภาพนั้นเป็นเรื่องนอกเหนือคำฟ้องแม้ศาลอุทธรณ์จะยกขึ้นวินิจฉัยว่าจำเลยไม่ได้ทำให้โจทก์ทั้งห้าเสียเสรีภาพก็ถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ จึงต้องห้ามมิให้โจทก์ทั้งห้าฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาโจทก์ทั้งห้า