คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5957/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 แทงผู้เสียหายที่ 2 แล้วต่อมาผู้เสียหายที่ 1 เข้าไปประคองผู้เสียหายที่ 2 จำเลย ที่ 2 ได้แทงผู้เสียหายที่ 1 ย่อมเป็นการกระทำที่ต่างกรรมกันอันเป็นความผิดหลายกระทง แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยได้กระทำความผิดหลายกรรมและไม่ได้ขอให้ศาลลงโทษจำเลยที่ 2ทุกกรรม เป็นกระทงความผิดไปตาม ป.อ. มาตรา 91แม้จะได้ความดังกล่าวก็ไม่ใช่เรื่องที่โจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษ ศาลจึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 ได้ทุกกรรม คงลงโทษจำเลยที่ 2 แต่เพียงกระทงเดียว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 295, 297
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 ขณะกระทำผิดจำเลยที่ 1 อายุ 16 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด15 วัน และปรับ 500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ในกรณีไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 และจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 297 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสตามมาตรา 297 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 2เป็นความผิดสองกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 1 จำคุก 1 ปี ฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 2 ได้รับอันตรายสาหัส จำคุก 3 ปี รวมโทษจำคุก4 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ในวันเกิดเหตุนายวิวัฒน์ เจียรนัย ผู้เสียหายที่ 1 นายประยงค์ ช่วงโชติผู้เสียหายที่ 2 กับพวกไปนั่งรับประทานอาคารอยู่ที่ร้านกิ่งไผ่สถานที่เกิดเหตุ มีจำเลยที่ 1 ที่ 2 กับพวกนั่งรับประทานอาหารอยู่ในร้านเดียวกัน แต่อยู่คนละโต๊ะเวลา 23.30 นาฬิกา นายบิริรักษ์หรือจ้อย วาธุโม พวกของผู้เสียหายไปที่เคาน์เตอร์บอกให้คนขายอาหารคิดเงินค่าอาหาร จำเลยที่ 1 เดินตามไปและได้ชกนายบริรักษ์หรือจ้อยล้มลงบริเวณหน้าเคาน์เตอร์ ต่อมาเกิดการชุนมุนกันขึ้นที่บริเวณเดียวกัน มีผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 อยู่ในที่เกิดเหตุด้วย สักครู่มีคนร้องว่าตำรวจมา จำเลยที่ 1 และที่ 2ออกไปจากร้านที่เกิดเหตุ ส่วนผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ถูกแทงมีบาดแผลตามร่างกายได้รับอันตรายแก่กายและอันตรายสาหัสตามลำดับตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ท้ายฟ้อง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่าจำเลยที่ 2ได้กระทำผิดตามที่ฟ้องหรือไม่ และจำเลยที่ 2 ควรต้องรับโทษสถานใดเห็นว่าผู้เสียหายที่ 1 นายบริรักษ์หรือจ้อย นายสมภพหรือภพต่างรู้จักจำเลยที่ 2 มาก่อนขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1นายบริรักษ์หรือจ้อย นายสมภพหรือภพ นายมนูญหรือแดง นายกิตติพรรณและนายยงยุทธต่างเห็นจำเลยที่ 2 สวมเสื้อยืดคอกลมสีขาวแขนสั้นผู้เสียหายที่ 1 นายบริรักษ์หรือจ้อย นายสมภพหรือภพและนายมนูญหรือแดงเบิกความสนับสนุนยืนยันกันว่า คนที่ใช้มีดแทงผู้เสียหายที่ 2 คือชายคนที่สวมเสื้อยืนคอกลมสีขาวคือจำเลยที่ 2โดยข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่ามีคนร้ายอื่นสวมเสื้อที่มีลักษณะเดียวกันกับจำเลยที่ 