แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านทำความเห็นส่งสำนวนเรื่องหนี้สินที่มีผู้ขอชำระหนี้ต่อศาล แม้จะมีความเห็นควรให้ได้รับชำระหนี้ แต่ความเห็นของผู้คัดค้านนั้นไม่มีผลบังคับ เพราะศาลอาจพิจารณาวินิจฉัยและมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นได้ฉะนั้น จึงย่อมไม่มีการกระทำหรือคำวินิจฉัยของผู้คัดค้านอย่างหนึ่งอย่างใดที่ทำให้ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ได้รับความเสียหายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 146 ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลให้มีคำสั่งกลับความเห็นของผู้คัดค้าน ต่อเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งคำขอรับชำระหนี้อย่างไรแล้ว ผู้ร้องทั้งสองจึงมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่ผู้ร้องได้รับทราบคำสั่งนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 153
ข้อฎีกาของผู้ร้องที่ว่า ตามคำสั่งของผู้คัดค้านและศาลชั้นต้นที่ได้วินิจฉัยให้ธนาคาร ก. เป็นเจ้าหนี้มีประกันโดยไม่ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนด2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เป็นการไม่ชอบนั้นเมื่อเป็นกรณีเดียวกับผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้แก้ไขความเห็นของผู้คัดค้านโดยให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของธนาคาร ก. แต่เมื่อผู้ร้องมิใช่ผู้ได้รับความเสียหายโดยการกระทำหรือคำวินิจฉัยของผู้คัดค้านตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 146 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 แม้วินิจฉัยไปก็ไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ศาลฎีกาจึงไม่จำต้องวินิจฉัยในปัญหาข้อนี้
ผู้ร้องซึ่งเป็นโจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านขอให้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันแต่ผู้คัดค้านเห็นไม่สมควรเพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันดังกล่าวและมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้อง การที่ผู้ร้องมายื่นคำร้องต่อศาลขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนที่ดินระหว่างจำเลยกับธนาคาร ก. ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 115 และมีคำขอให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนจำนองตามสัญญาจำนองที่ดินระหว่างจำเลยกับธนาคาร ก. และให้ผู้คัดค้านดำเนินการตามคำร้องของผู้ร้องต่อไปจึงเป็นกรณีที่ผู้ร้องทั้งสองได้ยื่นคำร้องต่อผู้คัดค้านขอให้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินรายนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 115 เมื่อปรากฏว่าผู้คัดค้านสั่งยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสอง กรณีจึงถือได้ว่าผู้ร้องทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ได้รับความเสียหายโดยคำวินิจฉัยของผู้คัดค้านแล้ว ผู้ร้องทั้งสองชอบที่จะยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ศาลมีคำสั่งกลับคำวินิจฉัยของผู้คัดค้านตามมาตรา 146 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ได้
การเพิกถอนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 115 เพียงแต่ลูกหนี้ได้กระทำหรือยินยอมให้กระทำโดยมุ่งหมายให้เจ้าหนี้คนหนึ่งได้เปรียบเจ้าหนี้อื่น ศาลก็มีอำนาจสั่งเพิกถอนได้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงความสุจริตของเจ้าหนี้ผู้ถูกเพิกถอน
เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2537 ธนาคาร ก. ได้ให้จำเลยกู้เงินโดยจำเลยจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 67669 และ 67670 ไว้เป็นประกันหนี้เงินกู้ของตนเองให้แก่ธนาคาร ก. แต่จำเลยถูกผู้ร้องฟ้องคดีล้มละลายในวันที่ 6 ตุลาคม 2537ธนาคาร ก. จึงอยู่ในฐานะเจ้าหนี้ของจำเลยตามสัญญากู้เงินดังกล่าวในขณะมีการจดทะเบียนจำนอง ซึ่งเป็นกรณีที่จำเลยได้กระทำหรือยินยอมให้กระทำในระหว่างระยะเวลา 3 เดือน ก่อนมีการขอให้ล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 115 การที่จำเลยนำที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวไปทำสัญญาและจดทะเบียนจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้กับธนาคาร ก. ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ ย่อมจะทำให้ธนาคาร ก. เจ้าหนี้รายนี้แต่ผู้เดียวมีสิทธิบังคับชำระหนี้เอาจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวได้ก่อนเจ้าหนี้อื่น ๆตามพฤติการณ์แห่งคดีย่อมเป็นการแสดงถึงเจตนาของจำเลยว่ามุ่งหมายให้ธนาคาร ก.ผู้รับจำนองได้เปรียบเจ้าหนี้อื่น ๆ
ผู้ร้องทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้าน ขอให้เพิกถอนการจำนองโดยผลของกฎหมายตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 115 การที่ผู้คัดค้านนำสืบหักล้างเพียงว่าธนาคาร ก. และจำเลยไม่ได้เป็น เจ้าหนี้และลูกหนี้มาก่อน จึงไม่ขอเพิกถอนการจำนองให้ตามที่ผู้ร้องร้องขอนั้น เมื่อจำเลยกับธนาคาร ก. เป็นเจ้าหนี้และต้องด้วยเงื่อนไขที่ผู้ร้องจะร้องขอให้ผู้คัดค้านขอให้เพิกถอนการจำนองที่ดินตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวข้างต้นได้และผู้คัดค้านมีคำสั่งไม่ดำเนินการเพิกถอนการจำนองให้ผู้ร้อง จึงถือได้ว่าผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้รับความเสียหายโดยคำวินิจฉัยหรือการกระทำของผู้คัดค้านตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 146 และกรณีตามคำร้องของผู้ร้องที่ยื่นต่อศาลก็ปรากฏว่ามีการขอให้ศาลมีคำสั่งกลับคำสั่งของผู้คัดค้านให้มีคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนจำนองรายนี้โดยสั่งให้ผู้คัดค้านดำเนินการตามคำร้องที่ขอไว้กับผู้คัดค้านต่อไป เท่ากับว่าผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ศาลมีคำสั่งกลับคำวินิจฉัยของผู้คัดค้านตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 146 จึงชอบที่ศาลจะสั่งให้ผู้คัดค้านดำเนินการยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อมีคำสั่งต่อไป
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2537 และพิพากษาให้จำเลยล้มละลายเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2538 ต่อมาผู้ร้องทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ยื่นคำร้องต่อผู้คัดค้านขอให้ดำเนินการเพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 61651 ซึ่งต่อมาแบ่งแยกเป็นโฉนดเลขที่ 67669 และ 67670 ระหว่างจำเลยผู้จำนองกับธนาคารกรุงไทย จำกัด ผู้รับจำนอง เนื่องจากเป็นการกระทำในระหว่างระยะเวลา 3 เดือน ก่อนมีการขอให้ล้มละลายโดยมุ่งหมายให้ผู้ร้องทั้งสองและเจ้าหนี้อื่นเสียเปรียบ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 115 และในการที่ผู้คัดค้านไม่ทำการเพิกถอน ย่อมเป็นการสละสิทธิโดยมิได้รับความเห็นชอบของกรรมการเจ้าหนี้ ขัดต่อมาตรา 145(3) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 นอกจากนี้ ธนาคารกรุงไทย จำกัด ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดเวลา 2 เดือน นับจากวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลย จึงเป็นคำขอรับชำระหนี้ที่ไม่สมควรได้รับชำระหนี้ เพราะเป็นมูลหนี้ที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด ยอมให้จำเลยก่อขึ้นทั้ง ๆ ที่จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว ผู้ร้องทั้งสองไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของผู้คัดค้านที่ได้มีคำสั่งให้ธนาคารกรุงไทย จำกัด ได้รับชำระหนี้จำนองตามที่ขอ ขอให้ศาลมีคำสั่งกลับคำสั่งของผู้คัดค้าน โดยมีคำสั่งยกคำขอรับชำระหนี้ของธนาคารกรุงไทย จำกัด และขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินระหว่างจำเลยกับธนาคารกรุงไทย จำกัด โดยให้ผู้คัดค้านดำเนินการตามคำร้องของผู้ร้องทั้งสองต่อไปด้วย
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสอง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสอง
