แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หลังจากโจทก์ที่ 3 คลอดโจทก์ที่ 1 และเกิดเหตุละเมิดจากการทำคลอดของจำเลยทั้งสามต่อโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 3 ได้พยายามให้โจทก์ที่ 1 ได้รับการรักษาทั้งจากจำเลยทั้งสามและโรงพยาบาลอื่น และได้เรียกร้องให้จำเลยทั้งสามรับผิดชอบกับร้องเรียนต่อรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขแต่ไม่เป็นผล วันที่ 9 กันยายน 2537 โจทก์ที่ 3 ได้ทำหนังสือร้องเรียนจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวกต่อแพทยสภาย่อมชี้ชัดว่า โจทก์ที่ 1 โดยโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ใช้อำนาจปกครองและเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมผู้มีอำนาจทำการแทนผู้เยาว์ และโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ในฐานะส่วนตัว ได้รู้ถึงการละเมิดกับรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 3 ตั้งแต่ก่อนวันที่ 9 กันยายน 2537 มิใช่ตั้งแต่วันที่โจทก์ทราบผลการสอบสวนข้อเท็จจริงจากแพทยสภา โจทก์ที่ 1 และที่ 3 ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2539 ล่วงเลยกำหนด 1 ปีแล้ว คดีจึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง
คำฟ้องระบุเพียงว่า จำเลยที่ 2 ทำคลอดให้แก่โจทก์ที่ 3 โดยประมาทเพราะจำเลยที่ 2 สามารถทราบขนาดของทารกในครรภ์แต่ไม่เลือกวิธีทำคลอดให้เหมาะสม กับจำเลยที่ 3 ซึ่งดูแลรักษาโจทก์ที่ 1 ประมาทเนื่องจากการถ่ายเลือดด้วยวิธีแยงสายสะดือทำให้โจทก์ที่ 1 ติดเชื้อ โดยในส่วนของจำเลยที่ 2 โจทก์บรรยายฟ้องให้ข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 ทำคลอดให้โจทก์ที่ 3 ตามขั้นตอนปกติ พยายามให้คลอดโดยวิธีธรรมชาติ ต่อมาใช้วิธีเอาเครื่องมือดูดศีรษะทารกในครรภ์เพื่อดึงออกจนกระทั่งต้องผ่าตัด ส่วนจำเลยที่ 3 ดูแลโจทก์ที่ 1 จนอาการตัวเหลืองหายไป แต่โจทก์ที่ 1 ติดเชื้อจากการถ่ายเลือด จำเลยที่ 3 ก็ไม่ให้ยาปฏิชีวนะรักษา แต่กลับอนุญาตให้โจทก์ที่ 3 นำโจทก์ที่ 1 กลับบ้าน ข้อเท็จจริงตามคำบรรยายฟ้องจึงเป็นเพียงการแสดงซึ่งสภาพแห่งข้อหาว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ปฏิบัติงานบกพร่องเป็นการกระทำละเมิดในทางแพ่งเท่านั้น มิใช่ข้อเท็จจริงถึงขั้นว่าเป็นการกระทำโดยประมาทที่จะมีมูลความผิดทางอาญาซึ่งจะต้องบังคับใช้อายุความทางอาญาที่ยาวกว่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสามฟ้องว่า โจทก์ที่ 3 ได้คลอดโจทก์ที่ 1 ที่โรงพยาบาลพญาไท 1 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นแพทย์ผู้ทำคลอด ซึ่งได้กระทำด้วยความประมาท กล่าวคือ ในชั้นแรกจำเลยที่ 2 ได้ทำคลอดโดยให้โจทก์ที่ 3 คลอดเองตามธรรมชาติ แต่ทำไม่สำเร็จ เนื่องจากโจทก์ที่ 1 มีขนาดตัวโตเกินเกณฑ์ปกติ ประกอบกับโจทก์ที่ 3 เพิ่งมีครรภ์และคลอดบุตรครั้งแรก เมื่อไม่สามารถคลอดเองได้จำเลยที่ 2 จึงใช้เครื่องมือทางการแพทย์ดูดที่บริเวณศีรษะเด็กเพื่อดึงออก แต่ก็ไม่สามารถดึงออกได้ ในที่สุดจึงต้องใช้วิธีผ่าตัดเอาเด็กออกจากครรภ์ ซึ่งเมื่อแรกคลอดเด็กมีน้ำหนักถึง 4,050 กรัม ในทางการแพทย์เด็กที่มีน้ำหนักถึงขนาดดังกล่าวแพทย์ต้องใช้วิธีผ่าตัดเอาเด็กออกเท่านั้นจึงจะปลอดภัยต่อแม่และเด็ก หลังจากคลอดออกมาแล้วพบว่าที่ท้ายทอยของโจทก์ที่ 1 มีก้อนเนื้อช้ำ ๆ ขนาดโตเกือบเท่าศีรษะ ซึ่งก้อนเนื้อดังกล่าวเกิดจากการใช้เครื่องมือดูดที่ศีรษะเพื่อดึงออกจากครรภ์ ต่อมาโรงพยาบาลได้นำโจทก์ที่ 1 ไปดูแลที่ห้องให้อาหารเด็กโดยให้อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 3 ต่อมาก้อนเนื้อช้ำ ๆ ที่ท้ายทอยของโจทก์ที่ 1 ได้ยุบลง แต่โจทก์ที่ 1 กลับมีอาการตัวเหลือง ขึ้นมาแทน ซึ่งอาการดังกล่าวในทางการแพทย์อาจเกิดจากก้อนเลือดที่ท้ายทอยละลายเป็นน้ำดี