แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ที่ 4 เป็นภรรยาเจ้ามรดกมาก่อนประกาศใช้ ป.พ.พ.บรรพ 5 มีบุตรด้วยกัน 4 คน คือ โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 และจำเลย เจ้ามรดกถึงแก่กรรมเมื่อปี 2503 โดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ โจทก์ที่ 4 และจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทสืบต่อมาหลังจากเจ้ามรดกถึงแก่กรรม จึงเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นด้วย เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้บอกกล่าวไปยังโจทก์ทั้งสี่ว่าจำเลยไม่มีเจตนายึดถือที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกแทนโจทก์ทั้งสี่ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1381 การที่จำเลยนำที่ดินพิพาทไปออก น.ส.3 ในนามของจำเลยแต่ผู้เดียวโดยมิได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังโจทก์ทั้งสี่ จึงถือได้ว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ทั้งสี่อยู่ต่อไป เมื่อโจทก์ทั้งสี่ครอบครองที่พิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งกัน โจทก์ทั้งสี่ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดก แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความมรดกตามที่ ป.พ.พ.มาตรา 1754 บัญญัติไว้ ทั้งนี้เป็นไปตามป.พ.พ.มาตรา 1748 คดีจึงไม่ขาดอายุความมรดก