คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6879/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ทั้งสิบเจ็ดในข้อ 1 ขอให้จำเลยชำระเงินเป็นจำนวนเท่ากับผลต่างของดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13 ที่จำเลยจะต้องจ่ายกับผลประโยชน์ที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ท. จำกัด หาได้ ซึ่งคิดคำนวณเป็นรายเดือนจากยอดเงินยกมาของโจทก์แต่ละคน ณ วันที่ 1 มกราคม 2549 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2549 และให้จำเลยชำระเงินซึ่งคำนวณผลประโยชน์ตอบแทนงวดต่อไปในอัตราร้อยละ 13 นับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2549 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2549 จึงเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสิบเจ็ดขอให้จำเลยชำระดอกเบี้ยเงินทุนสำรองเลี้ยงชีพ ส่วนที่จำเลยไม่ได้ชำระ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2549 และวันที่ 31 ธันวาคม 2549 และเนื่องจากตามคำขอท้ายฟ้องข้อ 2 ขอให้จำเลยปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติ อันเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเกี่ยวกับการจ่ายดอกเบี้ยเงินทุนสำรองเลี้ยงชีพในอัตราร้อยละ 13 ต่อปี จึงฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสิบเจ็ดขอให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยเงินทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าวตลอดไป ดังนั้น การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 13 ต่อปี กับผลประโยชน์ที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ท. จำกัด หาได้ตลอดไปจนกว่าโจทก์ทั้งสิบเจ็ดจะพ้นจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยนั้น จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ
จำเลยจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานจำเลยขึ้นเมื่อประมาณปี 2511 เงินกองทุนฝากไว้กับธนาคารจำเลย โดยจำเลยจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนเป็นดอกเบี้ยเข้ากองทุนในอัตราคงที่ร้อยละ 13 ต่อปี ต่อมามีการจดทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ อ. จำกัด เป็นนิติบุคคลและมอบเงินกองทุนให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ท. จำกัด เป็นผู้จัดการในปี 2535 หากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ท. จำกัด นำเงินกองทุนไปลงทุนหาผลประโยชน์ได้ไม่ครบในอัตราร้อยละ 13 ต่อปี จำเลยยอมรับภาระจ่ายส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 13 ต่อปี กับผลประโยชน์ที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ท. จำกัด หาได้เข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานจำเลยการที่จำเลยจ่ายเงินดอกเบี้ยเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานธนาคาร อ. จำกัด นั้นสืบเนื่องมาจากจำเลยเคยจ่ายเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานธนาคารจำเลยก่อนที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าวจะจดทะเบียน การที่ต่อมากองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าวจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ก็หาทำให้เสียสิทธิผู้ที่เป็นสมาชิกของกองทุนอยู่ก่อนที่จะจดทะเบียนไม่ โจทก์ทั้งสิบเจ็ดซึ่งเป็นสมาชิกของกองทุนดังกล่าวอยู่ก่อนที่จะจดทะเบียนจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้
จำเลยจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานจำเลยขึ้นเมื่อประมาณปี 2511 จำเลยจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนเป็นดอกเบี้ยเข้ากองทุนในอัตราร้อยละ 13 ต่อปี ถึงแม้จะไม่ปรากฏว่าจำเลยตกลงจ่ายดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13 ต่อปี สมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นลายลักษณ์อักษรก็ตาม แต่ตามเอกสารมีข้อความระบุว่าจำเลยเป็นผู้จ่ายดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 13 ต่อปี โดยจ่ายให้ ณ วันที่ 30 มิถุนายน และ 31 ธันวาคม ของทุกปี ซึ่งข้อความดังกล่าวสืบเนื่องจากผู้แทนของจำเลยแถลงประกอบเหตุผลที่ไม่สามารถจ่ายโบนัสให้แก่พนักงานเป็นจำนวน 4 เท่าของค่าจ้างตามข้อเรียกร้องของสหภาพของจำเลยได้ ดังนั้น การจ่ายดอกเบี้ยสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง

ย่อยาว

คดีทั้งสิบเจ็ดสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันโดยให้เรียกโจทก์ทั้งสิบเจ็ดสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 17 และเรียกจำเลยทั้งสิบเจ็ดสำนวนว่า จำเลย
