คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4986/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เพิ่งติดต่อหาทนายในขณะที่ยังเหลือเวลายื่นคำให้การอีกเพียง 2 วันโดยไม่ปรากฏว่ามีเหตุขัดข้องหรือความจำเป็นอย่างใดจึงมาติดต่อหาทนายล่าช้า จึงเป็นความผิดของจำเลยที่ 1 ที่ปล่อยปละละเลยให้ระยะเวลายื่นคำให้การล่วงเลยไปถึง 13 วันโดยไม่ขวนขวายติดต่อหาทนายแต่เนิ่นๆรูปคดีจึงไม่ยุ่งยากซับซ้อน เวลาที่เหลือ 2 วันก็เพียงพอที่จะทำคำให้การยื่นต่อศาลชั้นต้นได้ทันกำหนดเวลา ข้ออ้างตามคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การของจำเลยที่ 1 ถือไม่ได้ว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษอันจะพึงขยายระยะเวลายื่นคำให้การให้จำเลยที่ 1 ได้ เมื่อข้อเท็จจริงตามที่อ้างมาในคำร้องเพียงพอที่จะวินิจฉัยและมีคำสั่งได้แล้ว ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจทำคำสั่งไปได้โดยไม่จำเป็นต้องส่งสำเนาคำร้องให้โจทก์และไต่สวนคำร้องก่อน

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ทั้งสี่ฟ้องว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 864 เป็นกรรมสิทธิ์รวมของโจทก์ทั้งสี่และจำเลยทั้งสอง ซึ่งต่างครอบครองแยกกันเป็นสัดส่วน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองไปยื่นคำร้องขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ที่ 1 ได้ที่ดินมีอาณาเขตในกรอบเส้นดำหมายสีเหลือง เนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ โจทก์ที่ 2 ได้ที่ดินมีอาณาเขตในกรอบเส้นดำหมายสีเขียว เนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ โจทก์ที่ 3 ได้ที่ดินมีอาณาเขตในกรอบเส้นดำหมายสีม่วง เนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ โจทก์ที่ 4 ได้ที่ดินมีอาณาเขตในกรอบเส้นดำหมายสีชมพู เนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ 2 งาน ตามแผนที่สังเขปท้ายคำฟ้องและจดทะเบียนแบ่งแยกให้โจทก์ทั้งสี่ได้โฉนดที่ดินใหม่ทั้ง 4 ฉบับส่วนจำเลยทั้งสองได้โฉนดที่ดินคงเหลือฉบับเดิมหากจำเลยทั้งสองไม่ไปและไม่จัดการดังกล่าวก็ขอถือคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง ศาลชั้นต้นส่งหมายเรียกและส่งสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2543 โดยมีผู้รับแทน ต่อมาวันที่ 12 มิถุนายน 2543 จำเลยที่ 1ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การไปอีก 30 วัน นับแต่วันยื่นคำร้องอ้างว่า ทนายความจำเลยที่ 1 เพิ่งได้รับการติดต่อจากจำเลยที่ 1 ให้เป็นทนายความในวันนี้ ต้องสอบถามรายละเอียดในคดีและตรวจเอกสารต่าง ๆ ตลอดจนต้องไปดูสถานที่ตั้งของที่ดินพิพาทอย่างละเอียดเพื่อทำคำให้การได้ถูกต้อง จึงไม่สามารถทำคำให้การยื่นได้ทันภายในกำหนด

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า กรณีที่อ้างไม่ใช่พฤติการณ์พิเศษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ยกคำร้อง