ผู้ร้องทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ร้องทั้งสองเป็นโจทก์ฟ้องให้จำเลยล้มละลายเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2537 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2537 และพิพากษาให้ล้มละลายวันที่ 25 กรกฎาคม 2538 ขณะนี้ยังไม่พ้นภาวะล้มละลาย เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2539 ธนาคารกรุงไทย จำกัด (เจ้าหนี้) ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตาม มาตรา 95 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 อ้างว่าเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2537 จำเลยได้กู้ยืมเงินไปจากเจ้าหนี้รวม 2 ครั้ง เป็นเงิน 1,282,500 บาท และในวันเดียวกันจำเลยได้จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 67669 และ 67670 ไว้เป็นประกัน ต่อมาวันที่ 5 มีนาคม 2539 ชั้นสอบสวนคำขอรับชำระหนี้ของผู้คัดค้านผู้ร้องทั้งสองได้ยื่นคำร้องคัดค้านขอรับชำระหนี้ของธนาคารกรุงไทย จำกัด โดยขอให้ยกคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ดังกล่าวเสีย และขอให้เพิกถอนสัญญาจำนองที่ดินที่จำเลยได้จดทะเบียนจำนองเป็นประกันการชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินที่จำเลยทำไว้กับธนาคารกรุงไทย จำกัด ต่อมาวันที่ 7 สิงหาคม 2539 ผู้คัดค้านมีคำสั่งให้ธนาคารกรุงไทย จำกัด ได้รับชำระหนี้โดยมิได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสัญญาจำนองระหว่างธนาคารกรุงไทย จำกัด กับจำเลย
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องทั้งสองในประการแรกว่าที่ผู้คัดค้านทำความเห็นส่งสำนวนเรื่องหนี้สินที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด ขอรับชำระหนี้ต่อศาลชั้นต้นนั้น ผู้ร้องทั้งสองจะมีสิทธิร้องขอให้ศาลมีคำสั่งกลับคำสั่งของผู้คัดค้านโดยให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของธนาคารกรุงไทย จำกัด ได้หรือไม่เห็นว่าการที่ผู้คัดค้านทำความเห็นส่งสำนวนเรื่องหนี้สินที่มีผู้ขอรับชำระหนี้ต่อศาลแม้จะมีความเห็นควรให้ได้รับชำระหนี้ แต่ความเห็นของผู้คัดค้านนั้นไม่มีผลบังคับแต่อย่างใดเพราะศาลอาจพิจารณาวินิจฉัยและมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นได้ ฉะนั้น จึงยังไม่มีการกระทำหรือคำวินิจฉัยของผู้คัดค้านอย่างหนึ่งอย่างใดที่ทำให้ผู้ร้องทั้งสองได้รับความเสียหายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 146 ผู้ร้องทั้งสองจะยื่นคำร้องต่อศาลให้มีคำสั่งกลับความเห็นของผู้คัดค้านหาได้ไม่ ต่อเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งอย่างไรแล้ว ผู้ร้องทั้งสองจึงมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่ผู้ร้องทั้งสองได้รับทราบคำสั่งนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153
ส่วนข้อฎีกาของผู้ร้องทั้งสองที่ว่า ตามคำสั่งของผู้คัดค้านและศาลชั้นต้นที่ได้วินิจฉัยให้ธนาคารกรุงไทย จำกัด เป็นเจ้าหนี้มีประกันโดยไม่ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนด 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เป็นการไม่ชอบนั้น เป็นกรณีเดียวกับที่ผู้ร้องทั้งสองขอให้ศาลมีคำสั่งให้แก้ไขความเห็นของผู้คัดค้านโดยให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของธนาคารกรุงไทย จำกัด เมื่อผู้ร้องทั้งสองมิใช่ผู้ได้รับความเสียหายโดยการกระทำหรือคำวินิจฉัยของผู้คัดค้านตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 146 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ดังที่ได้วินิจฉัยข้างต้นแม้วินิจฉัยไปก็ไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ศาลฎีกาจึงไม่จำต้องวินิจฉัยในปัญหาข้อนี้
