คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8430/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรณีที่ ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม บัญญัติมิให้เจ้าหนี้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกนั้น หมายถึงกรณีที่เจ้าหนี้ทราบแล้วว่าตนมีสิทธิเรียกร้องต่อเจ้ามรดก แม้อายุความตามสิทธิเรียกร้องนั้นยาวกว่า 1 ปี เจ้าหนี้ก็จะต้องฟ้องร้องภายใน 1 ปี นับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก แต่ถ้าเจ้าหนี้ยังไม่ทราบว่าตนมีสิทธิเรียกร้องต่อเจ้ามรดกในขณะที่เจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก อายุความ 1 ปี ก็ยังไม่เริ่มนับ หนังสือสำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ป. ที่แจ้งไปยังโจทก์ระบุว่า พ. ถึงแก่ความตายแล้ว และตามสำนวนการสืบสวนสอบสวนที่ส่งไปพร้อมกับหนังสือดังกล่าวมีมรณบัตรของ พ. เป็นหลักฐานด้วย ก็รับฟังได้แต่เพียงว่าโจทก์ได้รู้ถึงการตายของ พ. เจ้ามรดกตั้งแต่ปี 2535 แต่ขณะนั้นโจทก์ยังไม่ทราบว่าบุคคลใดบ้างจะต้องรับผิดทางแพ่งต่อโจทก์ โจทก์จึงยังไม่ทราบว่าจะฟ้องร้องบุคคลใดได้บ้าง ก็ยังไม่เริ่มนับอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม ต่อเมื่อโจทก์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดทางแพ่งและคณะกรรมการดังกล่าวทำการสอบสวนแล้วเสนอความเห็นว่าบุคคลใดบ้างจะต้องรับผิดทางแพ่งต่อโจทก์ โดยเสนอความเห็นไปตามลำดับชั้นจนถึงรองอธิบดีปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมโจทก์ทราบเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2538 ถือได้ว่าโจทก์รู้ตัวผู้ที่โจทก์จะพึงใช้สิทธิเรียกร้องให้ใช้ค่าสินไหมทดแทน และเริ่มนับอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม ตั้งแต่วันดังกล่าว โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2539 ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 941,884 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 614,738 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 4 ถึงที่ 7 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 8 ถึงที่ 13 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ก่อนสืบพยานโจทก์ โจทก์ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 8 ถึงที่ 13 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความเสนอต่อศาลชั้นต้น ขอให้ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม ตามสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับลงวันที่ 16 ธันวาคม 2539 ส่วนจำเลยที่ 4 ถึงที่ 7 แถลงขอสละประเด็นข้อต่อสู้อื่นคงเหลือประเด็นข้อต่อสู้ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความมรดกและขาดอายุความมูลละเมิด
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสิบสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 941,884 บาท แก่โจทก์ สำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 8 ถึงที่ 13 ซึ่งทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์นั้น การชำระเงินให้บังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ส่วนจำเลยที่ 4 ถึงที่ 7 ให้ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 614,738 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 26 มกราคม 2539) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 4 ถึงที่ 7 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ กำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท แต่จำเลยที่ 4 ถึงที่ 7 ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน
ในระหว่างอุทธรณ์ ความปรากฏแก่ศาลชั้นต้นว่าจำเลยที่ 4 ถึงแก่กรรมระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 5 ทายาทของจำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยที่ 4 ถึงที่ 7 อุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 4 ถึงที่ 7 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 4,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยที่ 4 ถึงที่ 7 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 4 ถึงที่ 7 ว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม หรือไม่ เมื่อประมาณปี 2535 โจทก์ได้รับหนังสือจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ ขอให้ดำเนินการทางวินัยแก่นายสันติกับพวก เนื่องจากได้รับการร้องเรียนว่านายสันติกับพวกกระทำการทุจริตโดยจ่ายเงินทดแทนให้แก่ผู้ไม่มีสิทธิเกินความเป็นจริง เป็นค่าทดแทนรื้อย้ายโรงเรือนและทรัพย์สินต่าง ๆ ที่ถูกเขตชลประทานคลองระบายน้ำ 1 ขวา สุพรรณ 3 ในท้องที่หมู่ที่ 2 ตำบลปลายนา อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี ตัดผ่าน แต่นายสันติถึงแก่ความตายแล้ว จึงให้ดำเนินการทางวินัยแก่นายประกอบและนายประทวนเจ้าหน้าที่ของโจทก์ และให้โจทก์ดำเนินการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดทางแพ่งด้วย โดยสำนักงานคณะกรรมป้องการและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการส่งสำนวนการสืบสวนสอบสวนไปยังโจทก์พร้อมหนังสือดังกล่าวด้วย เลขานุการกรมโจทก์ได้รับหนังสือดังกล่าวแล้ว จึงส่งเรื่องให้ฝ่ายวินัย กองการเจ้าหน้าที่ของโจทก์ดำเนินการ ต่อมาฝ่ายวินัยได้ดำเนินการสอบสวนทางวินัย ปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหามีความผิดทางวินัย จึงเสนอเรื่องตามลำดับชั้นต่ออธิบดีกรมโจทก์เพื่อลงโทษผู้กระทำผิดวินัยและส่งเรื่องไปยังกองกฎหมายและที่ดินของโจทก์เพื่อดำเนินการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดทางแพ่ง ต่อมามีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดทางแพ่งเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว คณะกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดทางแพ่งดำเนินการสอบสวนแล้วสรุปว่า คณะอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินที่ถูกเขตชลประทานคลองระบายน้ำดังกล่าวลงรายการและรับรองรายการทรัพย์สินที่ไม่มีอยู่จริงอันเป็นเท็จ เป็นผลให้โจทก์ต้องจ่ายค่าทดแทนเกินความจริงเป็นเงิน 614,738 บาท คณะกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดทางแพ่งมีความเห็นว่า คณะอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินทั้งคณะต้องรับผิดร่วมกับนายประทวน ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าหน่วยจัดหาที่ดินชดใช้เงินดังกล่าวแก่ทางราชการ แต่เนื่องจากนายเพทายซึ่งเป็นคณะอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินคนหนึ่งถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว คณะกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดทางแพ่งจึงทำความเห็นให้เรียกเงินคืนจากกองมรดกของนายเพทาย หลังจากนั้นได้มีการเสนอผลการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดทางแพ่งต่อหัวหน้าฝ่ายสอบสวนและคดีกองกฎหมายและที่ดินของโจทก์ ตามบันทึกข้อความลงวันที่ 19 มกราคม 2538 หัวหน้าฝ่ายสอบสวนและคดีได้เสนอรายงานการสอบสวนตัวผู้รับผิดทางแพ่งต่อผู้อำนวยการกองกฎหมายและที่ดิน ซึ่งได้มีการเสนอเรื่องต่อนายอารมย์รองอธิบดีฝ่ายบริหารปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมโจทก์เพื่อลงนามอนุมัติ นายอารมย์ในฐานะรองอธิบดีกรมโจทก์ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมโจทก์ได้มีความเห็นให้ดำเนินการตามที่คณะกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดทางแพ่งเสนอมาโดยให้เรียกร้องเงินที่จ่ายเกินจำนวน 614,738 บาท คืนจากคณะอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินทั้งคณะและนายประทวน โดยลงนามเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2538 และโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2539 เห็นว่า กรณีที่ ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม บัญญัติมิให้เจ้าหนี้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกนั้น หมายถึงกรณีที่เจ้าหนี้ทราบแล้วว่าตนมีสิทธิเรียกร้องต่อเจ้ามรดก แม้อายุความตามสิทธิเรียกร้องนั้นยาวกว่า 1 ปี เจ้าหนี้ก็จะต้องฟ้องร้องภายใน 1 ปี นับแต่เจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก แต่ถ้าเจ้าหนี้ยังไม่ทราบว่าตนมีสิทธิเรียกร้องต่อเจ้ามรดกในขณะที่เจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก อายุความ 1 ปี ก็ยังไม่เริ่มนับ กรณีนี้แม้ตามหนังสือสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการที่แจ้งไปยังโจทก์ระบุว่านายเพทายถึงแก่ความตายแล้ว และตามสำนวนการสืบสวนสอบสวนที่ส่งไปพร้อมกับหนังสือดังกล่าวมีมรณบัตรของนายเพทายเป็นหลักฐานด้วย ก็รับฟังได้แต่เพียงว่าโจทก์ได้รู้ถึงการตายของนายเพทายเจ้ามรดกตั้งแต่ปี 2535 แต่ขณะนั้นโจทก์ยังไม่ทราบว่าบุคคลใดบ้างจะต้องรับผิดทางแพ่งต่อโจทก์ โจทก์จึงยังไม่ทราบว่าจะฟ้องร้องบุคคลใดได้บ้าง ก็ยังไม่เริ่มนับอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม ต่อเมื่อโจทก์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดทางแพ่ง และคณะกรรมการดังกล่าวทำการสอบสวนแล้วเสนอความเห็นว่าบุคคลใดบ้างจะต้องรับผิดทางแพ่งต่อโจทก์ โดยเสนอความเห็นไปตามลำดับชั้นจนถึงรองอธิบดีปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมโจทก์ทราบเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2538 จึงถือได้ว่าโจทก์รู้ตัวผู้ที่โจทก์จะพึงใช้สิทธิเรียกร้องให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2538 จึงเริ่มนับอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม ตั้งแต่วันดังกล่าว โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2539 ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาคดีมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share