คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9059/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พินัยกรรมตามเอกสารหมาย ค.8 นั้น ผู้ร้องเบิกความว่าพินัยกรรมฉบับนี้ถูกเพิกถอนไปแล้ว โดยผู้ร้องเป็นผู้ขีดฆ่าและเขียนยกเลิกพินัยกรรมต่อหน้าผู้ตาย แม้จะเป็นจริงดังว่า ก็มิใช่การทำลายหรือขีดฆ่าเสียด้วยความตั้งใจของผู้ตายซึ่งเป็นผู้ทำพินัยกรรมเองอันเป็นการเพิกถอนพินัยกรรมตาม ป.พ.พ.มาตรา1695 วรรคหนึ่ง พินัยกรรมเอกสารหมาย ค.8 จึงยังมีผลใช้บังคับได้
ส่วนพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองตามเอกสารหมาย ค.3 นั้นแม้จะปรากฏว่าต่อมาผู้ตายได้ทำคำร้องและบันทึกขอถอนพินัยกรรม โดยอ้างว่าจะยกเลิกพินัยกรรมดังกล่าว และรับพินัยกรรมคืนไปแล้วก็ตาม แต่ไม่ปรากฏว่าผู้ตายได้ทำลายหรือขีดฆ่าต้นฉบับกับคู่ฉบับของพินัยกรรมอันจะมีผลให้เป็นการเพิกถอนพินัยกรรมตาม ป.พ.พ.มาตรา 1695 วรรคหนึ่ง พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองตามเอกสารหมาย ค.3 จึงยังมีผลบังคับอยู่เช่นกัน
เมื่อพินัยกรรมของผู้ตายทั้งฉบับเอกสารหมาย ค.8 และฉบับเอกสารหมาย ค.3 ยังมีผลบังคับอยู่ทั้ง 2 ฉบับ ทั้งพินัยกรรมตามเอกสารหมายค.3 ซึ่งทำในภายหลังมิได้มีข้อความตอนใดระบุให้เพิกถอนพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ค.8 เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ตายได้แสดงเจตนาไว้ในพินัยกรรมเป็นอย่างอื่นและปรากฏว่าพินัยกรรมฉบับก่อนกับฉบับหลังขัดกัน ป.พ.พ.มาตรา 1697 ให้ถือว่าพินัยกรรมฉบับก่อนเป็นอันเพิกถอนโดยพินัยกรรมฉบับหลังเฉพาะในส่วนที่มีข้อความขัดกันเท่านั้นจึงถือว่าพินิยกรรมฉบับเอกสารหมาย ค.8 เป็นอันเพิกถอนโดยพินัยกรรมฉบับเอกสารหมาย ค.3 เฉพาะข้อกำหนดพินัยกรรมที่เกี่ยวกับทรัพย์มรดกที่ดิน 2 แปลง ตามข้อ 2 และข้อ 3 เท่านั้น ที่พินัยกรรมเอกสารหมาย ค.3 ระบุให้ตกแก่ผู้ร้องและให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมฉบับนี้ ซึ่งย่อมหมายถึงให้ผู้ร้องมีสิทธิจัดการมรดกเฉพาะที่ดินทั้ง 2 แปลง ดังกล่าว ส่วนทรัพย์มรดกอื่น ๆคงเป็นไปตามข้อกำหนดในพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ค.8 ข้อ 4 ถึงข้อ 11ซึ่งกำหนดให้ผู้คัดค้านที่ 4 เป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมฉบับดังกล่าว ผู้ร้องซึ่งไม่ปรากฏว่ามีคุณสมบัติต้องห้ามตามกฎหมาย จึงสมควรเป็นผู้จัดการมรดกเฉพาะที่ดินทั้ง 2 แปลง ตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ค.3 ตามเจตนาของผู้ตายในข้อกำหนดพินัยกรรมข้อ 2
ในชั้นต้นผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำร้องคัดค้านการขอตั้งผู้จัดการมรดกโดยผู้ร้องและขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 4 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ยื่นอุทธรณ์ขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้อง เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 4 เป็นผู้จัดการมรดก ซึ่งก็ตรงกับความประสงค์แต่แรกของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 แต่ในชั้นนี้ ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 กลับยื่นฎีกาขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดก หรือเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้อง จึงเห็นได้ว่าฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ.มาตรา 249 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

Share