โจทก์ทั้งสิบเจ็ดสำนวนฟ้องจำเลยเป็นใจความทำนองเดียวกันว่า โจทก์ทั้งสิบเจ็ดเป็นลูกจ้างจำเลย ในระหว่างทำงานจำเลยจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานธนาคารจำเลยขึ้น โดยให้ลูกจ้างจ่ายเงินสะสมอัตราร้อยละ 5 หรือ 10 ของค่าจ้างตามความสมัครใจ ส่วนจำเลยออกเงินสมทบอัตราร้อยละ 10 ของเงินเดือนและโบนัสของลูกจ้าง และจ่ายดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13 ต่อปี ของต้นเงินสะสม เงินสมทบ และยอดเงินกองทุนของลูกจ้างแต่ละคนที่ยกมาจากงวดก่อนโดยลงรับดอกเบี้ยในบัญชีเงินสำรองเลี้ยงชีพของลูกจ้างในงวดวันที่ 30 มิถุนายน และ 31 ธันวาคมของทุกปี ต่อมาในปี 2535 จำเลยให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมทิสโก้ จำกัด เป็นผู้จัดการกองทุน นำเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปลงทุนหาผลประโยชน์ หากปีใดบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมทิสโก้ จำกัด หาผลประโยชน์ได้ไม่ถึงร้อยละ 13 ต่อปี จำเลยยอมจ่ายส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13 ต่อปี กับผลประโยชน์ที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมทิสโก้ จำกัด หาได้สมทบเข้ากองทุน เพื่อให้สมาชิกกองทุนได้รับผลประโยชน์ตอบแทนครบอัตราร้อยละ 13 ต่อปี จำเลยจ่ายส่วนต่างของเงินดังกล่าวถึงงวดวันที่ 31 ธันวาคม 2548 แล้วไม่ยอมจ่ายส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 13 ต่อปี กับผลประโยชน์ที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมทิสโก้ จำกัด หาได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2549 เป็นต้นไปโดยในงวดระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 30 มิถุนายน 2549 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมทิสโก้ จำกัด นำเงินกองทุนไปลงทุนหาผลประโยชน์ได้ผลตอบแทนอัตราร้อยละ 1.75 ต่อปี และจ่ายผลตอบแทนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพลงบัญชีให้โจทก์ทั้งสิบเจ็ดเฉพาะในส่วนที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมทิสโก้ จำกัด หาได้ เมื่อคำนวณส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 13 ต่อปี กับผลประโยชน์ที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมทิสโก้ จำกัด หาได้ในงวดระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 30 มิถุนายน 2549 ที่จะต้องลงบัญชีในสัดส่วนของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 17 แล้ว การที่จำเลยไม่จ่ายเงินส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 13 ต่อปี กับผลประโยชน์ที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมทิสโก้ จำกัด หาได้ให้โจทก์ทั้งสิบเจ็ด เป็นการฝ่าฝืนข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ทำให้โจทก์ทั้งสิบเจ็ดไม่ได้รับส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 13 ต่อปีกับผลประโยชน์ที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมทิสโก้ จำกัด หาได้ในงวดระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 30 มิถุนายน 2549 และในงวดถัดไป ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานธนาคารจำเลยของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 17 ตามลำดับ กับให้คำนวณผลประโยชน์ตอบแทนในงวดต่อไปอัตราร้อยละ 13 ต่อปี และให้จำเลยปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเกี่ยวกับการจ่ายดอกเบี้ยเงินทุนสำรองเลี้ยงชีพอัตราร้อยละ 13 ต่อปี แก่โจทก์ทั้งสิบเจ็ด
จำเลยทุกสำนวนให้การว่า โจทก์ไม่ถูกโต้แย้งสิทธิจึงมิใช่ผู้เสียหายและไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยจ่ายเงินแก่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมทิสโก้ จำกัด ซึ่งเป็นบุคคลที่สาม จำเลยไม่เคยมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือระเบียบปฏิบัติดังเช่นที่ระบุในฟ้อง เดิมจำเลยจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของพนักงานขึ้นโดยหักเงินค่าจ้างของลูกจ้างสะสม และจำเลยออกเงินสมทบเข้ากองทุนอีกส่วนหนึ่ง เนื่องจากเงินกองทุนฝากไว้กับธนาคารจำเลย จำเลยในฐานะธนาคารพาณิชย์ผู้รับฝากเงินจึงได้จ่ายดอกเบี้ยเงินฝากอัตราร้อยละ 13 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยขณะนั้นเข้ากองทุนต่อมาเมื่อพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มีผลใช้บังคับ จึงมีการจดทะเบียนจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานธนาคาร อาร์ เอช บี จำกัด และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานธนาคารจำเลย และตั้งให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมทิสโก้ จำกัด จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าว ปี 2549 พนักงานของจำเลยสมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานธนาคารจำเลยทั้งหมด จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13 ต่อปี เข้ากองทุนอีกต่อไป การให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่สมาชิกย่อมเป็นไปตามข้อบังคับของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานธนาคารจำเลยไม่เกี่ยวกับจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างด้วยการจ่ายเงินส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 13 ต่อปี กับผลประโยชน์ที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมทิสโก้ จำกัด ได้รับจากการนำเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พนักงานธนาคารจำเลยไปลงทุนในทุกรอบระยะเวลาหกเดือนโดยให้คำนวณจ่ายในทุกสิ้นงวดวันที่ 30 มิถุนายน และ 31 ธันวาคมของทุกปี ทั้งนี้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2549 เป็นต้นไปจนกว่าโจทก์ทั้งสิบเจ็ดจะพ้นจากการเป็นลูกจ้างจำเลย คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เดิมจำเลยชื่อธนาคารสหมาลายัน ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคาร อาร์ เอช บี จำกัด เมื่อประมาณปี 2511 จำเลยจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานจำเลยขึ้น กำหนดให้ลูกจ้างจ่ายเงินสะสมอัตราร้อยละ 5 หรือ 10 ของค่าจ้างตามความสมัครใจ ส่วนจำเลยออกเงินสมทบอัตราร้อยละ 10 ของเงินเดือนและโบนัสของลูกจ้าง ต่อมาในปี 2535 จำเลยจดทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 และให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมทิสโก้ จำกัด เป็นผู้บริหารกองทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมทิสโก้ จำกัด จะรายงานแจ้งยอดเงินสำรองเลี้ยงชีพและผลตอบแทนของกองทุนให้สมาชิกทราบปีละ 2 งวด คือ งวดแรกระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 30 มิถุนายน และงวดที่สอง ระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม ถึง 31 ธันวาคม ของทุกปี ก่อนที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานจำเลยจะจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เงินกองทุนฝากไว้กับธนาคารจำเลย และจำเลยจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนเป็นดอกเบี้ยเข้ากองทุนอัตราคงที่ร้อยละ 13 ต่อปี ตั้งแต่ปี 2528 ต่อมาเมื่อมีการจดทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานจำเลยเป็นนิติบุคคล และมอบเงินกองทุนให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมทิสโก้ จำกัด เป็นผู้จัดการในปี 2535 หากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมทิสโก้ จำกัด นำเงินกองทุนไปลงทุนหาประโยชน์ได้ไม่ครบอัตราร้อยละ 13 ต่อปี จำเลยยอมรับภาระจ่ายส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 13 ต่อปี กับผลประโยชน์ที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมทิสโก้ จำกัด หาได้เข้ากองทุนเป็นประจำทุกปีนับตั้งแต่ปี 2535 ถึง 2548 จำเลยไม่จ่ายเงินส่วนต่างดังกล่าวเข้ากองทุนตั้งแต่เดือนมกราคม 2549 เป็นต้นมา
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยในประเด็นแรกว่า ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 13 ต่อปี กับผลประโยชน์ที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมทิสโก้ จำกัด หาได้เข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานจำเลยกระจายสิทธิประโยชน์เข้าบัญชีโจทก์ทั้งสิบเจ็ดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2549 เป็นต้นไป จนกว่าโจทก์ทั้งสิบเจ็ดจะพ้นจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยนั้นเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือไม่ เห็นว่า ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ทั้งสิบเจ็ดในข้อ 1 ขอให้จำเลยชำระเงินเป็นจำนวนเท่ากับผลต่างของดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13 ที่จำเลยจะต้องจ่ายกับผลประโยชน์ที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมทิสโก้ จำกัด หาได้ ซึ่งคิดคำนวณเป็นรายเดือนจากยอดเงินยกมาของโจทก์แต่ละคน ณ วันที่ 1 มกราคม 2549 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2549 และให้จำเลยชำระเงินซึ่งคำนวณผลประโยชน์ตอบแทนงวดต่อไปในอัตราร้อยละ 13 นับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2549 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2549 จึงเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสิบเจ็ดขอให้จำเลยชำระดอกเบี้ยเงินทุนสำรองเลี้ยงชีพส่วนที่จำเลยไม่ได้ชำระ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2549 และวันที่ 31 ธันวาคม 2549 และเนื่องจากตามคำขอท้ายฟ้องข้อ 2 