คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4934/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ระบุอ้างแต่ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 โดยมิได้อ้างมาตรา 4 ไว้ กับโจทก์อ้าง ป.อ. มาตรา 91 มาท้ายฟ้องก็ตามแต่โจทก์ก็ระบุไว้ที่หน้าคำฟ้องในช่องข้อหาหรือฐานความผิดว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 แสดงว่าโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาหรือฐานความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 เมื่อพระราชบัญญัติดังกล่าวมีบทบัญญัติไว้เพียง11 มาตรา และมีเพียงมาตรา 4 มาตราเดียว ที่บัญญัติว่าการกระทำเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ ส่วนมาตราอื่น ๆ ล้วนบัญญัติในเรื่องอื่นไม่ได้บัญญัติว่าการกระทำเป็นความผิด และในคำฟ้องโจทก์ก็ได้บรรยายถึงการออกเช็คโดยมีลักษณะหรือการกระทำความผิดของจำเลยไว้ชัดแจ้งครบถ้วนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4ทั้งจำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี และไม่หลงต่อสู้ ดังนี้ย่อมมีผลเท่ากับการอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (6) แล้ว คำฟ้องโจทก์จึงสมบูรณ์
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 โดยมิได้ยกบทมาตราแห่งกฎหมายขึ้นปรับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 186 (7) นั้น เป็นการไม่ชอบ สมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2538 เวลากลางวันจำเลยได้ออกเช็คธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาปัตตานี รวม 2 ฉบับ ฉบับที่ 1 สั่งจ่ายเงิน448,695 บาท ลงวันที่ 10 สิงหาคม 2538 ฉบับที่ 2สั่งจ่ายเงิน 530,000 บาท ลงวันที่ 10 สิงหาคม 2538 ต่อมาวันที่ 18 ธันวาคม 2538 เวลากลางวัน จำเลยได้ออกเช็คธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาปัตตานีอีก 3 ฉบับ ฉบับที่ 1 สั่งจ่ายเงิน 305,066 บาท ลงวันที่ 18 ธันวาคม 2538 ฉบับที่ 2 สั่งจ่ายเงิน 234,240 บาทลงวันที่ 18 ธันวาคม 2538 ฉบับที่ 3 สั่งจ่ายเงิน 100,000 บาทลงวันที่ 18 ธันวาคม 2538 รวมเช็คทั้งห้าฉบับ สั่งจ่ายเงินทั้งสิ้น 1,618,001 บาท เพื่อชำระค่าอาหารกุ้งให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2539 โจทก์นำเช็คลงวันที่ 10 สิงหาคม2538 ทั้งสองฉบับไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้งสองฉบับ โดยให้เหตุผลว่า “โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย” ต่อมาวันที่ 8 มีนาคม 2539 โจทก์นำเช็คลงวันที่18 ธันวาคม 2538 ทั้งสามฉบับไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้งสามฉบับโดยให้เหตุผลว่า”โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย” หลังจากนั้นโจทก์ติดต่อทวงถามจำเลยให้ชำระเงินตามเช็คหลายครั้ง แต่จำเลยเพิกเฉย การกระทำของจำเลยเป็นการออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น หรือในขณะที่ออกเช็คนั้นไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ หรือให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้นหรือถอนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนออกจากบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินตามเช็คจนจำนวนเงินเหลือไม่เพียงพอที่จะใช้เงินตามเช็คนั้นได้หรือห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คโดยเจตนาทุจริตทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่เมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จ จำเลยขอถอนคำให้การเดิมที่ปฏิเสธและให้การรับสารภาพตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91ฐานออกเช็คฉบับที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 จำคุกกระทงละ 2 เดือนและฐานออกเช็คฉบับที่ 2 จำคุก 4 เดือน รวม 5 กระทงจำคุก 12 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการกำหนดโทษ หรือรอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่าคำฟ้องโจทก์สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158(6) หรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(6) ระบุว่า ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือและมี (6) อ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดคดีนี้ แม้คำขอท้ายฟ้องของโจทก์จะระบุอ้างแต่พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 โดยมิได้อ้างมาตรา 4 ไว้ ด้วย กับอ้างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91แต่โจทก์ก็ระบุไว้ที่หน้าคำฟ้องในช่องข้อหาหรือฐานความผิดว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 แสดงว่าโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาหรือฐานความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 เมื่อพิเคราะห์พระราชบัญญัติดังกล่าว มีบทบัญญัติไว้เพียง 11 มาตรา และมีเพียงมาตรา 4 มาตราเดียวเท่านั้น ที่บัญญัติว่าการกระทำเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ส่วนมาตราอื่น ๆล้วนบัญญัติในเรื่องอื่นไม่ได้บัญญัติว่าการกระทำเป็นความผิดและในคำฟ้องโจทก์ก็ได้บรรยายถึงการออกเช็คโดยมีลักษณะหรือการกระทำความผิดของจำเลยไว้ชัดแจ้งครบถ้วน ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ทั้งจำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี และไม่หลงต่อสู้ดังจะเห็นได้ว่าในตอนแรกจำเลยให้การปฏิเสธ แต่เมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จแล้วจำเลยขอถอนคำให้การเดิมที่ปฏิเสธและให้การรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดตามฟ้องคือความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คนั้นเองกรณีไม่อาจเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ในมาตราอื่นได้อีก นอกจากในมาตรา 4 ดังนั้นเมื่อโจทก์ได้อ้างพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ไว้ในคำขอท้ายฟ้องและระบุชื่อพระราชบัญญัติดังกล่าวไว้ที่หน้าคำฟ้องในช่องข้อหาหรือฐานความผิดกับในคำฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงลักษณะหรือการกระทำความผิดของจำเลยไว้ครบถ้วนตามมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยจำเลยเข้าใจดีและไม่หลงต่อสู้ย่อมมีผลเท่ากับการอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (6) แล้วคำฟ้องโจทก์จึงสมบูรณ์ตามกฎหมายดังกล่าว แต่ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 โดยมิได้ยกบทมาตราแห่งกฎหมายขึ้นปรับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 186 (7) นั้น ไม่ชอบ สมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 (1) (2) นอกจากที่แก้คงให้ลงโทษจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share