คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7604/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ทางนำสืบของโจทก์และคำขอท้ายฟ้องปรากฏว่าเงินจำนวนที่โจทก์เรียกร้องไม่ใช่เงินส่วนที่ต่ำกว่าไร่ละ 65,000 บาท ตามที่อ้างว่าเป็นข้อตกลงให้ค่าบำเหน็จนายหน้าหากแต่เป็นเงินที่โจทก์อ้างว่าโจทก์กับพวกซื้อที่ดินพิพาทมาในราคาไร่ละ 50,000 บาท แล้วนำมาเสนอขายแก่ฝ่ายจำเลยในราคาไร่ละ 60,000 บาท ส่วนที่เกินไร่ละ 10,000 บาท ตกเป็นของโจทก์กับพวก อันมีลักษณะเป็นการหากำไรจากการซื้อขายที่ดินตามปกติ และเมื่อพิจารณาจากหนังสือทวงถามเงินและสรุปรายการซื้อขายที่ดินซึ่งโจทก์เป็นคนทำเอกสารดังกล่าวเองก็ยิ่งปรากฏชัดเจนว่า เป็นเรื่องที่โจทก์กับพวกซื้อที่ดินมาขายให้แก่ฝ่ายจำเลยจริง โดยเอากำไรจากราคาที่ดินที่โจทก์ซื้อมาหักออกจากราคาที่ตั้งขายแก่ฝ่ายจำเลยในราคาไร่ละ 60,000 บาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายของเจ้าของที่ดินชื่อ ข. ที่ปรากฏในลำดับที่ 6 โจทก์ไปซื้อที่ดินรายนี้มาในราคาไร่ละ 100,000 บาท ขายให้แก่ฝ่ายจำเลยราคาไร่ละ 60,000 บาท โดยโจทก์จ่ายเงินเพิ่มเอง อันเป็นผลขาดทุนในการซื้อขายที่ดินรายนี้ ทำให้เห็นเจตนาของทั้งสองฝ่ายว่าการดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินทุกแปลงรวมทั้งแปลงพิพาทเป็นเรื่องการทำธุรกิจซื้อขายที่ดินกัน หากโจทก์ซื้อที่ดินมาได้ในราคาถูกเมื่อนำไปขายในราคาที่ตกลงกัน โจทก์ก็มีกำไรมาก หากโจทก์ซื้อที่ดินมาได้ในราคาแพงก็จะมีกำไรน้อย และโจทก์อาจขาดทุนได้หากซื้อที่ดินมาในราคาสูงกว่าที่ตกลงขายให้แก่ฝ่ายจำเลย ลักษณะการทำธุรกิจกันดังกล่าวจึงมิใช่เป็นการชี้ช่องให้ฝ่ายจำเลยได้เข้าทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเพื่อเอาค่าบำเหน็จนายหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 845 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 3,460,725 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 4 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 3,460,725 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 2 มิถุนายน 2538) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท
จำเลยที่ 1 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 3,460,725 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ (ฟ้องวันที่ 2 มิถุนายน 2538) ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 20,000 บาท แทนโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยที่ 4 โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 ที่ 3 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา โดยโจทก์ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบรับและไม่โต้แย้งกันรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2533 จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 และที่ 4 กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 2 ทำสัญญาให้โจทก์เป็นตัวแทนในการติดต่อเจรจาตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินบริเวณตำบลทุ่งตำเสา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เนื้อที่ 800 ถึง 1,200 ไร่ ในราคาไม่เกินไร่ละ 65,000 บาท ตามสัญญาตั้งตัวแทน โจทก์มอบให้นายเฉลิม เป็นนายหน้าในการติดต่อขอซื้อที่ดินของนายปรีชา และห้างหุ้นส่วนจำกัด โตนงาช้างปาล์ม จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2533 โดยจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้ร่วมเริ่มก่อการจัดตั้งด้วย เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2534 จำเลยที่ 3 ทำสัญญาข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.43 ให้แก่โจทก์ ที่ดินที่มีการติดต่อซื้อจากนายปรีชาและห้างหุ้นส่วนจำกัด โตนงาช้างปาล์มนั้น ได้โอนเป็นของจำเลยที่ 1 เมื่อปี 2536 ซึ่งจำเลยที่ 1 ใช้ทำเป็นสนามกอล์ฟและโครงการของจำเลยที่ 1
ก่อนที่จะวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของโจทก์และตามฎีกาของจำเลยที่ 1 เห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า เงินจำนวน 3,460,725 บาท ดังกล่าว เป็นเงินบำเหน็จนายหน้าหรือบำเหน็จตัวแทนที่ฝ่ายจำเลยตกลงจะให้แก่โจทก์ตามสัญญาตั้งตัวแทนหรือไม่ ข้อนี้โจทก์อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2533 จำเลยที่ 3 และที่ 4 ทำสัญญาในนามจำเลยที่ 2 ให้โจทก์เป็นนายหน้าติดต่อซื้อที่ดินในราคาไม่เกินไร่ละ 65,000 บาท โดยตกลงด้วยว่าหากโจทก์ซื้อที่ดินในราคาต่ำกว่าไร่ละ 65,000 บาท ส่วนต่างจะเป็นของโจทก์กับพวก แต่เมื่อพิจารณาตามคำขอท้ายฟ้องและตามทางนำสืบของโจทก์แล้ว ปรากฏว่าเงินจำนวนที่โจทก์เรียกร้องไม่ใช่เงินส่วนที่ต่ำกว่าไร่ละ 65,000 บาท ตามที่อ้างว่าเป็นข้อตกลงให้ค่าบำเหน็จนายหน้า หากแต่เป็นเงินที่โจทก์อ้างว่าโจทก์กับพวกซื้อที่ดินพิพาทมาในราคาไร่ละ 50,000 บาท แล้วนำมาเสนอขายแก่ฝ่ายจำเลยในราคาไร่ละ 60,000 บาท ส่วนที่เกินไร่ละ 10,000 บาท ตกเป็นของโจทก์กับพวก อันมีลักษณะเป็นการหากำไรจากการซื้อขายที่ดินตามปกติ เพียงแต่ในการซื้อที่ดินมาของโจทก์กับพวกไม่ได้จดทะเบียนโอนใส่ชื่อโจทก์เท่านั้น ซึ่งอาจเป็นเพราะคู่กรณีไม่ต้องการเสียเงินค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนโอนที่ดินอีกทอดหนึ่ง เพราะโจทก์ทราบดีว่าจะต้องนำที่ดินไปขายให้แก่ฝ่ายจำเลยต่อไป เมื่อโจทก์นำที่ดินไปขายให้แก่ฝ่ายจำเลยจึงต้องให้เจ้าของที่ดินเดิมเป็นคนทำสัญญาจะซื้อจะขาย เมื่อซื้อขายที่ดินกันได้สำเร็จแล้วจึงหักส่วนกำไรให้แก่โจทก์ และเมื่อพิจารณาจากหนังสือทวงถามเงินและสรุปรายการซื้อ/ขายที่ดิน ซึ่งโจทก์เป็นคนทำเอกสารดังกล่าวเองก็ยิ่งปรากฏชัดเจนว่าเป็นเรื่องที่โจทก์กับพวกซื้อที่ดินมาขายให้แก่ฝ่ายจำเลยจริงโดยเอากำไรจากราคาที่ดินที่โจทก์ซื้อมาหักออกจากราคาที่ตั้งขายแก่ฝ่ายจำเลยในราคาไร่ละ 60,000 บาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายของเจ้าของที่ดินชื่อนายไข่ที่ปรากฏในลำดับที่ 6 โจทก์ไปซื้อที่ดินรายนี้มาในราคาไร่ละ 100,000 บาท ขายให้แก่ฝ่ายจำเลยราคาไร่ละ 60,000 บาท โจทก์ได้เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 และที่ 4 ถามค้านยอมรับว่าโจทก์จ่ายเงินเพิ่มเอง อันเป็นผลขาดทุนในการซื้อขายที่ดินรายนี้ ทำให้เห็นเจตนาของทั้งสองฝ่ายว่า การดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินทุกแปลงรวมทั้งแปลงพิพาทเป็นเรื่องการทำธุรกิจซื้อขายที่ดินกัน หากโจทก์ซื้อที่ดินมาได้ในราคาถูก เมื่อนำไปขายในราคาที่ตกลงกันโจทก์ก็มีกำไรมาก หากโจทก์ซื้อที่ดินมาในราคาแพงก็จะมีกำไรน้อย และโจทก์อาจขาดทุนได้หากซื้อที่ดินมาในราคาสูงกว่าที่ตกลงขายให้แก่ฝ่ายจำเลย ลักษณะการทำธุรกิจกันดังกล่าวจึงมิใช่เป็นการชี้ช่องให้ฝ่ายจำเลยได้เข้าทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเพื่อเอาค่าบำเหน็จนายหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 