ขอให้จำเลยปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติอันเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเกี่ยวกับการจ่ายดอกเบี้ยเงินทุนสำรองเลี้ยงชีพในอัตราร้อยละ 13 ต่อปี จึงฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสิบเจ็ดขอให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยเงินทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าวตลอดไป ดังนั้น การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 13 ต่อปี กับผลประโยชน์ที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมทิสโก้ จำกัด หาได้ตลอดไปจนกว่าโจทก์ทั้งสิบเจ็ดจะพ้นจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยนั้น จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยในประเด็นต่อไปว่า โจทก์ทั้งสิบเจ็ดมีอำนาจฟ้องให้จำเลยจ่ายเงินให้แก่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมทิสโก้ จำกัด ซึ่งไม่ใช่คู่ความและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์ทั้งสิบเจ็ดฟ้องขอให้จำเลยจ่ายเงินส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยเงินทุนสำรองเลี้ยงชีพอัตราร้อยละ 13 ต่อปี กับผลประโยชน์ที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมทิสโก้ จำกัด หาได้ให้แก่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมทิสโก้ จำกัด ซึ่งเป็นบุคคลที่สามที่ไม่ใช่คู่ความและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในคดี ซึ่งเงินดังกล่าวถือได้ว่าเป็นผลประโยชน์ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานธนาคาร อาร์ เอช บี จำกัด ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ดังนั้น หากโจทก์ทั้งสิบเจ็ดได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนน้อยลงโจทก์ทั้งสิบเจ็ดชอบที่จะฟ้องให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานธนาคาร อาร์ เอช บี จำกัด จ่ายสิทธิประโยชน์ให้ และการที่โจทก์ทั้งสิบเจ็ดฟ้องให้จำเลยจ่ายเงินให้แก่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมทิสโก้ จำกัด ก็แปลความไม่ได้ว่าเป็นการฟ้องให้จำเลยปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานจำเลยขึ้นเมื่อประมาณปี 2511 เงินกองทุนฝากไว้กับธนาคารจำเลย โดยจำเลยจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนเป็นดอกเบี้ยเข้ากองทุนในอัตราคงที่ร้อยละ 13 ต่อปี ต่อมามีการจดทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอาร์ เอช บี จำกัด เป็นนิติบุคคล และมอบเงินกองทุนให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมทิสโก้ จำกัด เป็นผู้จัดการในปี 2535 หากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมทิสโก้ จำกัด นำเงินกองทุนไปลงทุนหาผลประโยชน์ได้ไม่ครบในอัตราร้อยละ 13 ต่อปี จำเลยยอมรับภาระจ่ายส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 13 ต่อปี กับผลประโยชน์ที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมทิสโก้ จำกัด หาได้เข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานจำเลย การที่จำเลยจ่ายเงินดอกเบี้ยเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานธนาคาร อาร์ เอช บี จำกัด นั้น สืบเนื่องมาจากจำเลยเคยจ่ายเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานธนาคารจำเลยก่อนที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าวจะจดทะเบียน การที่ต่อมากองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าวจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลก็หาทำให้เสียสิทธิผู้ที่เป็นสมาชิกของกองทุนอยู่ก่อนที่จะจดทะเบียนไม่ โจทก์ทั้งสิบเจ็ดซึ่งเป็นสมาชิกของกองทุนดังกล่าวอยู่ก่อนที่จะจดทะเบียนจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยในประเด็นสุดท้ายว่า การที่จำเลยจ่ายดอกเบี้ยสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือไม่ เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานจำเลยขึ้น เมื่อประมาณปี 2511 จำเลยจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนเป็นดอกเบี้ยเข้ากองทุนในอัตราร้อยละ 13 ต่อปี ถึงแม้จะไม่ปรากฏว่าจำเลยตกลงจ่ายดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13 ต่อปี สมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นลายลักษณ์อักษรก็ตาม แต่ตามเอกสารหมาย จ.3 หน้า 8 ข้อ 6 มีข้อความระบุว่าจำเลยเป็นผู้จ่ายดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 13 ต่อปี โดยจ่ายให้ ณ วันที่ 30 มิถุนายน และ 31 ธันวาคม ของทุกปี ซึ่งข้อความดังกล่าวสืบเนื่องจากผู้แทนของจำเลยแถลงประกอบเหตุผลที่ไม่สามารถจ่ายโบนัสให้แก่พนักงานเป็นจำนวน 4 เท่าของค่าจ้างตามข้อเรียกร้องของสหภาพของจำเลยได้ ดังนั้น การจ่ายดอกเบี้ยสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share