คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3109/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 1 เป็นบริษัทในเครือเดียวกับโจทก์ที่ 2 เมื่อปรากฏว่าสหภาพแรงงานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอลูมิเนียมและโลหะยื่นข้อเรียกร้องต่อโจทก์ที่ 2 เท่านั้น มิได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อโจทก์ที่ 1 ด้วย ลูกจ้างของโจทก์ที่ 1 จึงมิใช่ลูกจ้างซึ่งเกี่ยวกับข้อเรียกร้องอันจะได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ฯ มาตรา 123 แม้โจทก์ที่ 1 จะทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกับสหภาพแรงงานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอลูมิเนียมและโลหะด้วยก็ตาม
แม้พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ฯ มาตรา 123 จะกำหนดเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้เพียง 5 ประการก็ตาม แต่ก็มิได้หมายความว่า เมื่อมีเหตุจำเป็นนอกเหนือไปจาก 5 ประการแล้วนายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างมิได้ เมื่อปรากฏว่าการดำเนินกิจการของนายจ้างประสบภาวะขาดทุนตลอดมา ย่อมมีเหตุเพียงพอและสมควรที่นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างได้ กรณีมิใช่เป็นการกลั่นแกล้งอันจะถือได้ว่าเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นบริษัทในเครือเดียวกัน จำเลยที่ ๑ถึงที่ ๑๑ เป็นกรรมการในคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๒๔ โจทก์ที่ ๑ ได้เลิกจ้างลูกจ้างจำนวน ๑๔ คน โจทก์ที่ ๒ เลิกจ้างลูกจ้าง ๓๔ คน เนื่องจากโจทก์ทั้งสองประสบภาวะเศรษฐกิจและการตลาดตกต่ำและขาดทุน ปัจจุบันมีบริษัทคู่แข่งหลายแห่งผลิตสินค้าประเภทเดียวกันโจทก์ทั้งสองมากขึ้นและแย่งลูกค้าไป นอกจากนี้ลูกค้ารายใหญ่หลายรายได้สั่งเครื่องจักรเข้ามาทำการผลิตสินค้าเสียเองและเลิกสั่งสินค้าจากโจทก์ทั้งสอง ทำให้ลูกจ้างบางส่วนไม่มีงานทำหรือทำงานไม่เต็มเวลา โจทก์ทั้งสองจึงลดคนงานลงโดยจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและโบนัสให้ทุกคน ต่อมานายธนาวุฒิ การุณกิจลูกจ้างของโจทก์ที่ ๑ กับพวกที่ถูกเลิกจ้างรวม ๘ คน นายขันติ ไม้ส้มซ่าลูกจ้างของโจทก์ที่ ๒ กับพวกที่ถูกเลิกจ้างรวม ๑๐ คนได้ยื่นคำร้องกล่าวหาต่อจำเลยทั้งสิบเอ็ดว่า การเลิกจ้างของโจทก์ทั้งสองเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม จำเลยทั้งสิบเอ็ดวินิจฉัยชี้ขาดว่าการกระทำของโจทก์ทั้งสองฝ่าฝืนมาตรา ๑๒๑, ๑๒๓ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ และให้โจทก์ทั้งสองจ่ายค่าเสียหายแก่ลูกจ้างดังกล่าวบางคน ปรากฏรายละเอียดตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ ๔๔-๔๕/๒๕๒๕ ลงวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๒๕ ซึ่งเป็นคำชี้ขาดที่ไม่ถูกต้อง ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ ๔๔-๔๕/๒๕๒๕ ลงวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๒๕
