คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2218/2521

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ความผิดฐานยักยอกตาม มาตรา 352 ผู้ยักยอกต้องครอบครองทรัพย์ที่ยักยอกแล้วเบียดบังเสีย เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยครอบครองทรัพย์ ก็ไม่เป็นยักยอก

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 จำคุก 6 เดือน ให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 307,503.27 บาทศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อเดือนมีนาคม2517 โจทก์ร่วมตกลงให้จำเลยจัดการสั่งซื้อเครื่องพิมพ์ยี่ห้อไฮเดลเบิร์ก แบบเค.เอส.ดี. ชนิดใช้แล้ว ขนาด 46*64 เซนติเมตร สร้างเมื่อปี ค.ศ. 1971 จากประเทศเยอรมันตะวันตกให้ 1 เครื่อง จำเลยจัดการสั่งซื้อให้ในนามของโจทก์ร่วมเป็นผู้ซื้อ ต่อมาเมื่อเครื่องพิมพ์ส่งมาแล้ว จำเลยได้ติดต่อกับนายอภิชาติซึ่งทำงานเป็นชิบปิ้งให้ดำเนินการนำเครื่องพิมพ์ออกมา นายอภิชาติได้ดำเนินการพิธีผ่านการศุลกากรเรียบร้อยแล้ว มอบให้นายวีระชัยซึ่งทำงานอยู่กับนายอภิชาติ ขี่รถจักรยานยนต์นำรถซึ่งบรรทุกเครื่องพิมพ์มาส่งที่ร้านโจทก์ร่วม เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2517 นางสมจิตร หุ้นส่วนผู้จัดการโจทก์ร่วมโทรศัพท์บอกจำเลยให้มาช่วยดู เมื่อเปิดหีบห่อออกแล้ว ปรากฏว่าเครื่องพิมพ์นั้นมีขนาด 38*52 เซนติเมตร สร้างในปี ค.ศ. 1960 ไม่ตรงกับที่สั่งซื้อ ในวันนั้นจำเลยได้โทรเลขแจ้งให้บริษัทผู้ขายเครื่องพิมพ์ทราบว่าเครื่องพิมพ์ที่ส่งไปผิดขนาด ผู้ซื้อไม่ยอมรับ จำเลยได้ติดต่อกับบริษัทเฟสโด้ซึ่งเป็นบริษัทตรวจสอบสภาพสินค้าให้มาตรวจสอบสภาพของเครื่องพิมพ์ บริษัทได้ส่งพนักงานมาตรวจสอบเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2517 ผลการตรวจสอบปรากฏว่า เครื่องพิมพ์มีสภาพไม่ตรงกับที่สั่งซื้อ วันที่ 10 สิงหาคม 2517 จำเลยมีจดหมายแจ้งให้บริษัทผู้ขายทราบอีกครั้งหนึ่ง โดยกล่าวอ้างถึงโทรเลขที่ได้ส่งมาก่อนแล้วพร้อมทั้งทวงถามค่าบำเหน็จในการขายเครื่องพิมพ์ให้บริษัท วันที่ 31 สิงหาคม2517 จำเลยมีจดหมายซ้ำไปอีกฉบับหนึ่ง แต่ไม่ได้รับคำตอบจากบริษัทผู้ขายเลย ต่อมาวันที่ 4 พฤศจิกายน 2517 นางสมจิตรไปร้องทุกข์ที่กองปราบปรามกล่าวหาจำเลยว่ายักยอกแท่นพิมพ์ที่สั่งซื้อ คงมีข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบโต้แย้งกันคือ โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบว่า การนำสินค้าผ่านพิธีการศุลกากรออกมาได้นั้น เจ้าหน้าที่ศุลกากรจะต้องตรวจสอบสินค้าให้ตรงกับรายการที่ผู้นำเข้าสำแดงในใบขนสินค้าขาเข้า ถ้าไม่ตรงกัน เจ้าหน้าที่จะต้องยึดสินค้าส่งไปดำเนินคดี การที่เครื่องพิมพ์ผ่านพิธีการศุลกากรมาได้ แสดงว่าบริษัทผู้ขายส่งเครื่องพิมพ์มาถูกต้องแล้ว แต่ได้มีการสับเปลี่ยนเครื่องพิมพ์ในระหว่างส่งจากท่าเรือมาที่ร้านโจทก์ร่วม ส่วนจำเลยนำสืบว่า ในทางปฏิบัติเจ้าหน้าที่ศุลกากรจะตรวจสอบเอกสารต่าง ๆ ให้ตรงกับใบขนสินค้าขาเข้าเท่านั้น การตรวจสภาพของสินค้าจะเปิดตรวจพอเป็นพิธี ผู้เป็นชิปปิ้งจะจ่ายเงินให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ตรวจเพื่อซื้อความสะดวก เมื่อผ่านพิธีการศุลกากรแล้ว การขนส่งจะต้องใช้รถบรรทุกขององค์การ ร.ส.พ. รถที่จะใช้รวมทั้งพนักงานขับรถและกรรมกรประจำรถจะต้องเป็นไปตามลำดับ ซึ่งเจ้าหน้าที่ขององค์การ ร.ส.พ. เป็นผู้กำหนด จะเลือกเอาเองไม่ได้ เมื่อรถจะออกจากท่าเรือ จะต้องบันทึกเวลาออก เส้นทางขนส่ง จะขับรถออกนอกเส้นทางไม่ได้ มีสายตรวจคอยตรวจสอบรถให้วิ่งตามเส้นทางด้วย เมื่อรถกลับมาจะต้องลงบันทึกเวลากลับ การที่จะสับเปลี่ยนเครื่องพิมพ์ในระหว่างขนส่งจึงทำไม่ได้

ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 นั้น ในเบื้องต้นผู้ยักยอกจะต้องครอบครองทรัพย์ที่ถูกยักยอกเสียก่อน แล้วเบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต แต่คดีนี้ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ครอบครองหรือร่วมกับผู้อื่นครอบครองเครื่องพิมพ์ที่ผู้เสียหายหรือโจทก์ร่วมกล่าวหาว่าจำเลยยักยอกแต่อย่างใด นับตั้งแต่เครื่องพิมพ์มาถึงท่าเรือจนกระทั่งมีการนำออกและส่งให้โจทก์ร่วม โจทก์ร่วมมอบอำนาจให้นายอภิชาติ จิระดูยุพลชัย เป็นผู้ดำเนินการนำเครื่องพิมพ์ออกมาให้โจทก์ร่วม แม้ว่าจำเลยจะเป็นผู้มาติดต่อหาชิปปิ้ง คือนายอภิชาติให้โจทก์ร่วม ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทำงานของนายอภิชาติแต่อย่างใด เมื่อจำเลยไม่ได้ครอบครองหรือร่วมกับผู้อื่นครอบครองเครื่องพิมพ์ จำเลยก็ไม่อาจกระทำผิดฐานยักยอกได้ ไม่ว่าเครื่องพิมพ์ที่บริษัทผู้ขายส่งมาจะถูกต้องตามที่โจทก์ร่วมสั่งซื้อหรือไม่ก็ตาม”

พิพากษายืน

Share