แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยเป็นธนาคาร ละเลยไม่เรียกเก็บเงินตามเช็คให้โจทก์ซึ่งเป็นลูกค้า ทั้ง ๆ ที่เงินในบัญชีของผู้สั่งจ่ายเช็คนั้นมีพอที่จะหักเข้าบัญชีให้โจทก์ได้ก่อนและบัญชีของผู้สั่งจ่ายก็อยู่ในธนาคารจำเลยเอง เป็นเหตุให้เงินในบัญชีของผู้สั่งจ่ายกลับไม่พอชำระหนี้ตามเช็คให้โจทก์เพราะได้มีการถอนเงินรายอื่นหลายรายการจากบัญชีของผู้สั่งจ่ายในวันนั้น และจำเลยก็มิได้แจ้งเหตุขัดข้องและคืนเช็คให้โจทก์ จำเลยจึงต้องรับผิด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นธนาคาร จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1ทำหน้าที่สมุห์บัญชีธนาคารจำเลยที่ 1 สาขาพิษณุโลก โจทก์เป็นลูกค้าของจำเลยที่ 1 ได้เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันที่ธนาคารจำเลยที่ 1 สาขาพิษณุโลก เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2520 โจทก์นำเช็คธนาคารจำเลยที่ 1 สาขาพิษณุโลก เลขที่ 011399/2333 ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2520 จำนวนเงิน 100,000 บาท ซึ่งนายวิรัช จิรัฐติกาลโชติ สั่งจ่ายชำระหนี้ให้โจทก์ ไปฝากเข้าบัญชีของโจทก์เพื่อเรียกเก็บเงิน จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับเช็คดังกล่าวไว้ โจทก์เข้าใจว่าธนาคารจำเลยที่ 1 ได้เรียกเก็บเงินให้โจทก์เรียบร้อยแล้ว ต่อมาเมื่อเดือนมิถุนายน 2521 โจทก์ได้ตรวจสอบบัญชีของโจทก์ พบว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 หาได้เรียกเก็บเงินตามเช็คให้โจทก์ไม่ ทั้งไม่ได้แจ้งเหตุขัดข้องและไม่คืนเช็คให้โจทก์ เมื่อโจทก์สอบถามก็ถูกปฏิเสธ ทำให้โจทก์เสียสิทธิเรียกร้องให้นายวิรัชชำระหนี้ตามเช็คเป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิด ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การว่า เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2520 โจทก์นำเช็คของธนาคารจำเลยที่ 1 สาขาพิษณุโลกดังกล่าวมาเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์จริง เมื่อเช็คถึงกำหนด ปรากฏว่าเงินในบัญชีกระแสรายวันของนายวิรัชผู้สั่งจ่ายไม่พอจ่าย จำเลยที่ 1 จึงปฏิเสธการจ่ายเงินและคืนเช็คพร้อมกับใบคืนเช็คให้โจทก์รับไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2520 โจทก์ชอบที่จะฟ้องเรียกเงินจากนายวิรัชผู้สั่งจ่าย โจทก์ใช้สิทธิไม่สุจริต โจทก์รู้เรื่องธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2520 แต่เพิ่งมาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2522 เกินกว่า 1 ปีแล้ว คดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2520 มีการนำเงินเข้าบัญชีของนายวิรัช 4 รายการ ตามลำดับดังนี้ คือ 13,000 บาท 18,944 บาท 738,000 บาท และ 8,000 บาท รวมเป็นเงิน 777,944 บาท ต่อจากรายการนำเงินเข้าทั้ง 4 รายการนี้แล้วก็ปรากฏว่ามีรายการถอนเงินออกจากบัญชีในวันเดียวกันอีก 6 รายการ รายการสุดท้ายจำนวน 142,000 บาท