จำเลยทั้งสิบเอ็ดให้การว่า โจทก์ทั้งสองจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๖ และ พ.ศ. ๒๕๐๗ ตามลำดับ ในระยะแรกโจทก์ที่ ๒ อยู่ในภาวะขาดทุนแต่ต่อมามีกำไรมากขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๐ โจทก์ที่ ๒ จึงสั่งเครื่องจักรอัตโนมัติผลิตหลอดอลูมิเนียมราคา ๑๔ ล้าน เข้ามาใช้ในโรงงาน โดยสั่งเข้ามาผลิตในนามของโจทก์ที่ ๑ เครื่องดังกล่าวมีประสิทธิภาพและกำลังการผลิตเทียบเท่าเครื่องจักรของโจทก์ที่ ๒ ซึ่งมีเครื่องปั๊มหลอดอลูมิเนียม๓ เครื่อง และเครื่องพิมพ์สีอีก ๒ เครื่อง ดังนั้นโจทก์ที่ ๑ จึงแบ่งงานจากโจทก์ที่ ๒ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๑ จากนั้นสถิติการผลิตและการจำหน่ายของโจทก์ทั้งสองก็เพิ่มขึ้นตามลำดับและมีกำไรตลอดมา ในเดือนมีนาคม ๒๕๒๓โจทก์ที่ ๒ ได้สั่งเครื่องจักรอัตโนมัติสำหรับผลิตหลอดแก้วจากประเทศฝรั่งเศสมาใช้อีก ๑ เครื่องมีกำลังผลิตเทียบกับเครื่องผลิตหลอดแก้วเดิมของโจทก์ที่ ๒ ซึ่งมีอยู่ ๘ เครื่องและเครื่องพิมพ์สีหลอดแก้วอีก ๔ เครื่อง เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองมีคนงานเกินความต้องการคนงานที่ทำหน้าที่คุมเครื่องเก่าไม่มีงานทำจึงเห็นได้ชัดว่าโจทก์ทั้งสองมีความประสงค์จะลดคนงานส่วนที่เกินอยู่ก่อนแล้วมากกว่ามีความจำเป็นต้องลดคนงาน เนื่องจากภาวะการณ์การตลาดตกต่ำนายธนาวุฒิ และนายขันติกับพวกรวม ๑๘ คนได้ยื่นคำร้องกล่าวหาโจทก์ทั้งสองต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ว่าถูกโจทก์ทั้งสองเลิกจ้างเพราะเหตุนายธนาวุฒิและนายขันติกับพวกเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอลูมิเนียมและโลหะและเลิกจ้างในระหว่างข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับ จำเลยทั้งสิบเอ็ดสอบสวนแล้ว ในจำนวนลูกจ้าง๑๘ คนดังกล่าว มีนายธนาวุฒิ นายประสงค์ นายนาวี นางสาวสุวรรณานายสันติ นางสาวปราณี นางสาววิไลวัลย์ นางสาวพรสวรรค์ นายสุนันท์นางสาวพิศมัย นางสาวสำอางค์ รวม ๑๒ คน ได้เข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานดังกล่าวก่อนที่สหภาพแรงงานยื่นข้อเรียกร้องต่อโจทก์ทั้งสองและลูกจ้างทั้ง๑๒ คน นี้ถูกเลิกจ้างในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมและฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๓ นอกจากนี้ทางการสอบสวนยังได้ความอีกว่าโจทก์ทั้งสองเลิกจ้างนายเกรียงศักดิ์ นายธนาวุฒิ นายนาวี และนายขันติ เพราะเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอลูมิเนียมและโลหะ ซึ่งล้วนมีบทบาทสำคัญในสหภาพแรงงานดังกล่าว เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมและฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๑ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า การที่โจทก์ทั้งสองเลิกจ้างนายธนาวุฒิกับพวกไม่เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๑, ๑๒๓ พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ ๔๔-๔๕/๒๕๒๕ ลงวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๒๕ เฉพาะส่วนที่วินิจฉัยชี้ขาดว่าการที่โจทก์ทั้งสองเลิกจ้างนายธนาวุฒิ การุณิกิจ นายเกรียงศักดิ์ เสือกรุง นายประสงค์อุ่นเจริญ นายนาวี คล้อสวัสดิ์ นางสาวสุวรรณา ซันเฮม นายขันติ ไม้ส้มซ่านางสาวปราณี คงสมบูรณ์ นางสาวอรุณ พุ่มพวง นางสาววิไลวัลย์ อินทกสิกรนางสาวพรสวรรค์ ดวงจิต นายสุนันท์ กลิ่นทรัพย์ นางสาวพิศมัย เรืองศรีและนางสาวสำอางค์ เงินยวง เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามมาตรา ๑๒๑,๑๒๓ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ และให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายนั้นเสีย
