แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
สิทธิเรียกร้องจากการที่จำเลยทั้งสามซื้อสินค้าจากโจทก์ เพื่อส่งขายให้แก่ลูกค้าอันมิใช่ซื้อไปเพื่อใช้เป็นการเฉพาะภายในบริษัทจำเลยที่ 1 ย่อมมีอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (5) มิใช่อายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1)
การที่จำเลยที่ 2 เชิดตัวเองออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ขอผ่อนชำระหนี้งวดแรกภายในเดือนมกราคม 2543 ย่อมมีผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลงโดยระยะเวลาที่ล่วงไปนั้นไม่นับเข้าในอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) และมาตรา 193/15 เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินงวดแรกแก่โจทก์ตามที่รับสภาพหนี้ไว้ เหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงจึงสิ้นสุดลงในวันที่ 31 มกราคม 2543 และเริ่มนับหนึ่งตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2543 เป็นต้นไป เมื่อโจทก์ฟ้องคดีวันที่ 30 ธันวาคม 2547 ฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ขาดอายุความ ส่วนจำเลยที่ 3 ไม่ปรากฏว่ายอมให้จำเลยที่ 2 เชิดตัวเองออกแสดงเป็นตัวแทน กรณีจึงไม่อาจถือว่าจำเลยที่ 3 ได้รับสภาพหนี้ต่อโจทก์ด้วย ฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 3 จึงขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อประมาณปี 2537 ถึง 2538 จำเลยทั้งสามร่วมกันสั่งซื้อผ้าขนหนู 74,160 ผืน จากโจทก์ รวมเป็นเงิน 607,036.68 บาท โจทก์ส่งสินค้าให้จำเลยทั้งสามครบถ้วนแล้ว จำเลยทั้งสามสั่งจ่ายเช็ครวม 6 ฉบับ เพื่อชำระค่าสินค้า เมื่อเช็คดังกล่าวถึงกำหนดโจทก์ไม่สามารถเรียกเก็บเงินตามเช็คได้ โจทก์จึงมีหนังสือบอกกล่าวทวงถาม และบอกเลิกสัญญาซื้อขายไปยังจำเลยทั้งสาม แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉยไม่ชำระค่าสินค้าแก่โจทก์ ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันส่งมอบผ้าขนหนู ขนาด 28 คูณ 46 เซนติเมตร 74,160 ผืน แก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 625,995.64 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 607,036.68 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม คดีโจทก์ขาดอายุความเนื่องจากโจทก์ไม่ได้ฟ้องเรียกให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ชำระค่าสินค้าภายในกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2538 ซึ่งเป็นวันส่งมอบสินค้า ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 และที่ 3 แถลงขอสละข้อต่อสู้ตามคำให้การเรื่องอำนาจฟ้อง ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 27 กันยายน 2548
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาประการแรกที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ตามคำฟ้องอ้างว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันสั่งซื้อผ้าขนหนูไปจากโจทก์ โดยโจทก์ส่งมอบสินค้าให้แก่จำเลยทั้งสามแล้ว และจำเลยทั้งสามสั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระค่าสินค้าให้แก่โจทก์ แต่โจทก์ไม่สามารถเรียกเก็บเงินตามเช็คและไม่เคยได้รับชำระหนี้อีก และข้อเท็จจริงได้ความตามที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยทั้งสามซื้อสินค้าจากโจทก์ครั้งละมากๆ ก็เพื่อส่งขายให้แก่ลูกค้า อันมิใช่ซื้อไปเพื่อใช้เป็นการเฉพาะภายในบริษัทจำเลยที่ 1 จึงถือได้ว่าจำเลยทั้งสามสั่งซื้อผ้าขนหนูจากโจทก์เพื่อนำไปใช้ในกิจการของจำเลยทั้งสามอันเป็นกิจการตามวัตถุประสงค์ของจำเลยทั้งสาม สิทธิเรียกร้องในคดีนี้จึงมีอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (5) มิใช่อายุความ 2 ปี ตามมาตรา 193/34 (1) ศาลอุทธรณ์พิพากษาประเด็นนี้ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย แต่ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ยอมให้จำเลยที่ 2 เชิดตัวเองออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.16 วันที่ 8 ธันวาคม 2542 ถือได้ว่าเป็นการรับสภาพหนี้ของจำเลยที่ 1 ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงและเริ่มนับอายุความขึ้นใหม่ตั้งแต่วันดังกล่าวคือตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2542 และโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 30 