คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4560/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้ในเบื้องต้นโจทก์ร่วมที่ 1 ได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนไว้เป็นหลักฐาน ตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี แต่หลังจากนั้นโจทก์ร่วมที่ 1 ไปให้การต่อพนักงานสอบสวนพร้อมกับร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยฐานฉ้อโกงรถคันดังกล่าว ตามบันทึกคำให้การของผู้ร้องทุกข์ ผู้กล่าวโทษหรือพยาน ซึ่งในการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนนั้น ป.วิ.อ. มาตรา 123 วรรคสาม บัญญัติว่า คำร้องทุกข์จะทำเป็นหนังสือหรือร้องด้วยปากก็ได้ ถ้าเป็นหนังสือต้องมีวันเดือนปีและลายมือชื่อของผู้ร้องทุกข์ ถ้าร้องด้วยปาก ให้พนักงานสอบสวนบันทึกไว้ ลงวันเดือนปีและลงลายมือชื่อผู้บันทึกกับผู้ร้องทุกข์ในบันทึกนั้น เมื่อพิจารณาบันทึกคำให้การของผู้ร้องทุกข์ ผู้กล่าวโทษ หรือพยาน ระบุว่า วันที่ 16 ตุลาคม 2554 โจทก์ร่วมที่ 1 ไปให้การต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเขาสมิงพร้อมกับร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยฐานฉ้อโกงรถ โดยในคำให้การดังกล่าวปรากฏชื่อและที่อยู่ของโจทก์ร่วมที่ 1 ในฐานะผู้ร้องทุกข์ ลักษณะแห่งความผิด พฤติการณ์ต่างๆ ที่ความผิดนั้นได้กระทำลง ความเสียหายที่ได้รับและชื่อหรือรูปพรรณของผู้กระทำผิดเท่าที่จะบอกได้ เข้าลักษณะเป็นคำร้องทุกข์ ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) ประกอบมาตรา 123 แล้ว พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนและพนักงานอัยการจึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 และมาตรา 120 ตามลำดับ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคารถยนต์ 570,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางจรรยาดี และนายจรูญ ผู้เสียหายทั้งสองยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตและเรียกผู้เสียหายทั้งสองว่า โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ
โจทก์ร่วมทั้งสองยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยคืนหรือใช้ราคารถยนต์ 320,000 บาท และชำระค่าขาดประโยชน์ 76,000 บาท กับอีกเดือนละ 8,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์คืนแก่โจทก์ร่วมทั้งสอง กับค่าใช้จ่ายในการติดตามรถยนต์ 50,000 บาท
จำเลยไม่ให้การในคดีส่วนแพ่ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 จำคุก 3 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคารถยนต์ 280,000 บาท และชำระเงิน 92,000 บาท แก่โจทก์ร่วมทั้งสอง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์ร่วมที่ 1 เป็นภริยาของโจทก์ร่วมที่ 2 โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน โจทก์ร่วมทั้งสองร่วมกันซื้อรถกระบะหมายเลขทะเบียน บพ 2757 ระยอง มาในราคา 570,000 บาท แต่ใส่ชื่อโจทก์ร่วมที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ตามรายการจดทะเบียน โดยโจทก์ร่วมที่ 1 เป็นผู้ครอบครองใช้รถคันดังกล่าว ต่อมาวันที่ 8 กรกฎาคม 2554 โจทก์ร่วมที่ 1 ขับรถคันดังกล่าวไปให้จำเลยนำไปจำนำ และวันที่ 15 กรกฎาคม 2554 โจทก์ร่วมที่ 1 ได้มอบหนังสือรายการจดทะเบียนรถกับเอกสารเกี่ยวกับการโอนรถให้แก่จำเลย ครั้นวันที่ 8 สิงหาคม 2554 โจทก์ร่วมที่ 1 