ผู้พิพากษาสมทบฝ่ายลูกจ้างทำความเห็นแย้งว่า ควรพิพากษายืนตามคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ ๔๔-๔๕/๒๕๒๕ ลงวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๒๕
จำเลยทั้งสิบเอ็ดอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ลูกจ้างที่จะได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติมาตรา ๑๒๓ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ได้แก่ลูกจ้างซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง แต่ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าสหภาพแรงงานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอลูมิเนียมและโลหะยื่นข้อเรียกร้องต่อโจทก์ที่ ๒ เท่านั้น มิได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อโจทก์ที่ ๑ด้วย ส่วนโจทก์ที่ ๑ ได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกับสหภาพแรงงานก็เป็นเรื่องที่โจทก์ที่ ๑ เห็นว่าเป็นบริษัทในเครือเดียวกับโจทก์ที่ ๒ เมื่อบริษัทหนึ่งจะให้อะไรแก่ลูกจ้างอีกบริษัทหนึ่งก็ตกลงให้พร้อมกันเท่านั้นเอง ดังนี้แม้ข้อตกลงดังกล่าวจะถือได้ว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างซึ่งมีผลถึงนายธนาวุฒิ นายประสงค์ นายนาวี และนางสาวสุวรรณา ลูกจ้างของโจทก์ที่ ๑ ด้วยก็ตาม แต่ก็มิใช่เป็นข้อตกลงที่เกิดจากสหภาพแรงงานดังกล่าวหรือลูกจ้างของโจทก์ที่ ๑ ยื่นข้อเรียกร้องต่อโจทก์ที่ ๑ จึงถือไม่ได้ว่านายธนาวุฒิ นายประสงค์ นายนาวี และนางสาวสุวรรณาเป็นลูกจ้างซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องและได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๓ การที่โจทก์ที่ ๑ เลิกจ้างนายธนาวุฒิกับพวกจึงไม่เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา ๑๒๓
การกระทำอันไม่เป็นธรรมที่ได้บัญญัติไว้ในหมวด ๙ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ นั้น เป็นบทบัญญัติเพื่อคุ้มครองนายจ้างและลูกจ้างมิให้เบียดเบียนรังแกหรือกลั่นแกล้งกัน และบทบัญญัติมาตรา ๑๒๓ นั้น มุ่งมิให้นายจ้างกลั่นแกล้งลูกจ้างแม้จะกำหนดเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้เพียง ๕ ประการแต่ก็มิได้หมายความว่าเมื่อมีเหตุจำเป็นนอกเหนือไปจาก ๕ ประการดังกล่าวแล้วจะเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องไม่ได้ โดยไม่คำนึงถึงฐานะสภาพทางเศรษฐกิจหรือความอยู่รอดของนายจ้าง กรณีนี้ปรากฏว่าโจทก์ที่ ๒ประสบภาวะขาดทุนในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ จำนวน ๘๒๗,๕๑๕.๙๖ บาท รวมกับที่ขาดทุนสะสมอยู่เดิมอีก ๑,๑๒๙,๑๗๙.๐๗ บาท นับแต่เริ่มดำเนินงานมาโจทก์ที่ ๒จึงขาดทุนเป็นจำนวน ๑,๙๕๖,๖๙๕.๐๓ บาท ทั้งนี้เพราะขายสินค้าไม่ได้เนื่องจากมีคู่แข่งและลูกค้าที่เคยสั่งซื้อสินค้าของโจทก์ที่ ๒ ทำการผลิตสินค้าเอง ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง ทำให้ขายสินค้าได้น้อยลง หากโจทก์ที่ ๒ ดำเนินกิจการไปอย่างเดิมก็จะต้องเลิกกิจการหรือประสบหายนะ ผลที่สุดลูกจ้างโจทก์ที่ ๒ ก็จะไม่มีงานทำทั้งหมด ฉะนั้นการที่โจทก์ที่ ๒ เลิกจ้างนายขันติกับพวกดังกล่าวจึงเป็นกรณีที่มีเหตุเพียงพอและเป็นการสมควร มิใช่เป็นการกลั่นแกล้งอันจะถือได้ว่าเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม
พิพากษายืน

Share