ปัญหาต่อไปว่า คดีนี้เป็นคดีที่ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องต่อศาลคัดค้านคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 146ตามที่ผู้ร้องทั้งสองฎีกาหรือไม่ ในปัญหาดังกล่าวศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยว่า การที่จะขอศาลเพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินระหว่างธนาคารกรุงไทย จำกัด กับจำเลยตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 115 นั้น เป็นอำนาจโดยเฉพาะของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้ร้องทั้งสองซึ่งเป็นโจทก์หรือเจ้าหนี้รายใดหาทำได้ไม่ เมื่อผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องต่อผู้คัดค้านขอให้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนจำนอง แต่ผู้คัดค้านสั่งยกคำร้องผู้ร้องทั้งสองชอบที่จะยื่นคำร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้คัดค้านตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 146 จะมายื่นคำร้องต่อศาลโดยตรงเพื่อขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนจำนองดังกล่าวไม่ได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าผู้คัดค้านมีคำสั่งเนื่องมาจากผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องคัดค้านตามคำร้องลงวันที่ 5 มีนาคม 2539 ตามเอกสารหมาย ร.8โดยมีข้อความในคำร้องว่า ก่อนที่ผู้ร้องทั้งสองฟ้องให้จำเลยล้มละลายเพียง 21 วันซึ่งอยู่ในระยะเวลา 3 เดือน ก่อนมีการขอให้ล้มละลาย จำเลยได้ทำสัญญากู้ยืมเงินและจดทะเบียนจำนองที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยเป็นประกันหนี้เงินกู้ยืมให้ไว้แก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด ตามพฤติการณ์เป็นการทำให้เจ้าหนี้อื่นเสียเปรียบ ขอให้ผู้คัดค้านพิจารณายกคำร้องขอรับชำระหนี้ของธนาคารกรุงไทย จำกัด ซึ่งคำร้องของผู้ร้องทั้งสองดังกล่าวผู้คัดค้านได้มีคำวินิจฉัยปรากฏในคำสั่ง ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2539 ตามเอกสารหมาย ร.9 หน้าที่ 4 ว่า “พิเคราะห์ปัญหาเรื่องการเพิกถอนการจำนองนั้นเนื่องจากธนาคารกรุงไทย จำกัด ผู้รับจำนองประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์มีวัตถุประสงค์ให้กู้ยืมเงินและให้สินเชื่อแก่บุคคลทั่วไปการที่ลูกหนี้ (จำเลย) กู้เงินประจำเพื่อที่อยู่อาศัยจากธนาคารกรุงไทย จำกัด โดยจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันซึ่งเป็นเรื่องปกติทางการค้าของธนาคาร จึงไม่อยู่ในข่ายที่จะเพิกถอนการโอนตามมาตรา 115 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483” แล้วผู้คัดค้านวินิจฉัยให้ธนาคารกรุงไทย จำกัด ได้รับชำระหนี้ ดังนี้ แสดงว่า ผู้ร้องทั้งสองซึ่งเป็นโจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อผู้คัดค้านขอให้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันดังกล่าว ผู้คัดค้านเห็นไม่สมควรเพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันดังกล่าวและมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสอง การที่ผู้ร้องทั้งสองมายื่นคำร้องต่อศาลขอให้ทำการไต่สวนและมีคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนที่ดินระหว่างจำเลยกับธนาคารกรุงไทย จำกัด ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 115 และมีคำขอท้ายคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งกลับคำสั่งของผู้คัดค้านโดยสั่งให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองตามสัญญาจำนองที่ดินลงวันที่ 15 กันยายน 2537 ระหว่างจำเลยกับธนาคารกรุงไทย จำกัด และให้ผู้คัดค้านดำเนินการตามคำร้องของผู้ร้องทั้งสองต่อไปนั้น จึงเป็นกรณีที่ผู้ร้องทั้งสองได้ยื่นคำร้องต่อผู้คัดค้านขอให้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินรายนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 115 แต่ผู้คัดค้านสั่งยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสอง ถือได้ว่าผู้ร้องทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ได้รับความเสียหายโดยคำวินิจฉัยของผู้คัดค้านแล้ว ดังนั้น ผู้ร้องทั้งสองชอบที่จะยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ศาลมีคำสั่งกลับคำวินิจฉัยของผู้คัดค้านตามมาตรา 146 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าผู้ร้องทั้งสองไม่มีอำนาจยื่นคำร้องนี้ต่อศาลนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
