คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 360/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเรื่องเงินบำเหน็จกำหนดไว้ว่า พนักงานมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จเมื่อทำงานครบเกษียณอายุ โดยต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ (1) ปฏิบัติงานในฐานะพนักงานเป็นเวลาอย่างน้อย15 ปี ติดต่อกัน (2) มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และ(3) ทำงานให้จำเลยด้วยความขยันหมั่นเพียรและปราศจากข้อตำหนิในประวัติการทำงาน เห็นได้ว่าตามระเบียบข้อบังคับดังกล่าวมีเจตนารมณ์ที่จะจ่ายเงินบำเหน็จหรือเงินค่าเกษียณอายุเมื่อพนักงานทำงานครบเกษียณอายุเท่านั้น แต่การเลิกจ้างของจำเลยตามหนังสือแจ้งการเลิกจ้าง มิใช่เป็นการให้โจทก์ออกจากงานโดยเหตุครบเกษียนอายุ แต่เป็นกรณีที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วย เหตุที่จำเลยประสบปัญหาการขาดทุนและจำเป็นต้องลดอัตรากำลังคน ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมีเจตนาไม่ให้โจทก์ได้รับเงินบำเหน็จตามระเบียบข้อบังคับดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จหรือเงินค่าเกษียณอายุ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เจ้าทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งพนักงานขับรถได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 15,500 บาท จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า เนื่องจากจำเลยมีนโยบายลดอัตรากำลังคน โจทก์ไม่ได้กระทำผิด จึงเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำเลยมีระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานว่าหากพนักงานทำงานครบเกษียณอายุ 60 ปี จะได้รับเงินค่าเกษียณอายุคำนวณจากเงินเดือนอัตราสุดท้ายแต่ต้องไม่เกิน 8,000 บาท คูณด้วยจำนวนปีที่ทำงานโจทก์ทำงานกับจำเลยมา 29 ปี จึงมีสิทธิได้รับเงินค่าเกษียณอายุจำนวน232,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า15,500 บาท ค่าชดเชย 93,000 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม 294,500 บาท และเงินค่าเกษียณอายุ 232,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยประสบปัญหาการขาดทุนจึงจำเป็นต้องเลิกจ้างโจทก์ ถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ฟ้องโจทก์ในส่วนเงินค่าเกษียณอายุเคลือบคลุมเพราะไม่ได้บรรยายฟ้องให้จำเลยทราบถึงเหตุที่จำเลยต้องชำระค่าเสียหายในส่วนนี้ จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างโดยไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้าง เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์จำเลยได้ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการจ่ายค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหายเท่ากับเงินบำเหน็จแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดพิจารณา จำเลยจ่ายค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ แล้วโจทก์จำเลยแถลงขอสละข้ออ้างและข้อต่อสู้เกี่ยวกับค่าชดเชย สินจ้างแทนการรบอกกล่าวล่วงหน้าค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และประเด็นข้อพิพาทอื่นทั้งหมดคงติดใจพิพาทกันเฉพาะเงินบำเหน็จเกษียณอายุ หรือเงินค่าเกษียนอายุโจทก์จำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2511จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งพนักงานขับรถ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 15,500 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาวันที่ 16 พฤษภาคม 2540 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยให้มีผลเป็นการเลิกจ้างวันที่ 31 พฤษภาคม 2540 อ้างเหตุว่าเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในสภาวะที่เลวร้าย ประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงินและปัญหาการขาดทุน จึงต้องลดอัตรากำลังคน