และหรือโจทก์ที่ 1 ขาดออกซิเจนระหว่างการคลอด และหรือโจทก์ที่ 1 ติดเชื้อระหว่างทำคลอดนาน สาเหตุใดสาเหตุหนึ่งหรือรวมกัน ต่อมาจำเลยที่ 3 ให้การรักษาด้วยวิธีถ่ายเลือดทางสายสะดือ ทำให้อาการตัวเหลืองของโจทก์ที่ 1 หายไป แต่จำเลยที่ 3 กระทำด้วยความประมาท โดยมิได้ให้ยาปฏิชีวนะ เป็นเหตุทำให้โจทก์ที่ 1 เกิดการติดเชื้อ ซึ่งมีผลทำให้โจทก์ที่ 1 เกิดหนองเป็นแอ่งใหญ่ที่สะโพกซ้ายและหัวกระดูกสะโพกซ้าย โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ได้นำโจทก์ที่ 1 ไปเจาะหนองออกจนแห้ง ต่อมาเมื่อโจทก์ที่ 1 อายุได้ปีเศษจึงพบว่าขาของโจทก์ที่ 1 สั้นยาวไม่เท่ากัน จากการเอกซเรย์ปรากฏว่าหัวกระดูกสะโพกซ้ายหายไปและกระดูกหลุดออกจากเบ้า ต้องรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดหลายครั้ง แต่ไม่ประสบผลสำเร็จจนกระทั่งปัจจุบันโจทก์ที่ 1 อายุเกือบ 5 ปีแล้ว แต่ร่างกายไม่ได้พัฒนาเหมือนเด็กโดยทั่วไป แพทย์แนะนำว่าต้องผ่าตัดอีกหลายครั้ง ต้องใส่เบ้าเทียม ต้องผ่าตัดยึดกระดูกแต่โอกาสรักษาให้หายเป็นปกติมีน้อยมาก การกระทำละเมิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลโจทก์ที่ 1 กับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ และต้องเสียค่ารักษาพยาบาลต่อไปในอนาคต กับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในอนาคต โจทก์ที่ 1 ต้องกลายเป็นคนทุพพลภาพขาพิการ กับต้องเสียความสามารถในการประกอบการงานในอนาคต โจทก์ที่ 1 ได้รับทุกข์ทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจต้องนอนเฉย ๆ ระหว่างรับการผ่าตัดเป็นเวลานานนับเดือนหลายครั้ง และที่จะเกิดขึ้นในภายหน้า ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 50,000,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 และร่วมกันชำระเงินจำนวน 7,600,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 พร้อมกับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินทั้งสองจำนวน นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ที่ 1 มิใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ดังนั้น โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นแพทย์ที่มารักษาคนไข้ที่โรงพยาบาลพญาไท 1 โดยได้รับผลประโยชน์บางส่วนจากการรักษาพยาบาลคนไข้แต่ละราย จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้รับเงินเดือนจากจำเลยที่ 1 จึงมิใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ใช้ความระมัดระวังในฐานะผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แล้ว โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำหน้าที่ของตนอย่างดีที่สุดมิได้กระทำการโดยประมาทเลินเล่อ อาการผิดปกติของโจทก์ที่ 1 มิได้เกิดจากการรักษาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 แต่อาจเกิดจากความผิดปกติของร่างกายตามธรรมชาติ หรืออาจเกิดจากการรักษาพยาบาลที่สถานพยาบาลแห่งอื่น คำฟ้องของโจทก์ทั้งสามมิได้บรรยายให้ชัดแจ้งว่าการที่โจทก์ที่ 1 ตัวเหลืองนั้นเกิดจากสาเหตุใด จึงเป็นฟ้องที่เคลือบคลุม โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ได้พบความผิดปกติทางร่างกายของโจทก์ที่ 1 และได้ยื่นคำร้องกล่าวโทษจำเลยทั้งสามต่อแพทยสภาตั้งแต่เดือนกันยายน 2537 เมื่อนับถึงวันที่โจทก์ทั้งสามฟ้องคดีนี้เป็นเวลาเกินกว่า 1 ปีแล้ว คดีโจทก์ทั้งสามจึงขาดอายุความ โจทก์ทั้งสามไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายตามที่กล่าวอ้าง ทั้งจำนวนเงินค่าเสียหายก็สูงเกินกว่าความเป็นจริง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสาม
