แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัมปทานทำไม้หวงห้ามธรรมดานอกจากไม้สักทั้ง 5 แปลง ข้อ 17 วรรคหนึ่งระบุว่า”ตลอดระยะเวลาสัมปทานนี้ผู้รับสัมปทานมีหน้าที่ปลูกต้นไม้บำรุงรักษาต้นไม้ที่ปลูกและที่ขึ้นอยู่แล้วในป่าสัมปทานและบำรุงรักษาป่าสัมปทานด้วนค่าใช้จ่ายของผู้รับสัมปทาน ทั้งนี้ตามวิธีการที่กรมป่าไม้ทั้งหมด รวมทั้งชนิดของต้นไม้ที่กำหนดให้ปลูกด้วย” ดังนั้น ก่อนสัมปทานจะสิ้นสุดลง จำเลยจึงต้องมีภาระที่จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขสัมปทานดังกล่าว แม้ต่อมาในระหว่างอายุสัมปทานทำไม้ของจำเลย โจทก์โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีได้มีคำสั่งให้สัมปทานทำไม้หวงห้ามทุกชนิดสิ้นสุดลงทั้งแปลง คำสั่งดังกล่าวคงมีผลเพียงทำให้สิทธิที่จำเลยจะทำไม้ได้ต่อไปภายในอายุสัมปทานสิ้นสุดลงเท่านั้น แต่ จำเลย ยังมีภาระหน้าที่จะต้องปลูกป่าและบำรุงป่าทดแทนในส่วนที่จำเลยได้ทำไม้ไปแล้วก่อนเวลาสัมปทานจะสิ้นสุดลง ตามเงื่อนไขสัมปทานข้อ 17 วรรคหนึ่ง ตลอดระยะเวลาสัมปทาน ผู้รับสัมปทานมีหน้าที่บำรุงรักษาต้นไม้ที่ปลูกและที่ขึ้นอยู่แล้วในป่าสัมปทานแต่ต่อมาในระหว่างอายุสัมปทานโจทก์ได้มีคำสั่งให้สัมปทานทำไม้หวงห้ามทุกชนิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 ทุกสัมปทานสิ้นสุดลงทั้งแปลงและกรมป่าไม้ได้มีหนังสือห้ามไม่ให้ผู้ได้รับสัมปทานทำไม้อีกต่อไป และให้ขนเครื่องมือเครื่องจักรออกจากป่าในเขตสัมปทานสัมปทานการทำไม้ของจำเลยจึงสิ้นสุดลง ดังนั้น ภาระในการบำรุงรักษาต้นไม้ที่ปลูกและที่มีอยู่แล้วในป่าสัมปทานและบำรุงรักษาป่าสัมปทานของจำเลยจึงหมดไป ตามเงื่อนไขสัมปทานทำไม้หวงห้ามธรรมดานอกจากไม้สักข้อ 20 ระบุว่า “ภายในเขตป่าสัมปทานและป่าที่มีการปลูกและบำรุงรักษาตามข้อ 17 วรรคสอง ผู้รับสัมปทานมีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือพนักงานเจ้าหน้าที่ในการดูแลรักษาและป้องกันมิให้มีการลักลอบตัดไม้แผ้วถางป่า หรือทำการก่นสร้างป่าหรือเผาป่า หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการทำลายป่า หรือยึดถือครอบครองป่าหรือทำอันตรายหรือจับสัตว์ป่าโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่ขอร้องและในกรณีที่มีผู้ละเมิดกฎหมายดังกล่าว ผู้รับสัมปทานต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบทันที” ตามเงื่อนไขดังกล่าวจำเลยจึงมี หน้าที่ให้ความช่วยเหลือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่ขอร้องเท่านั้น มิได้มีหน้าที่ถึงขนาดว่า หากมีราษฎรบุกรุกป่าหรือมีไฟไหม้ป่า จำเลยจะต้องรับผิดชอบด้วยความเสียหายของสวนป่าที่ปลูกตามเงื่อนไขสัมปทานทำไม้ของจำเลยส่วนใหญ่เกิดจากราษฎรบุกรุกและถูกไฟไหม้ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายส่วนนี้ให้โจทก์ ตามเงื่อนไขสัมปทานทำไม้หวงห้ามธรรมดานอกจากไม้สักข้อ 19 ระบุว่า “ผู้รับสัมปทานมีหน้าที่ดำเนินการป้องกันไฟสำหรับป่าสัมปทาน และป่าที่มีการปลูกและบำรุงรักษาตามข้อ 17 วรรคสอง ทั้งนี้ ตามวิธีการที่กรมป่าไม้กำหนด” และกรมป่าไม้ได้กำหนดวิธี