และปรากฏในช่องเงินคงเหลือในรายการสุดท้ายว่านายวิรัชเป็นลูกหนี้ธนาคาร 2,000,068.60 บาท แสดงว่าในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2520 เงินในบัญชีของนายวิรัชมีถึง 777,944 บาท ซึ่งเป็นการเพียงพอที่จำเลยจะหักจ่ายเข้าบัญชีของโจทก์ได้ เพราะนายวิรัชมีสิทธิเบิกเงินเกินบัญชีถึง 2 ล้านบาท ทั้งโจทก์ได้นำเช็คฉบับพิพาทเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2520 จำเลยจะไปถือยอดเงินคงเหลือในรายการสุดท้ายของวันที่ 1 พฤศจิกายน 2520 มาเป็นข้ออ้างว่าเงินในบัญชีของนายวิรัชไม่พอจ่ายหาได้ไม่ ทั้งจำเลยจะอ้างว่าได้ทำการตรวจสอบบัญชีของนายวิรัชก่อนจะมีการนำเงิน 4 รายการเข้าบัญชีก็ไม่ได้เพราะยังไม่พ้นวันที่ 1 พฤศจิกายน 2520 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยมิได้เรียกเก็บเงินตามเช็คฉบับพิพาทจากบัญชีของนายวิรัชทั้ง ๆ ที่บัญชีของนายวิรัชมีเงินพอที่จะเรียกเก็บได้
สำหรับปัญหาที่ว่า จำเลยแจ้งเหตุขัดข้องและคืนเช็คฉบับพิพาทให้โจทก์หรือไม่นั้น เห็นว่าข้ออ้างของจำเลยที่ 2 ที่ว่าได้คืนเช็คให้โจทก์ไปโดยมิได้ทำหลักฐานไว้เพราะความคุ้นเคยกันนั้นฟังไม่ขึ้น เพราะปรากฏมีใบคืนเช็คของจำเลยรวม 5 ฉบับที่โจทก์อ้างว่าในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 330/2520 ของศาลจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งจำเลยแจ้งไปยังโจทก์ในกรณีเรียกเก็บเงินไม่ได้เป็นหลักฐานแสดงอยู่ นอกจากนั้นเมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ฟังว่าจำเลยมิได้เรียกเก็บเงินตามเช็คจากบัญชีของนายวิรัชทั้ง ๆ ที่มีเงินพอจะเรียกเก็บได้ประกอบเข้าด้วยแล้ว น่าเชื่อว่าข้ออ้างของจำเลยเป็นเรื่องแก้ตัวมากกว่าอื่น
ส่วนปัญหาเรื่องอายุความ ซึ่งศาลล่างมิได้วินิจฉัยนั้น ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยไปเลยทีเดียวดังนี้คือ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยมิได้เรียกเก็บเงินตามเช็คฉบับพิพาท มิได้คืนเช็คและมิได้แจ้งเหตุขัดข้องแก่โจทก์แล้ว ข้อเท็จจริงย่อมฟังได้ต่อไปดังที่โจทก์นำสืบว่า โจทก์ก็เข้าใจว่าจำเลยเรียกเก็บเงินตามเช็คฉบับพิพาทได้ จนกระทั่งเมื่อเดือนมิถุนายน 2521 โจทก์จ่ายเช็คให้แก่ลูกค้า 100,000 บาท แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์จึงได้ตรวจสอบใบรับฝากทั้งหมดและบัญชีกระแสรายวัน จึงพบข้อผิดพลาดเรื่องที่จำเลยมิได้เรียกเก็บเงินตามเช็คฉบับพิพาทจำนวน 100,000 บาท จากบัญชีของนายวิรัชจึงต้องถือว่าโจทก์ทราบเรื่องที่จำเลยมิได้เรียกเก็บเงินตามเช็คฉบับพิพาทเมื่อเดือนมิถุนายน 2521 ฉะนั้นที่โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2522 จึงไม่เกิน 1 ปี คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์ 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2520 จนถึงวันฟ้อง ซึ่งโจทก์ขอคิดเพียง 17 เดือนเป็นเงิน 10,625 บาท และให้ใช้ดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะใช้เงินให้โจทก์เสร็จ