ธันวาคม 2547 ซึ่งพ้นกำหนดระยะเวลา 5 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า ตามเอกสารหมาย จ.16 ดังกล่าวมีลักษณะเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ขอผ่อนชำระเงินแก่โจทก์ งวดแรกจำนวน 20,000 บาท ภายในเดือนมกราคม 2543 การรับสภาพหนี้ดังกล่าวมีผลให้อายุความสะดุดหยุดลงโดยระยะเวลาที่ล่วงไปนั้นไม่นับเข้าในอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (1) และมาตรา 193/15 แม้ยอดหนี้ตามเช็ค 6 ฉบับ เป็นเงิน 600,966 บาท ที่จ่ายเป็นค่าสินค้าให้โจทก์ตามที่รับสภาพหนี้ในเอกสารดังกล่าวจะไม่ตรงกับค่าสินค้าที่ฟ้องจำนวน 607,036.68 บาท ดังที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 แก้ฎีกาก็ตาม แต่ข้อความในหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวก็ระบุไว้ชัดเจนว่าลูกหนี้ประสงค์จะผ่อนชำระยอดหนี้ตามเช็คอันสืบเนื่องมาจากการสั่งจ่ายเพื่อชำระค่าสินค้า กรณีจึงฟังได้ว่าเป็นการรับสภาพหนี้ในมูลหนี้ค่าสินค้าที่ค้างชำระนั้นเอง เมื่อต่อมาปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินงวดแรกให้แก่โจทก์ภายในเดือนมกราคม 2543 ตามที่รับสภาพหนี้ไว้ เหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงจึงสิ้นสุดลงในวันที่ 31 มกราคม 2543 และเริ่มนับหนึ่งตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2543 เป็นต้นไป โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 30 ธันวาคม 2547 จึงยังไม่พ้นกำหนดระยะเวลา 5 ปี เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ตามเอกสารหมาย จ.16 โดยจำเลยที่ 1 มีพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่ายอมให้จำเลยที่ 2 เชิดตัวเองออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 3 ยอมให้จำเลยที่ 2 เชิดตัวเองออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 3 กรณีจึงไม่อาจถือว่าจำเลยที่ 3 ได้รับสภาพหนี้ต่อโจทก์ด้วย ฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ขาดอายุความ แต่ฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 3 นั้น เมื่อโจทก์มาฟ้องให้รับผิดหลังจากมีการสั่งซื้อสินค้าและเกิดสิทธิเรียกร้องค่าสินค้าแล้วเป็นเวลา 9 ปี ฟ้องโจทก์ในส่วนของจำลยที่ 3 จึงขาดอายุความ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องเนื่องจากฟ้องโจทก์ขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย…
ปัญหาประการสุดท้ายตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า เมื่อฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความและไม่เคลือบคลุม จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินให้โจทก์ตามฟ้องนั้น พิเคราะห์แล้วแม้ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องเนื่องจากเห็นว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความโดยยังมิได้วินิจฉัยในประเด็นเกี่ยวกับความรับผิดของจำเลย แต่เมื่อสำนวนความขึ้นสู่ศาลฎีกาโดยศาลชั้นต้นได้สืบพยานจนสิ้นกระแสความแล้วโดยมีพยานหลักฐานเพียงพอที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยได้ ทั้งทุนทรัพย์ที่พิพาทเป็นเงินเกินกว่า 200,000 บาท ซึ่งไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และเพื่อให้การพิจารณาพิพากษาเป็นไปโดยรวดเร็ว จึงเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหานี้ไปโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนให้ศาลล่างวินิจฉัยก่อน เห็นว่า… พยานบุคคลและพยานเอกสารที่โจทก์นำสืบมามีน้ำหนักเพียงพอให้เชื่อว่าฟ้องโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมายรับฟังได้ว่า จำเลยค้างชำระค่าสินค้าที่สั่งซื้อจากโจทก์ ส่วนค่าสินค้าโจทก์อ้างว่าเป็นเงินจำนวน 607,036.68 บาท แต่การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับสภาพหนี้ต่อโจทก์เป็นเงินจำนวน 600,966 บาท ตามเอกสารหมาย จ.16 โดยโจทก์มิได้อิดเอื้อน จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงรับผิดต่อโจทก์เพียงจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ผิดนัดงวดแรกคือตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ฎีกาโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 600,966 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 31 มกราคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์