การป้องกันไฟป่าไว้ ซึ่งตามข้อกำหนดวิธีการป้องกันไฟป่า ข้อ 9 กำหนดว่า เมื่อสัมปทานสิ้นสุดลงด้วยเหตุใด ๆ ก็ตาม ผู้รับ สัมปทานยินยอมยกหกดูไฟและอุปกรณ์ในการดับไฟทั้งหมดให้ เป็นของกรมป่าไม้ ดังนั้นเมื่อต่อมาวันที่ 17 มกราคม 2532 โจทก์ได้มีคำสั่งที่ 32/2532 ให้สัมปทานทำไม้หวงห้ามทุกชนิดทุกสัมปทานสิ้นสุดลงทั้งแปลง จำเลยจึงต้องส่งมอบหอดูไฟและอุปกรณ์ในการดับไฟทั้งหมดให้กรมป่าไม้ จำเลยได้สร้างหอดูไฟให้แล้ว 2 หอ และสัมปทานทำไม้สิ้นสุดลงโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รื้อถอน หอดูไฟดังกล่าวไปหรือทำให้เสียหายหรือบุบสลายแก่หอดูไฟดังกล่าวจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดใช้ราคาค่าหอดูไฟให้โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ให้สัมปทานทำไม้แก่จำเลย 5 สัมปทานต่อมาโจทก์มีคำสั่งให้สัมปทานทำไม้หวงห้ามทุกชนิด(เว้นสัมปทานทำไม้ป่าชายเลน) สิ้นสุดลง ในระหว่างที่สัมปทานยังไม่สิ้นสุดลง จำเลยประพฤติผิดข้อกำหนดและเงื่อนไขในสัมปทาน โดยค้างค่าปลูกป่าและบำรุงรักษาป่าเป็นเงิน32,518,650.40 บาท เนื้อที่ป่าที่จำเลยปลูกขาดหายคิดเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้นจำนวน 20,413,162.20 บาท และเมื่อสัมปทานสิ้นสุดลงจำเลยไม่ส่งมอบหอดูไฟและอุปกรณ์ในการดับไฟทั้งหมดให้แก่กรมป่าไม้ตามข้อกำหนดเงื่อนไขในสัมปทานเป็นเงิน3,307,985 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 56,239,797.60 บาทขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 56,239,797.60 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยได้รับสัมปทานทำไม้หวงห้ามธรรมดานอกจากไม้สักในเขตพื้นที่จังหวัดระนองรวม 5 สัมปทาน โดยโจทก์เป็นผู้ออกสัมปทานให้ในนามรัฐบาล ทุกสัมปทานมีกำหนดระยะเวลา30 ปี และสิ้นอายุสัมปทานในวันที่ 30 กันยายน 2546 ต่อมาวันที่ 17 มกราคม 2532 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโจทก์โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีได้อาศัยอำนาจแห่งพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 พ.ศ. 2432มีคำสั่งให้สัมปทานทำไม้หวงห้ามทุกชนิด (เว้นสัมปทานทำไม้ป่าชายเลน) ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 ทุกสัมปทานสิ้นสุดลงทั้งแปลง คำสั่งดังกล่าวมีผลให้สิทธิในการทำไม้ทั้งห้าสัมปทานของจำเลยสิ้นสุดลง
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยประพฤติผิดข้อกำหนดและเงื่อนไขสัมปทานและจะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่เพียงใดสำหรับการปลูกป่าทดแทนและบำรุงรักษาป่า เห็นว่า ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัมปทานทำไม้หวงห้ามธรรมดานอกจากไม้สักทั้ง5 แปลง ข้อ 17 วรรคหนึ่งระบุว่า “ตลอดระยะเวลาสัมปทานนี้ผู้รับสัมปทานมีหน้าที่ปลูกต้นไม้ บำรุงรักษาต้นไม้ที่ปลูกและที่ขึ้นอยู่แล้วในป่าสัมปทาน และบำรุงรักษาป่าสัมปทานด้วยค่าใช้จ่ายของผู้รับสัมปทาน ทั้งนี้ตามวิธีการที่กรมป่าไม้กำหนดรวมทั้งชนิดของต้นไม้ที่กำหนดให้ปลูกด้วย” ดังนั้นก่อนสัมปทานจะสิ้นสุดลง