2 ในขณะเกิดเหตุ ดังนั้น ที่พยานโจทก์จำจำเลยที่ 2ได้ว่าเป็นคนร้ายใช้มีดแทงผู้เสียหายที่ 2 จึงมีน้ำหนักและเหตุผลเพียงพอ น่าจะไม่ผิดตัวที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าพยานโจทก์โดยเฉพาะผู้เสียหายที่ 1 และนายบริรักษ์หรือจ้อยเบิกความแตกต่างกันก็ดีผู้เสียหายที่ 2 และนายบริรักษ์หรือจ้อยไม่ได้ยืนยันอย่างชัดแจ้งลงไปว่าผู้ใดเป็นผู้แทงผู้เสียหายที่ 2 ขัดกับคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ที่ว่าเห็นจำเลยที่ 2 เป็นคนแทงผู้เสียหายที่ 2ก็ดี ศาลฎีกากลับเห็นว่าพยานโจทก์ดังกล่าวเบิกความตรงไปตรงมาไม่มีลักษณะเป็นการให้ร้ายปรักปรำจำเลยที่ 2 เลยเพราะเมื่อนายบริรักษ์หรือจ้อยและผู้เสียหายที่ 2 ล้ม โอกาสที่จะเห็นจำเลยที่ 2 แทงผู้เสียหายที่ 2 ทางด้านหลังอย่างถนัดชัดแจ้งย่อมไม่มี แต่ในทันใดนั้นหลังจากที่นายบริรักษ์หรือจ้อยลุกขึ้นมาได้ ผู้เสียหายที่ 2ก็บอกนายบริรักษ์หรือจ้อยว่าถูกแทงและผู้เสียหายที่ 2 ก็เบิกความอยู่ว่าขณะถูกแทงไม่เห็นคนแทง แต่เมื่อผู้เสียหายที่ 2 หันไปดูก็ได้เห็นจำเลยที่ 2 คนเดียวยืนอยู่ข้างตัวผู้เสียหายที่ 2 ผู้เสียหายที่ 2 จึงเข้าใจว่าจำเลยที่ 2 เป็นคนแทงผู้เสียหายที่ 2 สอดรับกับคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ที่อยู่บริเวณที่เกิดเหตุด้านหลังผู้เสียหายที่ 2 ย่อมมีโอกาสได้เห็นว่าใครเป็นคนแทงผู้เสียหายที่ 2 ดังนี้ คำเบิกความพยานโจทก์จึงหาได้แตกต่างหรือขัดแย้งกันแต่อย่างใดไม่ ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า บริเวณที่เกิดเหตุไฟไม่สว่างและเหตุเกิดอย่างชุลมุนเพียงไม่กี่นาทีไม่น่าจะจดจำได้ว่าใครทำอะไรนั้น ดังได้วินิจฉัยมาแล้วว่าบริเวณที่เกิดเหตุอยู่หน้าเคาน์เตอร์ซึ่งมีไฟจากเคาน์เตอร์ส่องสว่างพยานโจทก์รู้จักจำเลยที่ 2 มาก่อนและจำเลยที่ 2 สวมเสื้อยืดคอกลมแขนสั้นสีขาวเป็นที่น่าสังเกต ในขณะเกิดเหตุไม่ปรากฏว่ามีใครอื่นสวมเสื้อในลักษณะเดียวกันตามที่ได้กล่าวมาแล้ว จึงเชื่อว่าพยานโจทก์ดังกล่าวสามารถจำจำเลยที่ 2 ได้ว่าเป็นคนร้ายแทงผู้เสียหายทั้งสองตามที่โจทก์นำสืบจริงแต่การที่จำเลยที่ 2 แทงผู้เสียหายที่ 2แล้วต่อมาผู้เสียหายที่ 1 เพิ่งเข้าไปประคองผู้เสียหายที่ 2 จำเลยที่ 2 ได้แทงผู้เสียหายที่ 1 อีก ย่อมเป็นการกระทำที่ต่างกรรมกันอันเป็นความผิดหลายกระทง แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยได้กระทำความผิดหลายกรรม และไม่ได้ขอให้ศาลลงโทษจำเลยที่ 2ทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 แม้จะได้ความดังกล่าวก็ไม่ใช่เรื่องที่โจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษศาลจึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 ได้ทุกกรรม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ลงโทษจำเลยที่ 2 สองกระทงจึงไม่ชอบ อย่างไรก็ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 2ได้รับอันตรายสาหัส มีกำหนด 3 ปี ชอบด้วยเหตุผลแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงดุลยพินิจของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในส่วนนี้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ฐานทำร้ายร่างกาย ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสแต่เพียงกระทงเดียวมีกำหนด 3 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share