แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในปี พ.ศ.2498 ยังไม่มีบทกฎหมายหรือกฎข้อบังคับใดที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะถึงวิธีปฏิบัติในเรื่องการเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัด เมื่อไม่แน่ว่าท้องที่หมู่บ้านหนึ่งอยู่ในเขตของจังหวัดใดในระหว่าง 2 จังหวัด ทีมีเขตติดต่อกัน กระทรวงมหาดไทยมอบให้ข้าหลวงตรวจการมหาดไทยภาคเป็นประธานของคณะกรรมการ ให้มีอำนาจกำหนดเขตระหว่าง 2 จังหวัดนี้ให้แน่นอน แล้วว่าการกำหนดเขตระหว่างจังหวัดนี้ไม่จำต้องทำเป็นประกาศกำหนดเขตตำบล โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457เพียงแต่ทำเป็นบันทึกข้อตกลงระหว่างจังหวัดทั้งสองพร้อมทั้งทำแผนที่แสดงแนวเขตให้ชัดแจ้งเก็บไว้เป็นหลักฐานทั้งทำแผนที่แนวเขตให้ชัดแจ้งเก็บไว้เป็นหลักฐานก็พอแล้ว ข้อหลวงตรวจการ ฯ ภาคจึงปฏิบัติการตามคำสั่งดังนี้ การกำหนดเขตจังหวัดทั้งสองจึงเป็นการชอบแล้ว
ในปี พ.ศ.2498 นั้น ตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลได้ถูกยุบเลิกไปก่อนแล้ว ไม่มีสมุหเทศาภิบาลที่ผู้ว่าราชการจังหวัดจะขออนุมัติในการที่จะเปลี่ยนแปลงเขตหมู่บ้านและตำบลตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 มาตรา 6 แต่เมื่ออำนาจหน้าที่ในการบริหารตรวจการของสมุหเทศาภิบาลย่อมตกไปอยู่กับกระทรวงมหาดไทยกระทรวงมหาดไทยสั่งการและมอบให้ข้าหลวงตรวจการ ฯ ภาค เป็นผู้ดำเนินการกำหนดเขตจังหวัดให้แน่นอน การที่ข้าหลวงตรวจการ ภาคกำหนดเขตจังหวัดจึงเป็นการชอบ แม้จะมีผลเป็น+เปลี่ยนแปลงเขตหมู่บ้านและตำบลด้วย ในปี พ.ศ.2497 พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2495 ออกใช้แล้ว การเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัดหรือเขตอำเภอจะต้องตราเป็นพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 32 และ 39 ผู้ว่าราชการภาคไม่มีอำนาจสั่งเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัดได้ ถ้าผู้ว่าราชการภาคกำหนดแนวเขตจังหวัดใหม่ ทำให้ที่พิพาทซึ่งเคยอยู่ในเขตจังหวัดจะต้องไปอยู่ในเขตจังหวัด บ.ก็ยังต้องถือว่าที่พิพาทยังขึ้นอยู่กับจังหวัด จ. ศาลจังหวัด จ. มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับที่พิพาท
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดิน ตามตราจองเลขที่ ๑๒๐๗ อยู่ที่ตำบลหัวดง อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร จำเลยบุกรุกเข้าทำประโยชน์ โจทก์ห้าม จำเลยกลับว่า เป็นที่ของจำเลย ขอให้พิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์
จำเลยให้การปฏิเสธ และต่อสู้ด้วยว่า หากโจทก์จะฟ้องจำเลยเกี่ยวกับที่ดินที่จำเลยครอบครอง โจทก์ก็ไม่มีอำนาจฟ้องที่ศาลจังหวัดพิจิตร เพราะที่ดินตลอดจนภูมิลำเนาจำเลยอยู่ในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์