วันที่ 11 กรกฎาคม 2543 โจทก์ทั้งสี่ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและนัดสืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ คดีพิพาทเกี่ยวด้วยกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ให้สืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองไปยื่นคำขอรังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 864 ตำบลหัวสะพาน (หัวตะพาน) อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรีให้โจทก์ทั้งสี่ ตามสัดส่วนที่โจทก์ทั้งสี่ครอบครอง โดยโจทก์ที่ 1 ได้ที่ดินแปลงหมายเลข 1เนื้อที่ 3 งาน 82 ตารางวา โจทก์ที่ 2 ได้ที่ดินแปลงหมายเลข 2.1 เนื้อที่ 2 ไร่ 7 ตารางวา แปลงหมายเลข 2.2 เนื้อที่ 1 งาน 64 ตารางวา แปลงหมายเลข 2.3 เนื้อที่ 1 ไร่ 36 ตารางวา โจทก์ที่ 3 ได้ที่ดินแปลงหมายเลข 3 เนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 7 ตารางวา โจทก์ที่ 4 ได้ที่ดินแปลงหมายเลข 4 เนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 2 ตารางวา ตามแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.2 ถ้าจำเลยทั้งสองไม่ไปให้ถือคำพิพากษาแสดงเจตนาแทนจำเลยทั้งสอง

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำสั่งที่ให้ยกคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การ

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกคำพิพากษาและคำสั่งของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องขอขยายระยะเวลาของจำเลยที่ 1 ไว้ดำเนินการต่อไป แล้วพิจารณาและพิพากษาใหม่

โจทก์ทั้งสี่ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นมีอำนาจสั่งคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การไปโดยไม่ต้องส่งสำเนาคำร้องให้โจทก์ และไต่สวนคำร้องก่อนหรือไม่ เห็นว่า ตามคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การ จำเลยที่ 1 เพิ่งติดต่อหาทนายจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2543 ยังเหลือเวลาเพื่อยื่นคำให้การอีกเพียง 2 วันโดยไม่ปรากฏว่ามีเหตุขัดข้องหรือความจำเป็นอย่างใดจึงมาติดต่อหาทนายจำเลยที่ 1 ล่าช้าเช่นนี้ ความล่าช้าตามที่อ้างมาในคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การนั้น จึงเป็นความผิดของจำเลยที่ 1 เอง ที่ปล่อยปละละเลยให้ระยะเวลายื่นคำให้การล่วงเลยไปถึง13 วัน โดยไม่ขวนขวายติดต่อหาทนายจำเลยที่ 1 แต่เนิ่น ๆ แม้ว่าจะเหลือเวลาทำการอีกเพียง 2 วัน ทั้งคดีนี้โจทก์ทั้งสี่ฟ้องในฐานะเจ้าของรวมให้จำเลยทั้งสองรังวัดแบ่งแยกที่ดินกรรมสิทธิ์รวม ซึ่งได้ครอบครองเป็นส่วนสัดกันแล้ว และมีแผนที่สังเขปท้ายฟ้องอีกด้วย รูปคดีจึงไม่ยุ่งยากซับซ้อนแต่อย่างใดหากทนายจำเลยที่ 1 สอบถามข้อเท็จจริงอย่างจริงจังและรีบไปดูที่ดินโดยเร็ว เวลาที่เหลือ 2 วัน ก็เพียงพอที่จะทำคำให้การยื่นต่อศาลชั้นต้นได้ทันกำหนดเวลา ข้ออ้างตามคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การของจำเลยที่ 1 ถือไม่ได้ว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษอันจะพึงขยายระยะเวลายื่นคำให้การให้จำเลยที่ 1 ได้ เมื่อข้อเท็จจริงตามที่อ้างมาในคำร้องเพียงพอที่จะวินิจฉัยและมีคำสั่งได้แล้วเช่นนี้ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจทำคำสั่งไปได้โดยไม่จำเป็นต้องส่งสำเนาคำร้องให้โจทก์และไต่สวนคำร้องก่อน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและคำสั่งศาลชั้นต้น โดยให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การของจำเลยที่ 1 ไว้ดำเนินการต่อไปแล้วพิจารณาพิพากษาใหม่นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ทั้งสี่ฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้บังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share