คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 97/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยกับผู้เสียหายเคยมีความขัดแย้งกันในเรื่องหนี้เงินกู้มาก่อน ประกอบกับพฤติการณ์ของผู้เสียหายเมื่อไปถึงหน้ารั้วบ้านของจำเลยได้เรียกจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ให้ออกมาพูด นอกรั้วบ้าน อันถือว่าเป็นการไม่ให้เกียรติ จำเลย ทำให้จำเลยโกรธผู้เสียหาย และร้องด่าผู้เสียหายว่า “มึงเป็นเมียน้อยสารวัตรส.อย่ามาทำใหญ่ให้กู้เห็นนะ”ต่อหน้า พ.ซึ่งมากับผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังจาก พ. อันเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญาอาญามาตรา 326, 368, 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 จำคุก 1 เดือน และปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีนางนุสราผู้เสียหาย และนางสาวพิมลพรรณเพื่อนของผู้เสียหายมาเบิกความเป็นประจักษ์พยานว่า ในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้องเมื่อผู้เสียหายกับเพื่อนไปถึงบ้านจำเลย ผู้เสียหายเรียกให้จำเลยออกมานอกรั้วบ้านเพื่อพูดคุยเรื่องผู้เสียหายเอาเงินมาให้ จำเลยออกจากตัวบ้านแต่ไม่ยอมออกมานอกรั้วบ้านและยืนอยู่ห่างจากผู้เสียหายประมาณ 2 เมตรแล้วจำเลยร้องตวาด ด่าผู้เสียหายว่า “มึงไม่ต้องมาเสือกมึงไม่ต้องมาใหญ่ มึงเป็นเป็นเมียน้อยสารวัตรศิริชัยมึงไม่ต้องมาใหญ่” ผู้เสียหายให้จำเลยถอนคำพูด เพราะผู้เสียหายไม่ได้เป็นเมียน้อย จำเลยพูดอีกว่า ถ้ามึงแน่จริง มึงเก่งจริงให้ไปฟ้องเอา จากนั้นผู้เสียหายกับนางสาวพิมลพรรณขึ้นรถยนต์กลับ เห็นว่า ประจักษ์พยานโจทก์ทั้งสองปากดังกล่าวเบิกความได้สอดคล้องต้องกันในสาระสำคัญของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะนางสาวพิมลพรรณ นั้นไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อนจึงน่าเชื่อว่าได้เบิกความไปตามความจริงที่เกิดขึ้น ส่วนจำเลยคงมีแต่จำเลยเพียงปากเดียวมาเบิกความลอย ๆ ว่าผู้เสียหายไม่ได้มาที่บ้านจำเลย จำเลยจึงไม่ได้ด่าผู้เสียหาย แต่ถูกผู้เสียหายกลั่นแกล้งจึงไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่าในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้องผู้เสียหายได้ไปที่บ้านของจำเลยเพื่อเจรจาเรื่องเงินที่กู้ยืมกัน คดีมีปัญหาที่จะต้องพิจารณาต่อไปว่าจำเลยได้พูดหมิ่นประมาทผู้เสียหายหรือไม่ เห็นว่า ก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายเคยยืมเงินจากจำเลยปรากฏตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย ล. และจำเลยเบิกความด้วยตนเองเป็นพยานสอดคล้องกับหลักฐานการกู้ยืมดังกล่าวว่าผู้เสียหายเคยกู้ยืมเงินจำเลย จำเลยเคยทวงถามดอกเบี้ยเงินกู้จากผู้เสียหาย แต่ผู้เสียหายไม่ยอมชำระ จำเลยจึงทวงต้นเงินคืนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายไม่พอใจ และพูดท้าทายจำเลยว่าขนาดดอกเบี้ยยังเรียกเก็บไม่ได้แน่ใจหรือจะได้รับเงินต้นคืน จากข้อนำสืบของจำเลยดังกล่าวเมื่อฟังประกอบกับข้อที่ผู้เสียหายเบิกความว่า ในวันเวลาเกิดเหตุได้มาที่บ้านของจำเลยเพื่อพูดคุยเรื่องเอาเงินมาให้แล้วน่าเชื่อว่าจำเลยกับผู้เสียหายเคยมีความขัดแย้งกันในเรื่องหนี้เงินกู้มาก่อน ดังนั้นเมื่อได้นำข้อเท็จจริงที่ว่า จำเลยกับผู้เสียหายเคยมีความขัดแย้งกันในเรื่องหนี้เงินกู้มาก่อน ประกอบกับพฤติการณ์ของผู้เสียหายที่เบิกความว่า เมื่อไปถึงหน้ารั้วบ้านจำเลยได้เรียกให้จำเลยออกมาพูดนอกรั้วบ้าน อันถือว่าเป็นการไม่ให้เกียรติจำเลย ทำให้จำเลยโกรธผู้เสียหาย และร้องด่าผู้เสียหายว่า “มึงเป็นเมียน้อยสารวัตรสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานีก็แค่นั้นเองอย่ามาทำใหญ่ให้กูเห็นนะ” ต่อหน้านางสาวพิมลพรรณซึ่งมากับผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังจากนางสาวพิมลพรรณอันเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ยกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share