ศาลจังหวัดพิจิตรฟังว่าที่พิพาทอยู่ในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์ เห็นว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลจังหวัดพิจิตร จะพิจารณาพิพากษา พิพากษายกฟ้อง แต่ไม่ตัดสิทธิที่จะนำคำฟ้องไปยื่นยังศาลที่มีอำนาจ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังว่า ที่พิพาทยังอยู่ในเขตจังหวัดพิจิตร พิพากษายกคำพิพากษา ศาลจังหวัดพิจิตร ให้ศาลจังหวัดพิจิตรพิพากษาใหม่
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังว่า ที่พิพาทอยู่ห่างฝั่งตะวันออกของคลองกุ้นขะนาง หรือวังขะนาง เดิมเป็นป่าอยู่ระหว่างเขตติดต่อของอำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร กับกิ่งอำเภอชนแดนจังหวัดเพชรบูรณ์ ต่อมาราษฎรเขาหักร้างถางป่าและขอจับจอง เนื่องจากบริเวณป่านี้ ไม่แน่ว่าอยู่ในเขตจังหวัดพิจิตรหรือเพชรบูรณ์จึงขอจับจองต่อเจ้าหน้าที่จังหวัดเพชรบูรณ์ก็มีจังหวัดพิจิตรก็มี เจ้าหน้าที่ ๒ จังหวัดนี้ต่างได้ออกใบเหยียบย่ำและตราจอง ทำให้เกิดจับจองทับที่กันขึ้น เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองซึ่งประกอบด้วยนายเชื้อ พิทักษากร ข้าหลวงตรวจการกระทรวงมหาดไทย ภาค ๖ เป็นประธาน และข้าหลวงประจำจังหวัดกับ นายอำเภอซี่งมีเขตแดนติดต่อของทั้งสองจังหวัดจึงประชุมกันและหารือกระทรวงมหาดไทย กระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือมอบให้คณะกรรมการดังกล่าวมีอำนาจพิจารณากำหนดแนวเขตให้เป็นที่แน่นอนคณะกรรมการได้ประชุมตกลงกำหนดเขตจังหวัดกันเป็นที่แน่นอนเมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๔๙๔ เขตตำบลหัวดง อำเภอเมืองพิจิตร ติดต่อกับเขตตำบลวังโปง กิ่งอำเภอชนแดน อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ ให้อาศัยลำคลอง ก้นชะนางและลำคลองยางเป็นเขต ได้ทำบันทึกข้อตกลงและลงชื่อไว้ และได้มีประกาศแนวเขตมีให้ราษฎรทราบ จากการแบ่งนี้ ที่พิพาทซึ่งอยู่บ้านวังขะนาง จึงมาขึ้นกับตำบลหัวดง อำเภอเมืองพิจิตร และวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๖ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ได้ประกาศตั้งบ้านวังชะนางนี้ขึ้นใหม่ เป็นหมู่ที่ ๑๐ ขึ้นอยู่กับตำบลหัวดง อำเภอเมืองพิจิตร ต่อมา พ.ศ.๒๔๙๖ มีกรณีพิพาทที่ดินตำบลวังโป่ง กิ่งอำเภอชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์ กับตำบลหัวดง อำเภอเมืองพิจิตรอีก พล ต.ท.หลวงวิทิตกลชัย ผู้ว่าราชการ +๖จึงตั้งให้ พล ต.จ.ผดุงไปสอบสวน พล ต.จ.ผดุงสอบสวนแล้วรายงานว่าเนื่องจากการชี้เขตของผู้ว่าราชการภาค ๖ คนเก่าไม่ชัดเจน สมควรชี้เขตกันให้แน่นอน ครั้นวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๗ หลวงวิทิตกลชัยจึงไปกำหนดแนวเขตระหว่าง ๒ จังหวัดนี้ใหม่ ถ้าถือตามแนวเขตนี้ ที่พิพาทซึ่งอยู่ในบ้านวังชะนางจะมาขึ้นอยู่ในเขตตำบลวังโป่ง กิ่งอำเภอชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์
มีปัญหาว่า การเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัดแต่ละครั้งนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือกฎข้อบังคับอื่นแล้วหรือไม่