จำเลยยินยอมที่จะปฏิบัติตามข้อกำหนดในเรื่องการจ่ายค่าชดเชยและเงินได้อื่น ๆที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามกฎหมายทุกประการ รายละเอียดตามหนังสือแจ้งการเลิกจ้างเอกสารหมาย จล.1 จำเลยพร้อมที่จะจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ แต่โจทก์ไม่ยอมรับเองโดยโจทก์เกรงว่าจะเสียสิทธิอื่นตามกฎหมายเนื่องจากโจทก์ไม่รู้กฎหมายเอกสารหมาย จล.2 เป็นระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยตามข้อ 6 ว่าด้วยเงินบำเหน็จหรือเงินค่าเกษียณอายุ ซึ่งเป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่พนักงานที่ออกจากงานเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์โดยไม่ได้กระทำผิด ข้อ 6.1 เป็นหลักเกณฑ์ของผู้มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ ส่วนข้อ 6.2 เป็นเงินบำเหน็จที่พนักงานมีสิทธิได้รับกรณีของโจทก์จำเลยไม่จ่ายเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์เพราะโจทก์ไม่ได้ทำงานอยู่จนอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ในวันออกจากงานส่วนหลักเกณฑ์อื่นที่โจทก์จะมีสิทธิได้รับจนถึงวันที่ออกจากงานมีครบถ้วน โจทก์มีอายุงานหรือจำนวนปีที่ทำงานกับจำเลยเป็นเวลา 29 ปีจำนวนค่าชดเชยที่โจทก์มีสิทธิได้รับซึ่งจำเลยจ่ายให้แก่โจทก์แล้วเป็นเงิน 93,000 บาท และฐานเงินเดือนในการคิดคำนวณเงินบำเหน็จของโจทก์เท่ากับ 8,000 บาท
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า กรณีของโจทก์ถือได้ว่าต้องด้วยหลักเกณฑ์ของผู้มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จเงินค่าเกษียณอายุตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในเงินบำเหน็จตามข้อ 6.2 เท่ากับฐานเงินเดือน 8,000 บาทคูณจำนวนปีที่ทำงานคือ 29 ปี หักด้วยค่าชดเชย 93,000 บาทเป็นเงิน 139,000 บาท พิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จหรือเงินค่าเกษียณอายุจำนวน 139,000 บาท แก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยข้อ 6 พนักงานของจำเลยมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จต่อเมื่อมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และจะได้รับเงินบำเหน็จในวันที่ออกจากงานเพราะครบเกษียณอายุ และจำเลยมีเหตุสมควรที่จะเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีเจตนาที่จะขัดขวางมิให้โจทก์ทำงานจนครบ 60 ปีบริบูรณ์ นั้น เห็นว่า ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเอกสารหมาย จล.2 ข้อ 6 เรื่องเงินบำเหน็จกำหนดไว้ว่า พนักงานมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จเมื่อทำงานครบเกษียณอายุ โดยต้องมีคุณสมบัติต่อไปนี้ (1) ปฏิบัติงานกับจำเลยในฐานะพนักงานเป็นเวลาอย่างน้อย 15 ปี ติดต่อกัน (2) มีอายุครบ60 ปีบริบูรณ์ และ (3) ทำงานให้จำเลยด้วยความขยันหมั่นเพียรและปราศจากข้อตำหนิในประวัติการทำงาน ซึ่งจำเลยจะจ่ายเงินบำเหน็จในวันที่โจทก์ออกจากงาน จะเห็นได้ว่า ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเรื่องการจ่ายเงินบำเหน็จของจำเลยดังกล่าวมีเจตนารมณ์ที่จะจ่ายเงินบำเหน็จหรือเงินค่าเกษียณอายุเมื่อพนักงานทำงานครบเกษียณอายุเท่านั้น แต่การเลิกจ้างของจำเลยตามหนังสือแจ้งการเลิกจ้างเอกสารหมาย จล.1 มิใช่เป็นการให้โจทก์ออกจากงานโดยเหตุครบเกษียณอายุตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยแต่เป็นกรณีที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุที่จำเลยประสบปัญหาการขาดทุนและจำเป็นต้องลดอัตรากำลังคน ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมีเจตนาไม่ให้โจทก์ได้รับเงินบำเหน็จตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จหรือเงินค่าเกษียณอายุ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จหรือเงินค่าเกษียณอายุแก่โจทก์นั้นยังไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกคำขอเรื่องเงินบำเหน็จหรือเงินค่าเกษียณอายุเสียด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share