คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1349/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

หลังจากโจทก์ประสบอุบัติเหตุโจทก์ได้รับบาดเจ็บและหมดสติไปโดยโจทก์มีบาดแผลที่ขาหลายแห่งและกระดูกขาหัก มีพลเมืองดีนำโจทก์ส่งโรงพยาบาล ส. โจทก์รู้สึกตัวและโทรศัพท์ไปหาบิดา เมื่อบิดาโจทก์มาถึงจึงขอให้โรงพยาบาล ส. ฉีดยาระงับอาการปวดและเอกซเรย์กระดูกขาให้ หลังจากนั้นจึงทำเรื่องขอย้ายโจทก์ไปรักษาต่อที่โรงพยาบาล ว. โดยทำบันทึกไว้ว่าไม่ประสงค์จะให้โรงพยาบาล ส. รักษาโจทก์ต่อไป และโจทก์ได้รับการรักษาต่อที่โรงพยาบาล ว. โดยแพทย์ทำการผ่าตัดกระดูกดามกระดูกขาและรักษาบาดแผลเสียค่าบริการทางการแพทย์ประเภทผู้ป่วยในเป็นเงิน 62,676.10 บาท ซึ่งจะเห็นได้ว่าในขณะที่จะย้ายโจทก์ออกจากโรงพยาบาล ส. ไปรักษาต่อนั้น โรงพยาบาล ส. ได้ทำการรักษาเบื้องต้นเท่าที่จำเป็นไปบ้างแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะต้องทำการผ่าตัดรักษากระดูกขาที่หัก แม้จะเป็นกรณีที่จะต้องได้รับการรักษาโดยเร็ว แต่ก็ได้ความว่าวิทยาลัย พ. ซึ่งเป็นโรงพยาบาลตามสิทธิและโรงพยาบาล ว. ต่างก็มีสถานที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครด้วยกัน ใช้ระยะเวลาเดินทางใกล้เคียงกัน การนำส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลตามสิทธิหรือโรงพยาบาล ว. จึงไม่น่าจะใช้เวลาแตกต่างกันมากนัก ทั้งโรงพยาบาล ส. ได้ทำการรักษาเบื้องต้นเท่าที่จำเป็นให้แก่โจทก์บ้างแล้ว จึงไม่น่าจะเป็นไปได้ว่าหากนำส่งตัวโจทก์ไปรักษาที่โรงพยาบาลตามสิทธิแล้วการรักษาจะไม่ทันท่วงทีหรืออาจเกิดอันตรายร้ายแรงขึ้นแก่โจทก์ การที่บิดาโจทก์ส่งตัวโจทก์ไปรักษาที่โรงพยาบาล ว. จึงเป็นเพราะบิดาโจทก์มีความเชื่อถือการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาล ว. นั่นเอง การที่นำส่งตัวโจทก์ไปรักษาที่โรงพยาบาล ว. ซึ่งมิใช่โรงพยาบาลตามสิทธิจึงมิใช่กรณีที่มีเหตุจำเป็นต้องรับการบริการทางการแพทย์จากโรงพยาบาล ว. แต่เป็นความประสงค์ที่จะได้รับการรักษาจากโรงพยาบาลแห่งนี้ ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่จำเลยจะต้องจ่ายเงินค่าบริการทางการแพทย์ตามประกาศของสำนักงานประกันสังคม ฯ จำเลย ข้อ 4.2 ดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างของบริษัทซินเน็ค ประเทศไทย จำกัด ตำแหน่ง กราฟฟิคดีไซเนอร์ และเป็นผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 โดยมีวิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาลเป็นโรงพยาบาลตามสิทธิ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2546 โจทก์ขับรถจักรยานยนต์ไปเฉี่ยวชนกับรถยนต์ของบุคคลอื่น แรงกระแทกทำให้โจทก์ลอยข้ามรถยนต์คู่กรณีแล้วหล่นลงกลางถนนเอกมัย ศีรษะฟาดพื้นถนน หมวกนิรภัยแตก โจทก์หมดสติไป เหตุเกิดบริเวณถนนเอกมัยเยื้องกับร้านบ้านไร่กาแฟ ในช่องทางเดินรถไปถนนสุขุมวิท ขณะนั้นฝนตกหนัก สภาพถนนมีน้ำท่วมขัง เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัส มีพลเมืองดีนำโจทก์ส่งโรงพยาบาลสุขุมวิท เมื่อโจทก์รู้สึกตัวแพทย์ได้ฉีดยาระงับปวด และแจ้งให้บิดาของโจทก์ชื่อนายสุพจน์ทราบ เมื่อบิดาโจทก์มาถึงเห็นว่าโจทก์มีบาดแผลฉกรรจ์ บาดแผลปนเปื้อนด้วยดินโคลนและน้ำสกปรก หากปล่อยทิ้งไว้จะทำให้ติดเชื้ออย่างรุนแรง จึงขอย้ายโจทก์ไปรักษาที่โรงพยาบาลเวชธานี ระหว่างรักษาตัวที่โรงพยาบาลเวชธานีได้จ่ายค่ารักษาพยาบาลไปเป็นเงิน 62,676.10 บาท โจทก์ยื่นคำร้องต่อสำนักงานประกันสังคมเพื่อขอรับเงินประโยชน์ทดแทนดังกล่าว สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 1 ปฏิเสธการจ่ายเงินดังกล่าว โจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ คณะกรรมการอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการที่โจทก์ประสบอันตรายรถจักรยานยนต์เฉี่ยวชนกับรถยนต์ทำให้กระดูกท่อนล่างซ้ายติดกับข้อเข่าหักแบบเปิดนั้นจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยเร่งด่วนเพราะเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งในเบื้องต้นโจทก์ได้เข้ารับบริการทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลสุขุมวิทมาแล้ว ดังนั้นเมื่อต้องการย้ายสถานพยาบาล โจทก์ก็ควรจะย้ายไปรับบริการทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลตามสิทธิเพราะมีขีดความสามารถที่จะให้การรักษาได้ การที่โจทก์เข้ารับบริการทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลเวชธานีเป็นความประสงค์ของโจทก์เอง และถือว่าไม่มีเหตุผลอันสมควรที่โจทก์ไม่สามารถไปรับบริการทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลตามสิทธิได้จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าบริการทางการแพทย์ตามขอ และมีมติให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์เห็นว่าคำวินิจฉัยของสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 1 และคณะกรรมการอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะการเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลสุขุมวิทนั้นเนื่องจากพลเมืองดีเป็นผู้นำส่งไม่ได้เกิดจากความประสงค์ของโจทก์หรือบิดา โรงพยาบาลเวชธานีเป็นโรงพยาบาลเครือข่ายระดับบนของสำนักงานประกันสังคม มีศัลยแพทย์ทางกระดูกประจำอยู่ มีระยะห่างจากโรงพยาบาลสุขุมวิท 5 ถึง 6 กิโลเมตร การจราจรติดขัดน้อยกว่าที่จะเดินทางไปรักษาที่โรงพยาบาลตามสิทธิ เมื่อพิจารณาถึงความเจ็บป่วยของโจทก์ ลักษณะบาดแผลแล้วจำเป็นต้องให้การรักษาโดยเร่งด่วนเพื่อรักษาชีวิตและร่างกายของโจทก์ การเข้ารักษาที่โรงพยาบาลเวชธานีจึงมีเหตุสมควรและเมื่อรวมระยะเวลาที่โจทก์เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลสุขุมวิทและโรงพยาบาลเวชธานีแล้วซึ่งเป็นระยะเวลาเร่งด่วนเป็นการรักษาภายในระยะเวลา 72 ชั่วโมง นับแต่เวลาที่เข้ารับการบริการทางการแพทย์จนย้ายไปรักษาที่โรงพยาบาลตามสิทธิ และโรงพยาบาลตามสิทธิมีญาติของโจทก์รับราชการอยู่จึงย่อมได้รับความสะดวก แต่ด้วยเหตุผลดังกล่าวแล้วจึงเข้ารักษาโรงพยาบาลเวชธานี ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 1 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 1101/2547 ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2547 และจ่ายเงินค่าบริการทางการแพทย์จำนวน 62,676.10 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 1 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 