คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 337/2490

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้จัดการบริษัทในฐานะกรรมการและผู้ถือหุ้นฟ้องกรรมการด้วยกัน ขอให้เลิกบริษัทได้ไม่จำเป็นต้องให้กรรมการของบริษัททั้งหมดมอบอำนาจก่อนเพราะไม่ใช่ฟ้องในฐานะตัวแทนของบริษัท
เมื่อผู้ถือหุ้นตายลง การโอนหุ้นเป็นหน้าที่ของกรรมการบริษัทจัดทำ
ศาลพิพากษาให้เลิกบริษัทโดยชี้ขาดว่า ผู้ถือหุ้นไม่ครบจำนวนและบริษัททำไปมีแต่ขาดทุนแม้จำเลยจะสืบพยานได้ว่าบริษัทอาจมีหวังฟื้นตัวได้ก็ไม่อาจชนะคดีได้

ย่อยาว

ได้ความว่า โจทก์จำเลยได้ก่อตั้งบริษัทและได้จดทะเบียนโดยถูกต้อง มีโจทก์เป็นกรรมการและผู้จัดการและจำเลยทั้ง 4 เป็นกรรมการ จำเลยที่ 1 เป็นประธานกรรมการ แต่การดำเนินกิจการของบริษัทในเวลาต่อมามิได้เป็นไปตามกฎหมาย คือไม่มีการประชุมใหญ่ให้ครบทุกปี และเมื่อบริษัทขาดทุน ก็ไม่เรียกประชุมวิสามัญตามโจทก์เสนอ ในด้านการค้าโจทก์หาว่าจำเลยไม่เอาใจใส่ช่วยเหลือเป็นเหตุให้บริษัทขาดทุนตลอดมาและผู้ถือหุ้นก็ตายไปแล้ว 2 คน ไม่ครบจำนวนตามกฎหมาย โจทก์จึงฟ้องขอให้ศาลสั่งเลิกบริษัทและให้ตั้งผู้ชำระบัญชี

ได้ความดังกล่าว ศาลแพ่งงดสืบพยาน พิพากษาให้เลิกบริษัทและตั้งผู้ชำระบัญชีตามโจทก์ขอ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เลิกบริษัทเพราะจำนวนผู้ถือหุ้นไม่ครบจำนวนตามกฎหมายเป็นสาระสำคัญ เพราะฉะนั้นข้อคัดค้านของจำเลยที่ว่า ถ้าศาลให้จำเลยสืบพยานบุคคล จำเลยอาจแสดงได้ว่ากิจการของบริษัทมีหวังฟื้นตัวได้นั้น จึงฟังไม่ได้ส่วนในเรื่องการโอนหุ้นซึ่งจำเลยซัดว่าเป็นหน้าที่ของโจทก์นั้นก็เห็นว่าเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการ คือจำเลยกับพวกด้วย ข้อที่จำเลยคัดค้านว่าโจทก์ไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องโดยพลการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 801 นั้น จำเลยมิได้ยกความข้อนี้ขึ้นต่อสู้ในศาลชั้นต้น และจะยกขึ้นคัดค้านในชั้นนี้ไม่ได้และตามกฎหมายที่จำเลยอ้างมานี้เป็นเรื่องตัวแทนที่ได้รับมอบอำนาจทั่วไป ไปฟ้องบุคคลอื่นในนามของบริษัท แต่เรื่องนี้โจทก์ในฐานะเป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการฟ้องกรรมการด้วยกัน ไม่เกี่ยวแก่เรื่องอำนาจตัวแทนฎีกาของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน

Share