คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2195/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในคดีความผิดฐานปล้นทรัพย์ แม้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาว่าเกิดเหตุวันที่ 8 ธันวาคม 2513 แตกต่างกับข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวในฟ้องว่าเกิดเหตุวันที่ 7 ธันวาคม 2513 ก็จริง แต่ก็มิใช่เป็นข้อแตกต่างในสารสำคัญ เพราะวันเวลาที่เกิดเหตุเป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์จะต้องกล่าวในฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158 เท่านั้น และเมื่อจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ก็จะยกฟ้องด้วยเหตุนี้ไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2513 เวลากลางวัน จำเลยกับพวกอีก 2 คนมีไม้เป็นอาวุธ ร่วมกันปล้นเอาเงินสดของนายอ่อนไป5 บาท โดยใช้ไม้ขู่เข็ญจะทำร้ายนายอ่อนด้วยขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340, 83

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณาต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง และจำเลยหลงข้อต่อสู้จะลงโทษจำเลยไม่ได้ พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ทางพิจารณาได้ความว่า เหตุเกิดคนละวันกับที่โจทก์ระบุมาในฟ้องวันเกิดเหตุเป็นรายละเอียดในฟ้องหาใช่ข้อสารสำคัญไม่ และจำเลยมิได้หลงข้อต่อสู้ จะยกฟ้องเพราะเหตุฟ้องผิดวันไม่ได้ พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาว่าเกิดเหตุวันที่ 8 ธันวาคม 2513 แตกต่างกับข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวในฟ้องว่า เกิดเหตุวันที่ 7 ธันวาคม 2513 ก็จริง แต่ก็มิให้เป็นข้อแตกต่างในข้อสารสำคัญ เพราะวันเวลาที่เกิดเหตุเป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์จะต้องกล่าวในฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 เท่านั้น และจำเลยก็มิได้หลงต่อสู้เพราะจำเลยเบิกความได้ความว่า วันที่ 7 ธันวาคม 2513 ที่โจทก์ฟ้องหาว่าจำเลยกระทำผิดนั้นจำเลยมิได้ปล้นทรัพย์ผู้เสียหาย เป็นแต่จำเลยไปขอเงินผู้เสียหายที่บ้านผู้เสียหายเท่านั้น เห็นได้ว่าจำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี จึงเบิกความได้ตรงตามข้อหา แม้จำเลยจะเบิกความต่อไปอีกว่า วันที่ 8 ธันวาคม 2513 จำเลยอยู่บ้านตลอดวัน มิได้หนีไปไหน ก็หมายความว่าจำเลยต่อสู้ว่ามิได้กระทำผิดฐานปล้นทรัพย์นั่นเอง จึงเห็นได้ว่าจำเลยมิได้หลงข้อต่อสู้แต่อย่างใด ฉะนั้น จะยกฟ้องโจทก์ด้วยเหตุนี้มิได้

พิพากษายืน

Share