ศาลฎีกาเห็นว่า ในขณะที่คณะกรรมการชุดที่นายเชื้อ มาเป็นกรรมการ กำหนดเขต จังหวัดทั้งสองเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๔ นั้น ยังไม่มีบทกฎหมายหรือกฎข้อบังคับใดที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะถึงวิธีปฏิบัติในการเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัด กระทรวงมหาดไทยได้สั่งการตอบข้อหารือ ว่าเห็นว่าไม่จำต้องทำเป็นประกาศกำหนดเขตตำบลโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.๒๔๕๗ เพียงทำเป็นบันทึกข้อตกลงระหว่างจังหวัด พร้อมทั้งทำแผนที่แสดงแนวเขตให้ชัดแจ้งก็พอแล้ว ส่วนการประกาศให้ราษฎรทราบ ข้าหลวงประจำจังหวัดก็ทำได้โดยไม่ต้องทำเป็นประกาศของกระทรวงมหาดไทยหรือต้องอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติปกครองท้องที่ การกำหนดเขตนั้นกระทรวงมหาดไทยมอบให้ข้าหลวงตรวจการกระทรวงมหาดไทยภาค ๖ เป็นผู้กำหนดนายเชื้อ ฯ จึงปฏิบัติการตาม ฉะนั้น การกำหนดเขตจังหวัดทั้งสองดังกล่าวจึงชอบแล้ว
ในการที่นายเชื้อ ฯ กำหนดเขตจังหวัดนี้ แม้จะมีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงเขตหมู่บ้านและตำบล ซึ่งตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.๒๔๕๗ มาตรา ๖ บัญญัติว่าผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจกำหนดเขตหมู่บ้านและตำบลได้ต่อเมื่อได้รับอนุมัติจากสมุหเทศาภิบาลแล้วแต่เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๔ นั้น ตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลได้ถูกยุบเลิกไปก่อนแล้ว จึงไม่มีสมุหเทศาภิบาล ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดจะขอนุมัติได้ ศาลฎีกาเห็นว่า อำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการของสมุหเทศาภิบาลย่อมตกไปอยู่กับกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงมหาดไทยก็ได้สั่งการและมอบให้นายเชื้อ ฯ ข้อหลวงตรวจการ ฯ ภาค ๖ เป็นผู้ดำเนินการโดยมีอำนาจเต็มที่ ฉะนั้นการกำหนดเขตจังหวัดดังกล่าวจึงชอบแล้ว
ส่วนที่ต่อมาเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๗ หลวงวิทิตกลชัยผู้ว่าราชการภาค ๖ ได้ไปกำหนดแนวเขตใหม่นั้นเห็นว่า การกำหนดเขตครั้งนี้เป็นเรื่องตกลงกันภายในที่จะระงับข้อพิพาทระหว่างราษฎรเรื่องที่ดิน และขณะนั้นพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.๒๔๙๕ ออกใช้แล้ว ตามความในมาตรา ๓๒และ ๓๙ แห่งพระราชบัญญัตินี้บัญญัติว่า การเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัดหรืออำเภอจะต้องตราเป็นพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา ฉะนั้น หลวงวิทิตกลชัยจึงไม่มีอำนาจสั่งเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัดได้ แม้หลังจากนั้น อำเภอชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์เป็นผู้ตั้งผู้ใหญ่บ้าน และเรียกเก็บภาษี ก็เป็นเรื่องเจ้าหน้าที่ปฏิบัติไปโดยหลงผิด แท้จริงที่พิพาทยังขึ้นอยู่กับตำบลหัวดง อำเภอเมืองพิจิตร ตามแนวเขตจังหวัดที่นายเชื้อ ฯ กำหนดไว้ ศาลจังหวัดพิจิตรจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้
พิพากษายืน