คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3523/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้ตายทำพินัยกรรมมีข้อความระบุว่าทรัพย์สินของผู้ตายที่มีอยู่ในขณะที่ทำพินัยกรรมหรือที่จะมีขึ้นในภายหน้า ผู้ตายยกให้แก่จำเลยแต่ผู้เดียว ดังนั้น ทรัพย์มรดกของผู้ตายที่ได้มาภายหลังผู้ตายทำพินัยกรรมย่อมตกเป็นของจำเลยตามพินัยกรรมดังกล่าวด้วยทายาทโดยธรรมอื่นของผู้ตายจึงไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย หลังจากผู้ตายถึงแก่กรรม จำเลยได้ขายทรัพย์สินที่ยกให้จำเลยตามพินัยกรรมข้อ 4 และข้อ 6 แล้วได้มีการขีดฆ่าข้อความทรัพย์สินที่ยกให้ตามพินัยกรรม ข้อ 4 และ ข้อ 6 ออก เขียนกำกับไว้ข้างหน้าข้อ 4 และ ข้อ 6 ว่าขายไปแล้วเมื่อใด แก่ผู้ใด และลงลายมือชื่อจำเลยกำกับไว้ ทรัพย์สินตามพินัยกรรมนั้นย่อมตกเป็นของจำเลยตามพินัยกรรมนับตั้งแต่วันที่ผู้ตายถึงแก่กรรมแล้ว การขีดฆ่ารายการทรัพย์สินในพินัยกรรมดังกล่าวจึงไม่ทำให้พินัยกรรมเสียไปหรือตกเป็นโมฆะ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยแบ่งที่ดินซึ่งอยู่ตำบลขี้เหล็กอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ และที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งอยู่ที่ถนนอ้อมเมือง ตำบลหนองหอย อำเภอเมืองเชียงใหม่จังหวัดเชียงใหม่ ให้แก่โจทก์หนึ่งในสี่ส่วน และแบ่งที่ดินที่ถนนประชาชื่น แขวงบางซื่อ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง หากไม่ยอมแบ่งก็ขอให้ถือคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย หากไม่สามารถแบ่งได้ก็ให้ใช้ราคา 792,500 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ย จำเลยให้การว่าโจทก์มิใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของพันตำรวจเอกวันชัย ภาติกร จำเลยเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของพันตำรวจเอกวันชัย ภาติกร พันตำรวจเอกวันชัยทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองยกทรัพย์ต่าง ๆ รวมทั้งที่ดินที่ตำบลขี้เหล็กอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ และที่ดินที่ถนนประชาชื่นแขวงบางซื่อ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ให้แก่จำเลยส่วนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ถนนอ้อมเมือง ตำบลหนองหอย อำเภอเมืองเชียงใหม่จังหวัดเชียงใหม่นั้น เป็นกรรมสิทธิ์ส่วนตัวของจำเลย จึงไม่ระบุลงในพินัยกรรมนั้น ขอให้ยกฟ้องโจทก์ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โจทก์อุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยได้จดทะเบียนสมรสกับพันตำรวจเอกวันชัย ภาติกร ผู้ตาย เมื่อวันที่ 29 เมษายน2506 มีบุตรด้วยกันหนึ่งคนคือ นางสาวปาริชาต ภาติกร ผู้ตายถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2524 ผู้ตายมีทรัพย์สินหลายอย่างเป็นมรดกข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมเอกสารหมายล.4 จริงและพินัยกรรมดังกล่าวได้ทำขึ้นโดยถูกต้องตามบทบัญญัติของมาตรา 1658 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พินัยกรรมดังกล่าวจึงสมบูรณ์ตามกฎหมายเป็นพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองพินัยกรรมดังกล่าวทำขึ้นเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2521 มีข้อความระบุไว้ด้วยว่า ทรัพย์สินของผู้ตายที่มีอยู่ในขณะที่ทำพินัยกรรมหรือที่จะมีขึ้นในภายหน้า ผู้ตายยกให้แก่จำเลยแต่ผู้เดียว ดังนั้นแม้ว่าผู้ตายมีทายาทโดยธรรมคนอื่นก็ตามทายาทโดยธรรมคนอื่นของผู้ตายย่อมไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย ส่วนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ถนนอ้อมเมือง ตำบลหนองหอย อำเภอเมืองเชียงใหม่จังหวัดเชียงใหม่ ที่โจทก์ฎีกาว่า เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายที่ต้องตกแก่ทายาทโดยธรรมนั้น ปรากฏตามโฉนดที่ดินดังกล่าวเอกสารหมายล.5 และ ล.6 ว่า จำเลยซื้อมาจากผู้อื่นเมื่อเดือนมิถุนายน 2523ซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่ผู้ตายทำพินัยกรรมเอกสารหมาย ล.4 แล้วดังนั้น ถึงหากจะฟังว่าเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายก็ย่อมตกเป็นของจำเลยตามพินัยกรรมดังกล่าวด้วย จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่า ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายหรือไม่ การที่มีรอยขีดฆ่าข้อความทรัพย์สินที่ยกให้ตามพินัยกรรมดังกล่าว ข้อ 4และ ข้อ 6 คือ ที่ดินที่ถนนประชาชื่น เขตดุสิต กรุงเทพมหานครและที่ดินที่อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรีออกแล้วมีลายมือเขียนกำกับไว้ที่ข้างหน้า ข้อ 4 ว่า ขายแล้วเมื่อ 8กันยายน 2525 และที่ข้างหน้าข้อ 6 ว่า ขายแล้วให้นายดาบตำรวจกมล ไข่นาค และลงลายมือชื่อจำเลยกำกับไว้ข้างล่างด้วยนั้นศาลฎีกาเชื่อว่าจำเลยได้ขายที่ดินดังกล่าวไปในภายหลังจากที่ผู้ตายถึงแก่กรรม ซึ่งทรัพย์สินตามพินัยกรรมดังกล่าวตกเป็นของจำเลยตามพินัยกรรมนับตั้งแต่วันที่ผู้ตายถึงแก่กรรม แล้วจึงได้มีการขีดฆ่าและเขียนข้อความลงลายมือชื่อจำเลยไว้ในภายหลัง ดังนั้นการขีดฆ่ารายการทรัพย์สิน ข้อ 4 และ ข้อ 6 ในพินัยกรรมดังกล่าวย่อมไม่ทำให้พินัยกรรมดังกล่าวเสียไปหรือตกเป็นโมฆะดังที่โจทก์ฎีกาขึ้นมา ไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาข้ออื่น”
พิพากษายืน

Share