คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4239/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 1470 ที่กำหนดให้ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาประกอบด้วยสินส่วนตัวและสินสมรสนั้น หมายถึงทรัพย์สินที่สามีภริยามีอยู่ในขณะที่เป็นสามีภริยากัน การที่ผู้ตายถึงแก่ความตายย่อมทำให้การสมรสระหว่างผู้ตายกับจำเลยที่ 2 สิ้นสุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1501 สิทธิที่จะได้รับเงินประกันชีวิต นั้น เป็นสิทธิที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากความมรณะของผู้ตายอันมีลักษณะเป็นการประกันชีวิต และเป็นเงินที่เกิดจากสัญญาระหว่างผู้ตายกับบุคคลภายนอกซึ่งได้รับมาหลังจากผู้ตายถึงแก่ความตายไปแล้ว จึงไม่เป็นสินสมรสระหว่างผู้ตายกับจำเลยที่ 2 ประกอบกับตามตารางกรมธรรม์ มิได้ระบุชื่อผู้รับประโยชน์ไว้ว่าให้ใช้เงินแก่ทายาททั้งหลายของตนหรือแก่ผู้ใด จึงไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้โดยตรงและต้องนำ ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสอง มาใช้บังคับ คืออาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งได้แก่มาตรา 897 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า “ถ้าผู้เอาประกันภัยได้เอาประกันภัยไว้โดยกำหนดว่า เมื่อตนถึงซึ่งความมรณะให้ใช้เงินแก่ทายาททั้งหลายของตนโดยมิได้เจาะจงระบุชื่อผู้หนึ่งผู้ใดไว้ไซร้ จำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้นท่านให้ฟังเอาเป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกของผู้เอาประกันภัย ซึ่งเจ้าหนี้จะเอาใช้หนี้ได้” ดังนั้น เงินประกันชีวิตดังกล่าวจึงต้องแบ่งให้แก่ทายาทของผู้ตายในฐานะสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (1), 1630 วรรคสอง และ 1635 (1) โดยโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาผู้ตาย กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภริยาผู้ตายต่างได้รับส่วนแบ่งคนละส่วนเท่า ๆ กันและเท่ากับโจทก์ที่ 1 จำเลยที่ 1 และเด็กชาย ศ. ซึ่งเป็นทายาทชั้นบุตร

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันแบ่งเงินประกันชีวิตของผู้ตายจากบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขากระนวน จังหวัดขอนแก่น ชื่อบัญชีนางสาววลัยภรณ์ จำเลยที่ 1 กับนางศิรินทร์รัตน์ จำเลยที่ 2 บัญชีเลขที่ 415 – 0 – 31421 – 7 ให้แก่โจทก์ทั้งสามคนละ 216,690 บาท
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันแบ่งเงินประกันชีวิตของจ่าสิบเอกอดิศัย ผู้ตาย จากบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขากระนวน จังหวัดขอนแก่น ชื่อบัญชีจำเลยทั้งสอง เลขที่บัญชี 415 – 0 – 31421 – 7 ให้แก่ทายาทของจ่าสิบเอกอดิศัย ผู้ตาย คนละหนึ่งในหกส่วน กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า จ่าสิบเอกอดิศัย ผู้ตายเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2537 ผู้ตายจดทะเบียนสมรสกับนางคำดี มีบุตรด้วยกัน 3 คน คือ โจทก์ที่ 1 จำเลยที่ 1 และเด็กชายศราวุฒิ ต่อมาวันที่ 30 พฤศจิกายน 2537 ผู้ตายจดทะเบียนหย่ากับนางคำดี หลังจากนั้นวันที่ 23 สิงหาคม 2545 ผู้ตายจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 2 ระหว่างอยู่กินด้วยกันกับจำเลยที่ 2 ผู้ตายกู้ยืมเงินจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขากระนวน จำนวน 900,000 บาท ตามสัญญากู้เงินสินเชื่อสวัสดิการทั่วไปแก่ข้าราชการและลูกจ้างประจำกองทัพภาคที่ 2 และผู้ตายทำสัญญาประกันชีวิตไว้กับบริษัททิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) วงเงินเอาประกัน 1,000,000 บาท ตามกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุ นอกจากนี้ ผู้ตายยังเปิดบัญชีประเภทออมทรัพย์ เลขที่ 415 – 0 – 07961 – 7 และ 415 – 0 – 25741 – 8 ไว้ที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขากระนวน และเป็นผู้ถือบัตรเอทีเอ็มสำหรับบัญชีเงินฝากดังกล่าวบัญชีละ 1 บัตร ตามหนังสือรับรองบัญชีเงินฝากและการใช้บัตรเอทีเอ็มของผู้ตาย ซึ่งมีความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุสำหรับผู้ถือบัตรเอทีเอ็มดังกล่าวรวม 300,000 บาท ต่อมาวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2554 ผู้ตายประสบอุบัติเหตุถึงแก่ความตาย หลังจากนั้นศาลจังหวัดกาฬสินธุ์มีคำสั่งตั้งจำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ต่อมาจำเลยทั้งสองขอรับเงินค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันชีวิตของผู้ตายจากบริษัททิพยประกันภัย จำกัด โดยโอนเงินดังกล่าวเข้าบัญชีชื่อจำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตาย เลขที่ 415 – 0 – 31421 – 7 เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2555 จำนวน 1,300,145.99 บาท และในวันที่ 30 มิถุนายน 2555 มีการโอนเงิน 612.77 บาท เข้าบัญชีดังกล่าวอีก รวมเป็นเงิน 1,300,758.76 บาท ตามใบรับเงินค่าสินไหมทดแทนและรายการบัญชีท้ายหนังสือนำส่งพยานเอกสารของผู้จัดการธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขากระนวน ลงวันที่ 6 ธันวาคม 2555
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า เงินประกันชีวิตของผู้ตายเป็นสินสมรสระหว่างผู้ตายกับจำเลยที่ 2 หรือไม่ และโจทก์ทั้งสามมีอำนาจฟ้องขอแบ่งเงินประกันชีวิตดังกล่าวหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1470 ที่กำหนดให้ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาประกอบด้วยสินส่วนตัวและสินสมรสนั้น หมายถึงทรัพย์สินที่สามีภริยามีอยู่ในขณะที่เป็นสามีภริยากัน การที่ผู้ตายถึงแก่ความตายย่อมทำให้การสมรสระหว่างผู้ตายกับจำเลยที่ 2 สิ้นสุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1501 สิทธิที่จะได้รับเงินประกันชีวิตจำนวน 1,300,758.76 บาท นั้น เป็นสิทธิที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากความมรณะของผู้ตายอันมีลักษณะเป็นการประกันชีวิต และเป็นเงินที่เกิดจากสัญญาระหว่างผู้ตายกับบุคคลภายนอกซึ่งได้รับมาหลังจากผู้ตายถึงแก่ความตายไปแล้ว จึงไม่เป็นสินสมรสระหว่างผู้ตายกับจำเลยที่ 2 ประกอบกับตามตารางกรมธรรม์ มิได้ระบุชื่อผู้รับประโยชน์ไว้ว่าให้ใช้เงินแก่ทายาททั้งหลายของตนหรือแก่ผู้ใด จึงไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้โดยตรงและต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 วรรคสอง มาใช้บังคับ คืออาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งได้แก่มาตรา 897 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า “ถ้าผู้เอาประกันภัยได้เอาประกันภัยไว้โดยกำหนดว่า เมื่อตนถึงซึ่งความมรณะให้ใช้เงินแก่ทายาททั้งหลายของตนโดยมิได้เจาะจงระบุชื่อผู้หนึ่งผู้ใดไว้ไซร้ จำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้นท่านให้ฟังเอาเป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกของผู้เอาประกันภัย ซึ่งเจ้าหนี้จะเอาใช้หนี้ได้” ดังนั้น เงินประกันชีวิตดังกล่าวจึงต้องแบ่งให้แก่ทายาทของผู้ตายในฐานะสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 (1), 1630 วรรคสอง และ 1635 (1) โดยโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาผู้ตาย กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภริยาผู้ตายต่างได้รับส่วนแบ่งคนละส่วนเท่า ๆ กันเท่ากับโจทก์ที่ 1 จำเลยที่ 1 และเด็กชายศราวุฒิ ซึ่งเป็นทายาทชั้นบุตร
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share