จำเลยจึงต้องมีภาระที่จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขสัมปทานดังกล่าว แม้ต่อมาเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2532ซึ่งอยู่ในระหว่างอายุสัมปทานทำไม้ของจำเลยโจทก์โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีได้มีคำสั่งให้สัมปทานทำไม้หวงห้ามทุกชนิด (เว้นสัมปทานทำไม้ป่าชายเลน) สิ้นสุดลงทั้งแปลงคำสั่งดังกล่าวคงมีผลเพียงทำให้สิทธิที่จำเลยจะทำไม้ได้ต่อไปภายในอายุสัมปทานสิ้นสุดลงเท่านั้น แต่จำเลยยังมีภาระหน้าที่จะต้องปลูกป่าและบำรุงป่าทดแทนในส่วนที่จำเลยได้ทำไม้ไปแล้วก่อนเวลาสัมปทานจะสิ้นสุดลง และในข้อนี้ข้อเท็จจริงตามที่คู่ความนำสืบรับกันฟังได้ว่า ก่อนที่จะมีคำสั่งให้จำเลยหยุดการทำไม้ในเขตสัมปทานจำเลยยังค้างการปลูกป่าเป็นเนื้อที่จำนวน 10,569.44 ไร่ คิดเป็นค่าใช้จ่าย29,805,847.32 บาท และต้องบำรุงป่าต่อไปคิดเป็นเงิน2,712,803.08 บาท รวมเป็นเงิน 32,518,650.40 บาท เมื่อจำเลยยังไม่ได้ดำเนินการตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัมปทานให้ครบถ้วนโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะขอให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวให้โจทก์ได้ส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยชำระเงินในส่วนที่เนื้อที่ป่าที่จำเลยปลูกขาดหายไปเป็นเงิน 20,413,162.20 บาทนั้น เห็นว่าตามเงื่อนไขสัมปทานข้อ 17 วรรคหนึ่ง ตลอดระยะเวลาสัมปทานผู้รับสัมปทานมีหน้าที่บำรุงรักษาต้นไม้ที่ปลูกและที่ขึ้นอยู่แล้วในป่าสัมปทาน แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2532 โจทก์ได้มีคำสั่งให้สัมปทานทำไม้หวงห้ามทุกชนิด (เว้นสัมปทานทำไม้ป่าชายแดน)ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 ทุกสัมปทานสิ้นสุดลงทั้งแปลงและกรมป่าไม้ได้มีหนังสือห้ามไม่ให้ผู้ได้รับสัมปทานทำไม้อีกต่อไปและให้ขนเครื่องมือเครื่องจักรออกจากป่าในเขตสัมปทานสัมปทานการทำไม้ของจำเลยจึงสิ้นสุดลง ดังนั้นภาระในการบำรุงรักษาต้นไม้ที่ปลูกและที่มีอยู่แล้วในป่าสัมปทาน และบำรุงรักษาป่าสัมปทานของจำเลยจึงหมดไป ที่โจทก์นำสืบว่า ภายหลังจากสัมปทานทำไม้ของจำเลยสิ้นสุดลงเจ้าพนักงานป่าไม้ได้ทำการตรวจสอบสวนป่าที่จำเลยปลุกตามเงื่อนไขสัมปทานแล้วปรากฏว่า สวนป่าที่จำเลยปลูกมีพื้นที่ขาดหายเปอร์เซ็นต์การรอดตายไม่เป็นไปตามกำหนดเสียหายจำนวน 28,056.69 ไร่ คิดเป็นเงิน 20,413,162.20 บาทนั้นเห็นว่า สัมปทานทำไม้ของจำเลยสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่17 มกราคม 2532 แต่เจ้าพนักงานป่าไม้เพิ่มเข้าตรวจสอบสวนป่าที่ปลูกตามเงื่อนไขสัมปทานของจำเลยเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2532ถึงวันที่ 3 มีนาคม 2533 ภายหลังจากสัมปทานทำไม้ของจำเลยสิ้นสุดลงถึง 1 ปี โดยโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนที่สัมปทานทำไม้ของจำเลยสิ้นสุดลง กรณีอาจเป็นไปได้ว่าภายหลังสัมปทานทำไม้ของจำเลยสิ้นสุดลงแล้วได้มีราษฎรบุกรุกป่า เกิดไฟไหม้ป่า และต้นไม้ที่ปลูกไว้ไม่มีผู้ดูแลจึงตายลงก็ได้ ทั้งตามเงื่อนไขสัมปทานทำไม้หวงห้ามธรรมดานอกจากไม้สัก ข้อ 20 ระบุว่า “ภายในเขตป่าสัมปทานและป่าที่มีการปลูกและบำรุงรักษาตามข้อ 17 วรรคสอง ผู้รับสัมปทานมีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือพนักงานเจ้าหน้าที่ในการดูแลรักษาและป้องกันมิให้มีการลักลอบตัดไม้ แผ้วถางป่า หรือทำการก่นสร้างป่าหรือเผาป่า หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการทำลายป่าหรือยึดถือครอบครองป่าหรือทำอันตรายหรือจับสัตว์ป่าโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่ขอร้อง และในกรณีที่มีผู้ละเมิดกฎหมายดังกล่าว ผู้รับสัมปทานต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบทันที” ตามเงื่อนไขดังกล่าวจำเลยจึงมีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่ขอร้องเท่านั้น มิได้มีหน้าที่ถึงขนาดว่าหากมีราษฎรบุกรุกป่ามีไฟไหม้ป่า จำเลยจะต้องรับผิดชอบด้วยความเสียหายของสวนป่าที่ปลูกตามเงื่อนไขสัมปทานทำไม้ของจำเลยส่วนใหญ่เกิดจากราษฎรบุกรุกและถูกไฟไหม้ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายส่วนนี้ให้โจทก์
สำหรับปัญหาที่ว่า จำเลยจะต้องส่งมอบหอดูไฟและอุปกรณ์ในการดับไฟทั้งหมดให้แก่กรมป่าไม้ตามข้อกำหนดเงื่อนไขในสัมปทานเป็นเงิน 3,307,985 บาท หรือไม่ เพียงใดนั้นเห็นว่า ตามเงื่อนไขสัมปทานทำไม้หวงห้ามธรรมดานอกจากไม้สักข้อ 19 ระบุว่า “ผู้รับสัมปทานมีหน้าที่ดำเนินการป้องกันไฟตามวิธีการที่กรมป่าไม้กำหนด” และกรมป่าไม้ได้กำหนดวิธีการป้องกันไฟป่าไว้ซึ่งตามข้อกำหนดวิธีการป้องกันไฟป่า ข้อ 9กำหนดว่า เมื่อสัมปทานสิ้นสุดลงด้วยเหตุใด ๆ ก็ตาม ผู้รับสัมปทานยินยอมยกหกดูไฟและอุปกรณ์ในการดับไฟทั้งหมดให้เป็นของกรมป่าไม้ดังนั้นเมื่อต่อมาวันที่ 17 มกราคม 2532 โจทก์ได้มีคำสั่งที่ 32/2532 ให้สัมปทานทำไม้หวงห้ามทุกชนิด(เว้นสัมปทานทำไม้ป่าชายเลน) ทุกสัมปทานสิ้นสุดลงทั้งแปลงจำเลยจึงต้องส่งมอบหอดูไฟและอุปกรณ์ในการดับไฟทั้งหมดให้กรมป่าไม้ แต่ตามคำเบิกความของนายสำรอง ขวัญเมืองนักวิชาการป่าไม้ระดับ 6 พยานโจทก์เบิกความว่า จำเลยได้สร้างหอดูไฟให้แล้ว 2 หอ เมื่อสัมปทานทำไม้สิ้นสุดลงไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รื้อถอนหอดูไฟดังกล่าวไปหรือทำให้เสียหายหรือบุบสลายแก่หอดูไฟดังกล่าว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดใช้ราคาค่าหอดูไฟให้โจทก์ ส่วนอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ในการดับไฟสัมปทานละ 430,525 บาทรวม 5 สัมปทานเป็นเงิน 2,152,625 บาท และเครื่องมือสื่อสารในการดับไฟคิดเป็นเงิน 934,000 บาท รวม 2 รายการเป็นเงิน 3,086,625 บาทนั้นศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยยังมิได้ส่งมอบให้โจทก์ สรุปแล้วจำเลยจะต้องชำระค่าปลูกป่าและบำรุงรักษาป่าเป็นเงิน 32,518,650.40 บาทค่าอุปกรณ์การดับไฟและเครื่องมือสื่อสารในการดับไฟเป็นเงิน3,086,625 บาท รวมเป็นเงิน 35,605,275.40 บาท ให้โจทก์
พิพากษากลับ ให้จำเลยใช้เงิน 35,605,275.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์