845 วรรคหนึ่ง และไม่เป็นไปตามที่โจทก์กล่าวอ้างว่าฝ่ายจำเลยตกลงจะให้ส่วนต่างจากราคาที่ดินที่ต่ำกว่าไร่ละ 65,000 บาท ดังนั้น เงินจำนวน 3,460,725 บาท ตามฟ้องดังกล่าวจึงเป็นเงินส่วนกำไรจากการซื้อขายที่ดินแปลงพิพาทของโจทก์ มิใช่เป็นเงินค่านายหน้าตามที่โจทก์นำสืบมาว่ามีข้อตกลงที่ฝ่ายจำเลยจะให้เป็นบำเหน็จแก่โจทก์ตามสัญญาตั้งตัวแทนและก็ฟังไม่ได้ว่าเป็นบำเหน็จของตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 803 อีกด้วย เพราะการซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นเรื่องที่โจทก์ทำการค้าโดยหวังผลกำไรจากฝ่ายจำเลย มิใช่ทำการแทนฝ่ายจำเลยตัวการตามมาตรา 797 วรรคหนึ่ง
เมื่อวินิจฉัยมาดังกล่าวแล้ว ปัญหาตามฎีกาของโจทก์ที่ว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จะต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 3,460,725 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ให้แก่โจทก์หรือไม่ และปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดจำนวนเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์หรือไม่ จึงเห็นควรวินิจฉัยรวมกันไปว่า จำเลยทั้งสี่ต้องร่วมกันชำระเงินจำนวน 3,460,725 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ให้แก่โจทก์ตามสัญญาข้อตกลงหรือไม่ ปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์และจำเลยที่ 1 ว่า เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2534 จำเลยที่ 3 ทำสัญญาข้อตกลงเอกสารหมาย จ.43 จะชำระค่าที่ดินส่วนต่างให้แก่โจทก์จำนวน 3,460,725 บาท การทำสัญญาข้อตกลงดังกล่าวสืบเนื่องมาจากการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างนายปรีชาและห้างหุ้นส่วนจำกัด โตนงาช้างปาล์มผู้จะขายกับจำเลยที่ 3 ผู้จะซื้อฉบับลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2533 ซึ่งขณะนั้นหากมีการซื้อขายกันจริงโจทก์จะได้รับส่วนต่างของราคาที่ดินจำนวน 3,460,725 บาท จากจำเลยที่ 3 แต่โจทก์และจำเลยที่ 1 ก็นำสืบรับกันว่าไม่ได้มีการซื้อขายตามสัญญาจะซื้อจะขายฉบับลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2533 แต่อย่างใด โดยจำเลยที่ 3 ยังได้ชำระเงินเป็นค่าชดเชยในการเลื่อนการจดทะเบียนโอนที่ดินไปด้วย ภายหลังจากนั้นจำเลยที่ 1 มาซื้อที่ดินแปลงพิพาทได้เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2535 ในราคาเฉลี่ยไร่ละประมาณ 100,000 บาท สูงกว่าราคาที่โจทก์ตกลงไว้ เมื่อจำนวนเงินที่โจทก์เรียกร้องตามสัญญาข้อตกลงเอกสารหมาย จ.43 ซึ่งเป็นเงินส่วนต่างของราคาที่ดินที่โจทก์นำมาขายให้แก่ฝ่ายจำเลย ไม่ใช่เงินค่าบำเหน็จนายหน้าหรือบำเหน็จตัวแทน และข้อเท็จจริงปรากฏว่าไม่มีส่วนต่างของราคาที่ดินที่โจทก์มีสิทธิที่จะได้รับจากการซื้อขายดังกล่าว จำเลยทั้งสี่จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จะเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 หรือเป็นผู้ร่วมเริ่มก่อการจัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 1 หรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระเงินจำนวน 3,460,725 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ให้แก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น ส่วนฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9

Share