คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 680/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2524 ได้กำหนดวิธีการไว้เป็นพิเศษในกรณีที่จะมีผู้นำคดีขึ้นสู่ศาล โดยให้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งเพื่อทำความเห็นไปยังศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัยชี้ขาด และได้กำหนดไว้ด้วยว่ากรณีใดที่จะขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดได้ สิทธิในการที่จะยื่นคำร้องดังกล่าวจึงมีอยู่เฉพาะตามที่พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2524 กำหนดไว้เท่านั้น เมื่อสิทธิของผู้ร้องในการขอเปลี่ยนภาพเครื่องหมายพรรคการเมืองหลังจากนายทะเบียนสั่งรับแจ้งหนังสือเชิญชวนแล้ว ไม่มีบทมาตราใดกำหนดให้นำคดีขึ้นสู่ศาลได้ผู้ร้องก็ไม่มีอำนาจที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดได้

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองขอเปลี่ยนภาพเครื่องหมายของพรรคใหม่ แต่นายทะเบียนไม่อนุญาต โดยอ้างว่าขัดต่อพระราชบัญญัติธง ซึ่งห้ามมิให้ประดิษฐ์รูปหรือเครื่องหมายใด ๆ ลงในแถบสีธงชาติโดยไม่สมควรผู้ร้องจึงยื่นคำร้องขอตามพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๒๔ มาตรา ๑๓ และ ๑๔ ขอให้สั่งให้ผู้ร้องใช้ภาพเครื่องหมายตามเอกสารท้ายคำร้องได้
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องไม่มีอำนาจที่จะขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติพรรคการเมือง และเหตุที่ไม่อนุมัติก็เพราะภาพเครื่องหมายที่ขอเปลี่ยนนั้นขัดต่อพระราชบัญญัติธง พ.ศ. ๒๕๒๒
ในวันนัดพิจารณา คู่ความขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดไปตามกฎหมายโดยไม่ติดใจสืบพยาน
ศาลแพ่งทำความเห็นเสนอศาลฎีกาว่า ผู้ร้องมีสิทธิร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดได้ แต่เห็นว่าภาพเครื่องหมายพรรคการเมืองตามที่ผู้ร้องขอเปลี่ยน ขัดต่อพระราชบัญญัติธง คำสั่งของผู้คัดค้านจึงชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มาตรา ๑๓ แห่งพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๒๔ เป็นกรณีที่คณะผู้เริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของนายทะเบียนพรรคการเมืองว่าชื่อพรรคการเมืองหรือภาพเครื่องหมายพรรคการเมืองตามที่ปรากฏในหนังสือเชิญชวนซ้ำหรือพ้องหรือมีลักษณะคล้ายคลึงกับชื่อพรรคการเมืองหรือภาพเครื่องหมายพรรคการเมืองของคณะผู้เริ่มจัดตั้งของพรรคการเมืองอื่นที่ได้รับแจ้งไว้ในวันเดียวกัน และนายทะเบียนวินิจฉัยให้คณะผู้เริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองอื่นเป็นผู้มีสิทธิดีกว่า ส่วนมาตรา ๑๔ เป็นกรณีที่นายทะเบียนไม่รับแจ้งหนังสือเชิญชวนผู้อื่นเข้าเป็นสมาชิกเพราะเหตุใดเหตุหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๐ และ ๑๑ แต่กรณีนี้นายทะเบียนได้ออกหนังสือรับรองให้ผู้ร้องดำเนินการโฆษณาเชิญชวนผู้อื่นเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองที่ผู้ร้องจะจัดตั้งขึ้นแล้วตั้งแต่วันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๒๔ ต่อมาผู้ร้องจึงขอเปลี่ยนแปลงเฉพาะภาพเครื่องหมายพรรคการเมือง และนายทะเบียนสั่งไม่อนุญาตเพราะเห็นว่าภาพที่ขอเปลี่ยนขัดต่อกฎหมาย กรณีจึงไม่เข้าบทมาตราที่ผู้ร้องอ้าง ส่วนที่ศาลแพ่งมีความเห็นว่าการที่ผู้ร้องขอเปลี่ยนภาพเครื่องหมายพรรคการเมืองเป็นการแจ้งเพื่อขอใช้เครื่องหมายพรรคการเมืองใหม่ ตามพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๒๔ มาตรา ๘ เมื่อนายทะเบียนเห็นว่าขัดต่อกฎหมายและไม่อนุญาตให้เปลี่ยนก็เป็นการสั่งตามมาตรา ๑๐ นั้น เห็นว่า ก่อนดำเนินการโฆษณาเชิญชวนผู้อื่นเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมือง มาตรา ๘ กำหนดให้คณะผู้เริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองทำหนังสือแจ้งต่อนายทะเบียนตามแบบที่นายทะเบียนกำหนด หนังสือเชิญชวนนั้นอย่างน้อยต้องมีชื่อพรรคการเมือง ภาพเครื่องหมายพรรคการเมือง แนวนโยบายพรรคการเมือง ชื่ออาชีพ และที่อยู่ของผู้ซึ่งเป็นคณะผู้เริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองมาตรา ๑๐ กำหนดหลักเกณฑ์ในการที่นายทะเบียนจะสังไม่รับแจ้งหนังสือเชิญชวนเมื่อนายทะเบียนสั่งรับแจ้งหนังสือเชิญชวนแล้ว บทมาตราที่ศาลแพ่งอ้างมาในการวินิจฉัยว่าผู้ร้องมีสิทธิร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดในกรณีนี้ก็ไม่ถูกต้อง
ศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๒๔ ได้กำหนดวิธีการไว้เป็นพิเศษในกรณีที่จะมีผู้นำคดีขึ้นสู่ศาล โดยให้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง เมื่อศาลแพ่งได้รับคำร้องแล้ว ให้ดำเนินการพิจารณาโดยไม่ชักช้าแล้วให้รีบส่งสำนวนและความเห็นไปยังศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดและได้กำหนดไว้ด้วยว่ากรณีไหนที่จะขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดได้ สิทธิในการที่จะยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งเพื่อให้ศาลฎีกาวินิจฉัยจึงมีอยู่เฉพาะตามที่พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๒๔ กำหนดไว้เท่านั้น เมื่อสิทธิของผู้ร้องในการขอเปลี่ยนภาพเครื่องหมายพรรคการเมืองหลังจากนายทะเบียนสั่งรับแจ้งหนังสือเชิญชวนแล้ว ไม่มีบทมาตราใดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้นำคดีขึ้นสู่ศาลได้ ผู้ร้องก็ไม่มีอำนาจที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดได้
พิพากษาให้ยกคำร้องของผู้ร้อง

Share