เมื่อผู้ร้องทั้งสองมีอำนาจยื่นคำร้องในคดีนี้ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่าคำสั่งของผู้คัดค้านที่ไม่ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองนั้นเป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แม้ศาลอุทธรณ์จะยังมิได้วินิจฉัยถึงประเด็นข้อนี้ แต่ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยเสียเองโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยและเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2537 ธนาคารกรุงไทย จำกัด ได้ให้จำเลยกู้เงินโดยจำเลยจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 67669 และ 67670ไว้เป็นประกันหนี้เงินกู้ของตนเองให้แก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด แต่จำเลยถูกผู้ร้องทั้งสองฟ้องคดีล้มละลายในวันที่ 6 ตุลาคม 2537 ธนาคารกรุงไทย จำกัด จึงอยู่ในฐานะเจ้าหนี้ของจำเลยตามสัญญากู้เงินดังกล่าวในขณะมีการจดทะเบียนจำนองซึ่งเป็นกรณีที่จำเลยได้กระทำหรือยินยอมให้กระทำในระหว่างระยะเวลา 3 เดือน ก่อนมีการขอให้ล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 115 ปัญหาว่า จำเลยได้กระทำโดยมุ่งหมายให้ธนาคารกรุงไทย จำกัด เจ้าหนี้รายนี้ได้เปรียบเจ้าหนี้อื่นหรือไม่ เห็นว่า การเพิกถอนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 115 เพียงแต่ลูกหนี้ได้กระทำหรือยินยอมให้กระทำโดยมุ่งหมายให้เจ้าหนี้คนหนึ่งได้เปรียบเจ้าหนี้อื่น ศาลก็มีอำนาจสั่งเพิกถอนได้แล้ว ไม่คำนึงถึงความสุจริตของเจ้าหนี้ผู้ถูกเพิกถอน การที่จำเลยนำที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวไปทำสัญญาและจดทะเบียนจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้กับธนาคารกรุงไทย จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ ย่อมจะทำให้ธนาคารกรุงไทย จำกัด เจ้าหนี้รายนี้แต่ผู้เดียวมีสิทธิบังคับชำระหนี้เอาจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวได้ก่อนเจ้าหนี้อื่น ๆ ตามกฎหมาย ตามพฤติการณ์แห่งคดีย่อมเป็นการแสดงถึงเจตนาของจำเลยว่ามุ่งหมายให้ธนาคารกรุงไทย จำกัด ผู้รับจำนองได้เปรียบเจ้าหนี้อื่น ๆ และคดีนี้ผู้ร้องทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อผู้คัดค้านขอให้เพิกถอนการจำนองโดยผลของกฎหมายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 115 การที่ผู้คัดค้านนำสืบหักล้างเพียงว่าธนาคารกรุงไทย จำกัด และจำเลยไม่ได้เป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้มาก่อน จึงไม่ขอเพิกถอนการจำนองให้ตามที่ผู้ร้องทั้งสองร้องขอนั้น เห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกับธนาคารกรุงไทย จำกัด เป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้และต้องด้วยเงื่อนไขที่ผู้ร้องทั้งสองจะร้องขอให้ผู้คัดค้านขอให้เพิกถอนการจำนองที่ดินได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวข้างต้นได้ เมื่อผู้คัดค้านมีคำสั่งไม่ดำเนินการเพิกถอนการจำนองให้ผู้ร้องทั้งสองจึงถือได้ว่าผู้ร้องทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้รับความเสียหายโดยคำวินิจฉัยหรือการกระทำของผู้คัดค้านตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 146 และกรณีตามคำร้องของผู้ร้องทั้งสองที่ยื่นต่อศาลก็ปรากฏว่ามีการขอให้ศาลมีคำสั่งกลับคำสั่งของผู้คัดค้านให้มีคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนจำนองรายนี้โดยสั่งให้ผู้คัดค้านดำเนินการตามคำร้องที่ขอไว้กับผู้คัดค้านต่อไป เท่ากับว่าผู้ร้องทั้งสองได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ศาลมีคำสั่งกลับคำวินิจฉัยของผู้คัดค้านตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 146
พิพากษาแก้เป็นว่า ตามคำสั่งของผู้คัดค้าน (เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์)ฉบับลงวันที่ 7 สิงหาคม 2539 ในส่วนที่มีความเห็นไม่ขอเพิกถอนการจำนองให้ผู้คัดค้านดำเนินการยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อมีคำสั่งต่อไปตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 115 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์