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ที่ 1 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า หลังจากโจทก์ที่ 3 คลอดโจทก์ที่ 1 และเกิดเหตุดังกล่าวแก่โจทก์ที่ 1 ตามทางนำสืบของโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ได้ความว่า โจทก์ที่ 3 พยายามให้โจทก์ที่ 1 ได้รับการรักษาทั้งจากจำเลยทั้งสามและโรงพยาบาลอื่น โดยได้ไปพบจำเลยที่ 2 และที่ 3 และผู้อำนวยการโรงพยาบาลพญาไท 1 ของจำเลยที่ 1 เพื่อให้รับผิดชอบในเหตุที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ที่ 1 เมื่อไม่ได้ผล โจทก์ที่ 3 ก็ได้ร้องเรียนต่อนายอาทิตย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น แต่ก็ยังไม่บังเกิดผลเช่นเดิม โจทก์ที่ 3 จึงได้ยื่นหนังสือฉบับลงวันที่ 9 กันยายน 2537 ร้องเรียนจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับนายแพทย์สุรพงษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายแพทย์ของโรงพยาบาลพญาไท 1 ต่อแพทยสภา ขอให้สอบสวนให้ความเป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสาม โดยระบุจำเลยที่ 2 เป็นผู้ทำคลอด จำเลยที่ 3 เป็นกุมารแพทย์ปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาโจทก์ที่ 1 ภายหลังคลอด ข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ย่อมชี้ชัดว่า โจทก์ที่ 1 โดยโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ใช้อำนาจปกครองและเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ที่ 1 มีอำนาจทำการแทนโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1569 และในฐานะส่วนตัว ได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 3 ตั้งแต่ก่อนวันที่ 9 กันยายน 2537 มิใช่นับตั้งแต่วันที่โจทก์ที่ 1 และที่ 3 ได้ทราบผลการสอบสวนข้อเท็จจริงจากแพทยสภาดังที่โจทก์ที่ 1 และที่ 3 ยกขึ้นกล่าวอ้างในฎีกา โจทก์ที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันฟ้องคดีเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2539 ล่วงเลยกำหนด 1 ปีแล้ว คดีจึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง
ตามคำบรรยายฟ้องระบุเพียงว่าจำเลยที่ 2 ทำคลอดให้แก่โจทก์ที่ 3 โดยประมาท เพราะจำเลยที่ 2 สามารถทราบขนาดของทารกในครรภ์ แต่ไม่เลือกวิธีทำคลอดให้เหมาะสมกับจำเลยที่ 3 ซึ่งดูแลรักษาโจทก์ที่ 1 ภายหลังคลอดโดยประมาทเนื่องจากการถ่ายเลือดด้วยวิธีแยงสายสะดือโจทก์ที่ 1 ทำให้โจทก์ที่ 1 ติดเชื้อ โดยในส่วนของจำเลยที่ 2 นั้น โจทก์ที่ 1 และที่ 3 บรรยายฟ้องในข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 ทำคลอดให้โจทก์ที่ 3 ตามขั้นตอนปกติ เริ่มแต่พยายามให้โจทก์ที่ 3 คลอดโดยวิธีธรรมชาติ ต่อมาใช้วิธีเอาเครื่องมือดูดศีรษะทารกในครรภ์เพื่อดึงออก จนกระทั่งต้องผ่าตัด ส่วนจำเลยที่ 3 นั้น โจทก์ที่ 1 และที่ 3 บรรยายฟ้องว่า เมื่อจำเลยที่ 3 ดูแลโจทก์ที่ 1 จนอาการตัวเหลืองหายไป แต่โจทก์ที่ 1 ติดเชื้อจากการถ่ายเลือด จำเลยที่ 3 ก็ไม่ให้ยาปฏิชีวนะรักษา แต่กลับอนุญาตให้โจทก์ที่ 3 นำโจทก์ที่ 1 กลับบ้าน และนัดให้โจทก์ที่ 3 ต้องนำโจทก์ที่ 1 กลับไปทำกายภาพบำบัดอาการแขนและขาด้านซ้ายอ่อนแรง ข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากคำบรรยายฟ้องเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เช่นนี้ จึงเป็นเพียงการแสดงซึ่งสภาพแห่งข้อหาตามคำฟ้องกล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ปฏิบัติงานบกพร่องทำให้โจทก์ที่ 1 และที่ 3 เสียหาย ซึ่งเป็นการกระทำละเมิดในทางแพ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 เท่านั้น มิใช่ข้อเท็จจริงถึงขั้นว่าเป็นการกระทำโดยประมาทที่จะมีมูลความผิดทางอาญาซึ่งจะต้องบังคับใช้อายุความทางอาญาที่ยาวกว่าดังที่บัญญัติใน ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคสอง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.