1101/2547 ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2547 และให้จำเลยจ่ายเงินค่าบริการทางการแพทย์ตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 30 พฤศจิกายน 2547) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่า จำเลยจะต้องจ่ายเงินค่าบริการทางแพทย์ที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกันตนจ่ายให้แก่โรงพยาบาลเวชธานีไปแล้วหรือไม่ เห็นว่า หลังจากโจทก์ประสบอุบัติเหตุโจทก์ได้รับบาดเจ็บและหมดสติไปโดยโจทก์มีบาดแผลที่ขาหลายแห่ง และกระดูกขาหัก มีพลเมืองดีนำโจทก์ส่งโรงพยาบาลสุขุมวิท โจทก์รู้สึกตัวและโทรศัพท์ไปหาบิดา เมื่อบิดาโจทก์มาถึงจึงขอให้โรงพยาบาลสุขุมวิทฉีดยาระงับอาการปวดและเอกซเรย์กระดูกขาให้ หลังจากนั้นจึงทำเรื่องขอย้ายโจทก์ไปรักษาที่โรงพยาบาลเวชธานี โดยทำบันทำไว้ว่าไม่ประสงค์ให้โรงพยาบาลสุขุมวิทรักษาโจทก์ต่อไปและโจทก์ได้รับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลเวชธานีโดยแพทย์ทำการผ่าตัดกระดูกดามกระดูกขาและรักษาบาดแผลเสียค่าบริการทางการแพทย์ประเภทผู้ป่วยในเป็นเงิน 62,676.10 บาท ซึ่งจะเห็นได้ว่าในขณะที่จะย้ายโจทก์ออกจากโรงพยาบาลสุขุมวิทไปรักษาต่อนั้น โรงพยาบาลสุขุมวิทได้ทำการรักษาเบื้องต้นเท่าที่จำเป็นไปบ้างแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะต้องทำการผ่าตัดรักษากระดูกขาที่หัก แม้จะเป็นกรณีที่จะต้องได้รับการรักษาโดยเร็ว แต่ก็ได้ความว่าวิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาลซึ่งเป็นโรงพยาบาลตามสิทธิและโรงพยาบาลเวชธานีต่างก็มีสถานที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครด้วยกัน ใช้ระยะเวลาเดินทางใกล้เคียงกัน การนำส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลตามสิทธิหรือโรงพยาบาลเวชธานีจึงไม่น่าจะใช้เวลาแตกต่างกันมากนัก ทั้งโรงพยาบาลสุขุมวิทได้ทำการรักษาเบื้องต้นเท่าที่จำเป็นให้แก่โจทก์บ้างแล้ว จึงไม่น่าจะเป็นไปได้ว่าหากนำส่งตัวโจทก์ไปรักษาที่โรงพยาบาลตามสิทธิแล้วการรักษาจะไม่ทันท่วงทีหรืออาจเกิดอันตรายร้ายแรงขึ้นแก่โจทก์ การที่บิดาโจทก์ส่งตัวโจทก์ไปรักษาที่โรงพยาบาลเวชธานี จึงเป็นเพราะบิดาโจทก์มีความเชื่อถือการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเวชธานีนั่นเอง การที่นำส่งตัวโจทก์ไปรักษาที่โรงพยาบาลเวชธานีซึ่งมิใช่โรงพยาบาลตามสิทธิจึงมิใช่เป็นกรณีที่มีเหตุจำเป็นต้องรับการบริการทางการแพทย์จากโรงพยาบาลเวชธานี แต่เป็นความประสงค์ที่จะได้รับการรักษาจากโรงพยาบาลแห่งนี้ ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่จำเลยจะต้องจ่ายเงินค่าบริการทางการแพทย์ตามประกาศของสำนักงานประกันสังคมจำเลย ข้อ 4.2 ดังกล่าว กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยไปถึงว่าโจทก์เข้ารับการบริการทางการแพทย์ครั้งแรกที่โรงพยาบาลสุขุมวิทหรือโรงพยาบาลเวชธานีเพราะเมื่อไม่มีเหตุจำเป็นต้องรับการบริการทางแพทย์จากโรงพยาบาลเวชธานีเสียแล้ว จำเลยก็ไม่จำต้องจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกันตนจ่ายให้แก่โรงพยาบาลเวชธานีไปแล้วคืนให้แก่โจทก์ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องามประสงค์ที่จะไ

Share