คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6662/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับพิพาทข้อ 4 มี ข้อความว่า จำเลยที่ 1 จะผ่อนชำระหนี้ตามสัญญาให้ลดลงเรื่อย ๆและให้หมดสิ้นภายในวันที่ 15 มกราคม 2531 แต่หลังจากครบกำหนดสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีในวันที่ 15 มกราคม 2531แล้ว ได้มีการหักทอนบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 โดยโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีแล้ว จำเลยที่ 1 จึงตกเป็นผู้ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2531 เป็นต้นไป แม้ต่อมาจำเลยที่ 1ได้สั่งจ่ายเช็ค แต่โจทก์ได้ปฎิเสธการจ่ายเงิน ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้นำเงินตามเช็คดังกล่าวเข้าบัญชีผู้ทรงเช็คดังกล่าวเข้าบัญชีผู้ทรงเช็คดังกล่าวจึงได้นำเรียกเก็บเงินและโจทก์จ่ายเงินตามเช็คให้ผู้ทรงไปก็ตาม เมื่อปรากฎว่าจำเลยที่ 1 นำเงินเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้ตามเช็คและโจทก์ยอมจ่ายเงินจำนวน 35,000 บาท ตามเช็คดังกล่าวไปเป็นการเฉพาะรายเท่านั้น กรณีจึงฟังไม่ได้ว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1ตกลงกันโดยปริยายว่าจะให้มีสัญญาบัญชีเดินสะพัดหรือเบิกเงินเกินบัญชีกันต่อไปอีก สัญญาบัญชีเดินสะพัดและสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นอันเลิกกันตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2531 เป็นต้นไป ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีข้อ 2 โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี หลังจากสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลงแล้วโจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองในอัตราดังกล่าวต่อไปเท่านั้น โจทก์จะปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นเป็นอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่16 มีนาคม 2533 หาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้จำนวน 4,542,997.99 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปีในต้นเงินจำนวน 4,305,544.30 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จหากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนก็ให้ยึดทรัพย์จำนองตามฟ้องออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินมาไม่พอชำระหนี้ก็ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 และทรัพย์สินอื่นจากกองมรดกของนายไมตรี ศิวิลัยออกขายทอดตลาดเอาเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยทั้งสองให้การว่า สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีกำหนดเวลาชำระหนี้คืนภายในวันที่15 มกราคม 2531 เมื่อครบกำหนดแล้วจำเลยที่ 1 ไม่เคยกู้เบิกเงินจากบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 อีก ถือว่าบัญชีกระแสรายวันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้เลิกแล้วต่อกันตั้งแต่วันครบกำหนดสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นถึงวันดังกล่าวเท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 4,305,544.30 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปีจากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 16พฤศจิกายน 2533 อันเป็นวันถัดจากวันฟ้อง อันเป็นวันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 237,453.69 บาท ตามที่โจทก์ขอ ถ้าจำเลยทั้งสองไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 171 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้ให้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 และทรัพย์สินจากกองมรดกของนายไมตรี ศิวิลัย บิดาของจำเลยที่ 2 ออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้โจทก์จนครบ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายไมตรี ศิวิลัยร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,953,617.48 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 มกราคม 2531เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ฎีกาข้อแรกว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1ไม่ได้สิ้นสุดในวันที่ 15 มกราคม 2531 ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3วินิจฉัยหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยรับฟังข้อเท็จจริงว่าตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.7 ข้อ 4 มีข้อความว่าจำเลยที่ 1 จะผ่อนชำระหนี้ตามสัญญาให้ลดลงเรื่อย ๆ และให้หมดสิ้นภายในวันที่ 15 มกราคม 2531 ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของนายเดชาและนายบัญญัติพยานโจทก์ที่ว่าเมื่อครบกำหนดตามสัญญาโจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้และสอดคล้องกับคำเบิกความของจำเลยที่ 1 และปรากฎว่าตามบัญชีกระแสรายวันระหว่างวันที่ 22 มกราคม 2531 ถึงวันที่ 29สิงหาคม 2531 โจทก์คิดค่าธรรมเนียมจากจำเลยที่ 1 ครั้งละ100 บาท รวม 9 ครั้ง และหลังวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2531 ซึ่งโจทก์จ่ายเงินตามเช็คเอกสารหมาย จ.17 ไปแล้ว ไม่ปรากฎว่าจำเลยที่ 1 นำเงินเข้าบัญชีและโจทก์ยอมจ่ายเงินตามเช็คให้จำเลยที่ 1 อีกตามพฤติการณ์จึงเชื่อได้ว่า หลังจากครบกำหนดสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีในวันที่ 15 มกราคม 2531 แล้วได้มีการหักทอนบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 โดยโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีแล้ว จำเลยที่ 1 จึงตกเป็นผู้ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2531 เป็นต้นไป ส่วนที่จำเลยที่ 1 นำเงินมาเข้าบัญชีจำนวน 35,000 บาท ในวันที่ 29 มกราคม 2531 นั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่นายบัญญัติพยานโจทก์เบิกความว่า จำเลยที่ 1ได้สั่งจ่ายเช็คลงวันที่ 20 มกราคม 2531 จำนวนเงิน 35,000 บาทตามเอกสารหมาย จ.17 แต่โจทก์ได้ปฎิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2531 โดยให้เหตุผลว่ายังไม่มีการตกลงกับธนาคาร ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้นำเงินเข้าบัญชีจำนวน 35,000 บาทในวันที่ 29 มกราคม 2531 ผู้ทรงเช็คดังกล่าวจึงได้นำมาเรียกเก็บเงินในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2531 และโจทก์จ่ายเงินตามเช็คให้ผู้ทรงไปเห็นว่า การที่โจทก์ปฎิเสธการจ่ายเงินตามเช็คเอกสารหมาย จ.17 เมื่อผู้ทรงนำมาเรียกเก็บเงินครั้งแรกโดยให้เหตุผลว่ายังไม่มีการตกลงกับธนาคาร แสดงว่าโจทก์ไม่ยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีต่อไป ตามพฤติการณ์น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 นำเงินเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้ตามเช็คและโจทก์ยอมจ่ายเงินจำนวน 35,000 บาท ตามเช็คเอกสารหมาย จ.17เป็นการเฉพาะรายเท่านั้น เพราะหลังจากนั้นแล้วไม่ปรากฎว่าจำเลยที่ 1 ได้นำเงินเข้าบัญชี และโจทก์ได้จ่ายเงินตามเช็คที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายอีกเลย ข้อเท็จจริงไม่พอฟังว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงกันโดยปริยายว่าจะให้มีสัญญาบัญชีเดินสะพัดหรือเบิกเงินเกินบัญชีกั้นต่อไปอีก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3วินิจฉัยว่า สัญญาบัญชีเดินสะพัดและสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นอันเลิกกันตั้งแต่วันที่ 16มกราคม 2531 เป็นต้นไป โจทก์จึงคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยที่ 1ได้จนถึงวันที่ 15 มกราคม 2531 เท่านั้นชอบแล้ว
ส่วนที่โจทก์ฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองได้ในอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่16 มีนาคม 2533 จนกว่าจะชำระหนี้เสร็จนั้น เห็นว่า ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.7 ข้อ 2 โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และสัญญาบัญชีเดินสะพัดและสัญญากู้เงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เลิกกันตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2531 เป็นต้นไปหลังจากสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลงแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองในอัตราดังกล่าวต่อไปเท่านั้น โจทก์จะปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นเป็นอัตราร้อยละ16.5 ต่อปี ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ตามเอกสารหมาย จ.12 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2533 หาได้ไม่
พิพากษายืน

Share