ประสงค์จะไถ่รถคืนจึงไปติดต่อจำเลย แต่จำเลยอ้างว่าไม่สามารถติดต่อผู้รับจำนำได้เพราะผู้รับจำนำถูกจำคุก วันที่ 6 กันยายน 2554 โจทก์ร่วมที่ 1 จึงไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเขาสมิงมีใจความว่า โจทก์ร่วมที่ 1 มอบรถยนต์ให้จำเลยนำไปจำนำไว้แก่ผู้อื่นได้เงินมา 70,000 บาท เมื่อโจทก์ร่วมที่ 1 ประสงค์จะไถ่รถคืน จำเลยอ้างว่าไม่สามารถติดต่อผู้รับจำนำได้และบ่ายเบี่ยงไม่ยอมรับผิดชอบ โจทก์ร่วมที่ 1 ไม่ทราบว่าผู้รับจำนำเป็นผู้ใดและอยู่ที่ไหน จึงมาแจ้งความเป็นหลักฐาน ตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี ครั้นวันที่ 19 กันยายน 2554 โจทก์ร่วมที่ 1 ออกติดตามพบรถคันดังกล่าวจอดอยู่ที่เต็นท์รถขอนแก่นยานยนต์ อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น โจทก์ร่วมที่ 1 สอบถามเจ้าของเต็นท์รถดังกล่าวทราบว่าซื้อรถคันดังกล่าวมาจากบุคคลอื่นในราคา 260,000 บาท วันที่ 16 ตุลาคม 2554 โจทก์ร่วมที่ 1 จึงไปให้การต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเขาสมิง พร้อมกับร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยฐานฉ้อโกงรถคันดังกล่าว ตามบันทึกคำให้การของผู้ร้องทุกข์ ผู้กล่าวโทษ หรือพยาน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองว่า คดีนี้มีการร้องทุกข์ตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า แม้ในเบื้องต้นโจทก์ร่วมที่ 1 ได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนไว้เป็นหลักฐาน ตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี แต่หลังจากนั้นโจทก์ร่วมที่ 1 ไปให้การต่อพนักงานสอบสวนพร้อมกับร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยฐานฉ้อโกงรถคันดังกล่าว ตามบันทึกคำให้การของผู้ร้องทุกข์ ผู้กล่าวโทษหรือพยาน ซึ่งในการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 123 วรรคสาม บัญญัติว่า คำร้องทุกข์จะทำเป็นหนังสือหรือร้องด้วยปากก็ได้ ถ้าเป็นหนังสือต้องมีวันเดือนปีและลายมือชื่อของผู้ร้องทุกข์ ถ้าร้องด้วยปาก ให้พนักงานสอบสวนบันทึกไว้ ลงวันเดือนปีและลงลายมือชื่อผู้บันทึกกับผู้ร้องทุกข์ในบันทึกนั้น เมื่อพิจารณาบันทึกคำให้การของผู้ร้องทุกข์ ผู้กล่าวโทษ หรือพยาน ระบุว่า วันที่ 16 ตุลาคม 2554 โจทก์ร่วมที่ 1 ไปให้การต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเขาสมิงพร้อมกับร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยฐานฉ้อโกงรถคันดังกล่าว โดยในคำให้การดังกล่าวปรากฏชื่อและที่อยู่ของโจทก์ร่วมที่ 1 ในฐานะผู้ร้องทุกข์ ลักษณะแห่งความผิด พฤติการณ์ต่าง ๆ ที่ความผิดนั้นได้กระทำลง ความเสียหายที่ได้รับและชื่อหรือรูปพรรณของผู้กระทำผิดเท่าที่จะบอกได้ เข้าลักษณะเป็นคำร้องทุกข์ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (7) ประกอบมาตรา 123 แล้ว พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนและพนักงานอัยการจึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 121 และมาตรา 120 ตามลำดับ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยกปัญหาข้อกฎหมายเรื่องอำนาจฟ้องขึ้นวินิจฉัย และพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองฟังขึ้น แต่เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงเห็นควรให้มีการพิพากษาคดีเป็นไปตามลำดับชั้นศาล
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดีต่อไป

Share