คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1941/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

บัญญัติในมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 เป็นเพียงบทที่กำหนดถึงอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ในเรื่องการพิจารณาข้อร้องทุกข์ที่พนักงานรัฐวิสาหกิจหรือสมาคมพนักงานรัฐวิสาหกิจประสงค์จะให้คณะกรรมการกิจการสัมพันธ์พิจารณาเท่านั้น มิใช่การกำหนดขั้นตอนซึ่งจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายก่อนจึงจะมีอำนาจฟ้อง ดังนั้นเมื่อโจทก์ทั้งสี่มีข้อพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว แม้โจทก์ทั้งสี่จะมิได้ยื่นคำร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ โจทก์ทั้งสี่ก็มีอำนาจฟ้อง การที่จำเลยให้โจทก์ทั้งสี่ พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 11 นั้นเป็นการให้โจทก์ทั้งสี่ออกจากงาน ถือเป็นการเลิกจ้างโดยไม่มีความผิดตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่องมาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534ข้อ 45 วรรคสอง จำเลยจึงต้องจ่ายเงินเดือนค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามส่วนที่โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิให้แก่โจทก์ทั้งสี่

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสี่สำนวนฟ้องใจความทำนองเดียวกันว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่เนื่องจากเกษียณอายุ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ทั้งสี่
จำเลยทั้งสี่สำนวนให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจ โจทก์ทั้งสี่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากเกษียณอายุเป็นการขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518มาตรา 9(2), 11 ไม่ใช่เป็นการเลิกจ้าง โจทก์ทั้งสี่จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี โจทก์ต้องเสนอเรื่องที่โจทก์ฟ้องนี้ต่อคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ โจทก์ทั้งสี่ไม่ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีด้วยความสมัครใจเอง การฟ้องเรียกค่าจ้างดังกล่าวจึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จำนวนเงินค่าจ้างที่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 4เรียกร้องโดยคิดคำนวณจากค่าจ้างอัตราสุดท้ายไม่ถูกต้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ทั้งสี่
จำเลยทั้งสี่สำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ประเด็นข้อแรกที่จะวินิจฉัยมีว่าโจทก์ทั้งสี่มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์ทั้งสี่ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์ทั้งสี่ต้องร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ตามพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 ซึ่งได้กำหนดขั้นตอนในการยื่นคำร้องทุกข์ตลอดจนองค์กรที่จะพิจารณาชี้ขาดไว้เป็นการเฉพาะแล้ว พิเคราะห์แล้วเห็นว่าตามพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534หาได้มีบทบัญญัติกำหนดให้พนักงานรัฐวิสาหกิจที่มีข้อพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ในเรื่องการจ่ายเงินเดือนค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีกับรัฐวิสาหกิจ ผู้เป็นนายจ้างจำต้องยื่นคำร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ เพื่อให้คณะกรรมการดังกล่าวพิจารณาก่อน บทบัญญัติในมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 ที่จำเลยอ้างเป็นบทที่กำหนดถึงอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ในเรื่องการพิจารณาข้อร้องทุกข์ที่พนักงานรัฐวิสาหกิจหรือสมาคมพนักงานรัฐวิสาหกิจประสงค์จะให้คณะกรรมการกิจการสัมพันธ์พิจารณาเท่านั้นดังนั้น แม้โจทก์ทั้งสี่จะมิได้ยื่นคำร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ดังที่จำเลยอ้าง เมื่อโจทก์ทั้งสี่มีข้อพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามบทกฎหมายดังกล่าว โจทก์ทั้งสี่ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยได้
ประเด็นข้อที่ 2 มีว่า การที่โจทก์ทั้งสี่พ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุเกษียณอายุเป็นการเลิกจ้างหรือไม่ เห็นว่า ที่พระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจพ.ศ. 2518 มาตรา 11 กำหนดให้พนักงานรัฐวิสาหกิจซึ่งมีอายุครบ60 ปีบริบูรณ์พ้นจากตำแหน่งนั้น มีความหมายว่าพนักงานรัฐวิสาหกิจผู้ใดมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์อันเป็นการขาดคุณสมบัติแล้วก็ให้รัฐวิสาหกิจนั้นดำเนินการให้ผู้นั้นออกจากงาน มิได้หมายความว่าพนักงานรัฐวิสาหกิจผู้นั้นต้องพ้นจากตำแหน่งทันที ดังนั้นเมื่อจำเลยผู้เป็นนายจ้างดำเนินการให้โจทก์ออกจากงานเพื่อให้เป็นไปตามบทกฎหมายดังกล่าวจึงเป็นการเลิกจ้างตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ข้อ 45 วรรคสอง
ประเด็นข้อสุดท้ายมีว่า จำเลยต้องจ่ายเงินเดือนค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์ทั้งสี่หรือไม่ ประเด็นข้อนี้จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ทั้งสี่พ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุเกษียณอายุมิใช่เป็นการเลิกจ้าง จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเงินเดือนค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์ทั้งสี่ เห็นว่า เมื่อได้วินิจฉัยมาแล้วในประเด็นก่อนว่าการที่โจทก์ทั้งสี่พ้นจากตำแหน่งเพราะเกษียณอายุเป็นการเลิกจ้าง คดีนี้จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเกษียณอายุโดยโจทก์ไม่มีความผิดตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ข้อ 46 การเลิกจ้างเช่นนี้จำเลยต้องจ่ายเงินเดือนค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามส่วนที่โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิได้รับตามข้อ 8 และข้อ 20 ดังที่ข้อ 21ของระเบียบดังกล่าวกำหนดไว้ด้วย และกรณีเช่นนี้มิใช่เป็นเรื่องการจ่ายค่าชดเชยหรือการจ่ายเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานตามที่กำหนดไว้ในข้อ 45 และข้อ 47 ของระเบียบที่กล่าวข้างต้นแต่อย่างใด เมื่อจำเลยเลิกจ้างโดยโจทก์ทั้งสี่ไม่มีความผิดตามข้อ 46 ของระเบียบดังกล่าว จำเลยจึงต้องจ่ายเงินเดือนค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์ทั้งสี่ ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่สำนวนฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share